ชาติอาหรับแห่ลงทุนธุรกิจกีฬา หวัง'ปรับภาพลักษณ์-กระจายความเสี่ยง'
ชาติอาหรับแห่ลงทุนธุรกิจกีฬา หวัง'ปรับภาพลักษณ์-กระจายความเสี่ยง' โดยข้อมูลจาก Transfermarkt.com คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการซื้อขายนักเตะของสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตีตั้งแต่ปี 2551 อยู่ที่ 1,640 ล้านดอลลาร์
ชัยชนะของแมนเชสเตอร์ซิตี ที่โค่นคู่แข่งอย่างอินเตอร์มิลานในศึกยูฟ่า แชมป์เปียนส์ลีก มีหลายอย่างที่ให้บ่งชี้ว่า แมตช์นี้เป็นชัยชนะแห่งประวัติศาสตร์
ชัยชนะดังกล่าวเป็นชัยชนะครั้งแรกของสโมสร ที่สามารถปกป้องชื่อเสียงของทีมไว้ได้ หลังสโมสรคว้าชัยจากพรีเมียร์ลีกอังกฤษเอฟเอคัพในฤดูกาลนี้ และยังถือเป็นครั้งแรกที่สโมสรคว้าถ้วยรางวัลใหญ่ที่สุดในยุโรป ขณะที่"ชีค มานซูร์ บิน ซาเอด" น้องชายของโมฮัมเหม็ด บิน ซาเอด ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของยูเออีและเป็นผู้ปกครองกรุงอาบูดาบี
การคว้าชัยของแมนเชสเตอร์ซิตี สโมสรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จำนวนมาก เกิดขึ้นหลังจากซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ เร่งลงทุนในวงการกีฬามากขึ้น
รัฐในอ่าวอาหรับ พยายามใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และใช้การลงทุนดังกล่าวเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์การต่างประเทศของตน
“ชีค มานซูร์” แห่งยูเออี เข้าซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตีเมื่อปี 2551 และนับแต่นั้นมา สโมสรก็ใช้เงินซื้อขายนักเตะมากกว่าสโมสรอื่น ๆ ในวงการฟุตบอล
ข้อมูลจาก Transfermarkt.com เว็บไซต์ให้บริการข้อมูลวงการกีฬา โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายนักเตะ คาดว่า ค่าใช้จ่ายด้านการซื้อขายนักเตะของสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตีตั้งแต่ปี 2551 อยู่ที่ 1,640 ล้านดอลลาร์ มากกว่าคู่แข่งตัวฉกาจอย่างทีมแมสเชสเตอร์ยูไนเต็ด ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน
เม็ดเงินที่ทุ่มทุนให้กับสโมสรดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดยองค์การนิรโทษกรรมสากล กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศบอกว่า การใช้เงินจำนวนมากไปกับการซื้อขายนักเตะ เป็นหนึ่งในความพยายามลบล้างภาพลักษณ์ที่มืดมนของประเทศที่ไร้ยางอายที่สุด
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของยูเออียังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อซีเอ็นบีซีติดต่อไป
“ไซมอน แชดวิก” ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาและเศรษฐศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ จากสถาบันธุรกิจ Skema ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Street Signs Europe ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า “ความสำเร็จที่แมนเชสเตอร์ซิตีกำลังได้รับ ไม่ได้เป็นผลมาจากความหยิ่งผยอง หรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นเพราะซอฟต์พาวเวอร์ ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และการสร้างแบรนด์ของประเทศ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ”
ซาอุดีอาระเบีย ก็เป็นอีกหนึ่งในรัฐอ่าวอาหรับ ที่พยายามให้ความสำคัญกับการลงทุนในวงการกีฬา ซึ่งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติและ
กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (พีไอเอฟ) เข้าถือหุ้นใหญ่ในสโมสรฟุตบอลอังกฤษอย่างนิวคาสเซิลยูไนเต็ด เมื่อปี 2563
นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบีย ยังลงทุนให้กับทัวร์กอล์ฟ LIV Golf หลังจากนั้น ก็มีข่าวช็อกวงการกอล์ฟ ประกาศว่า LIV Golf จากกลุ่มทุนซาอุฯ และ PGA Tour จากกลุ่มทุนสหรัฐ ควบรวมกิจการเพื่อทำธุรกิจร่วมกัน และยุติการแข่งขันที่ดุเดือดถึงขั้นแบนผู้เล่นที่ไปเล่นให้ฝ่ายตรงข้าม
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนพีไอเอฟเข้าซื้อหุ้น 75% ในสโมสรฟุตบอล 4 แห่งของประเทศ และตั้งเป้าซื้อนักเตะชั้นนำในยุโรปด้วย
“คาริม เบนเซมา” แชมป์บัลลงดอร์ ลงนามสัญญามูลค่า 100 ล้านยูโรต่อฤดูกาล กับสโมสรอัลอิติฮัดของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่สโมสรยังติดพันกับการพิจารณาเซ็นสัญญากับนักเตะนานาชาติที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน
“ยาซีร์ อัล รูมัยยัน” ผู้บริหารกองทุนพีไอเอฟ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซี เมื่อสัปดาห์ก่อน และเอ่ยถึงบรรดาประชากรวัยหนุ่มสาวของประเทศ ขณะที่เขาอยู่ในช่วงร่างกลยุทธ์กีฬาว่า “ในอดีต ผมคิดว่าสักประมาณ 8 ปีที่แล้วหรือ 5 ปีที่แล้ว เท่าที่คุณทราบ เราสร้างสหพันธ์กีฬาที่แตกต่างกัน เพื่อกีฬาทุกประเภท ดังนั้น เราจึงมีความสนใจในกีฬาเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้มีแค่ฟุตบอล กอล์ฟ หรือบาสเกตบอลเท่านั้น แต่มีกีฬาอื่น ๆ อีกมากมายที่เราสนใจ”
ขณะที่ กาตาร์ สปอร์ตส อินเวสเมนต์ องค์กรผู้ถือหุ้นเอกชนที่เน้นลงทุนด้านกีฬา และเป็นกองทุนในเครือกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์ ได้เข้าซื้อสโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็งของฝรั่งเศสในปี 2554
ปัจจุบันรัฐบาลโดฮา พยายามเข้าซื้อแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด หลังตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดสัญชาติอเมริกัน ประกาศว่า ผู้บริหารกำลังพิจารณาทางเลือกเชิงกลยุทธ์เพื่อสโมสร
“ชีค จัสซิม บิน ฮาหมัด อัล-ธานี” เจ้าชายกาตาร์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ซึ่งเป็นพระโอรสในชีค ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี อดีตเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ เข้าประมูลซื้อแมนยูฯ และถูกต่อต้านจากจิม แรตคลิฟฟ์ ผู้ก่อตั้ง INEOS บริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ
หากกาตาร์ประมูลซื้อแมนยูฯ มูลค่า 6,300 ล้านดอลลาร์ได้สำเร็จ การเข้าซื้อสโมสรแมนยูฯ จะกลายเป็นการรัฐประหารครั้งใหญ่สำหรับชาติตะวันออกกลาง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาความเป็นมาในอดีตของสโมสรแมนยูฯ ฐานแฟนคลับทั่วโลก และแผนการตลาดที่น่าดึงดูด
แชดวิก บอกว่า แม้ไม่ได้พิจารณาว่าใครจะซื้อสโมสรแมนยูฯ ความสนใจในสโมสรฟุตบอลที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศทางตะวันออกกลาง ไม่มีทางสิ้นสุดในเร็ว ๆ นี้
“ผมคิดว่า สิ่งที่เราจะได้เห็น คือสิ่งที่เราเห็นไปแล้วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นอีกครั้งในปีก 20 ปีข้างหน้า คือ การลงทุนในวงการกีฬาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง เพราะว่าการลงทุนในกีฬา จะช่วยให้ประเทศในอ่าวอาหรับกระจายความเสี่ยง แต่อย่างที่เราทราบกัน การลงทุนในกีฬายังคงมีผลประโยชน์อื่น ๆ เกี่ยวข้องอยู่ด้วย”