‘ไทย’ แตกแถว ‘อาเซียน’ ปมเมียนมาหรือไม่
กระทรวงการต่างประเทศรับแรงกระแทกเสียงวิจารณ์ทั้งในและนอกประเทศ กรณีไทยจัดการประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมาในวานนี้ (19 มิ.ย.) โดยเฉพาะประเด็นความเหมาะสมในมุมทางการเมือง และการต่างประเทศ
การประชุมนี้มี “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน และเชิญ “ตัน ซเว” รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารเข้าร่วมพูดคุย รวมถึงมีผู้แทนระดับสูงจาก ลาว กัมพูชา เมียนมา อินเดีย จีน บรูไน เวียดนาม เข้าร่วม
ขณะที่สมาชิกอาเซียนที่มีบทบาทนำในเรื่องเมียนมา อย่างอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียไม่ขอร่วมด้วย และท่ามกลางความเห็นแตกต่างจากเพื่อนสมาชิกอาเซียน นักวิชาการ เอ็นจีโอและนักการเมืองในประเทศวิจารณ์สองเรื่องหลักๆว่า "ดอนพาไทยแตกแถวอาเซียนหรือไม่"
บางเสียงได้วิจารณ์ ดอนอยู่ในฐานะรักษาการ รมว.ต่างประเทศพยายามช่วงชิงโอกาสหรือไม่ ก่อนพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเข้ามาจัดการเรื่องเมียนมาตามที่ได้พูดไว้ช่วงหาเสียง โดยจะเปลี่ยนการทูตแบบเงียบๆ ของดอนให้เป็นการทูตที่มีท่าทีชัดเจนและตรวจสอบได้
“จาตุรนต์ ฉายแสง” คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความตอนหนึ่งระบุว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สร้างความเสียหายให้ภาพลักษณ์ประเทศเป็นสิ่งที่รัฐบาลรักษาการที่มีมารยาทไม่ควรทำ การดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างที่กำลังทำนี้ เป็นเรื่องผูกพันไปข้างหน้าสร้าง “ผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศ” รัฐบาลรักษาการจึงไม่ควรทำไปอย่างไร้ความรับผิดชอบ
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียน ในฐานะคร่ำหวอดกว่า 30 ปี ชี้ว่า ในเดือนหน้าจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และประชุมอาเซียนบวกคู่เจรจา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐ อินเดียเข้าร่วม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีหยิบยกประเด็นเรื่องเมียนมาขึ้นพูดคุย
ดังนั้นจึงมองว่า การที่ดอนจัดเวทีสนทนาอย่างไม่เป็นทางการนี้ขึ้นมา แม้ไม่ใช่อยู่ในกรอบอาเซียน แต่ช่วยเสริมการทำงานให้กับอาเซียน ในการเปิดพื้นที่พูดคุยกับเมียนมา เพื่อให้มีข้อมูลคืบหน้าที่เป็นประโยชน์สำหรับการประชุมอาเซียนที่จะมีขึ้น
“ถ้าหากมองว่า ควรรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งได้เข้ามาจัดการเรื่องนี้ก็สามารถมองได้ แต่ต้องถามต่อไปว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะมีขึ้นทันเวลากับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จะมีขึ้นเดือน ก.ค.นี้หรือไม่” ผู้เชี่ยวชาญระบุและกล่าวว่า ไทยเล่นบทบาทนำ ในฐานะประเทศใกล้ชิดและชายแดนติดเมียนมา ซึ่งได้รับผลกระทบในพื้นที่บริเวณชายแดน ทั้งการค้าชายแดนหลายแสนล้านบาทและยังมีธุรกิจไทยในเมียนมาอีกจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อเราได้สะท้อนความเดือดร้อนของไทย และประเทศอื่นๆ ให้เมียนมารู้ ตลอดจนรักษาพื้นที่พูดคุยและนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้ที่ประชุมอาเซียน สิ่งนี้ถือเป็น "เรื่องดี" ไม่ใช่ความเสื่อมเสีย
แม้ประเทศสำคัญๆและมีบทบาทนำในอาเซียนส่งสัญญาณว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุม เพราะเกรงจะมีการปฏิบัติที่ต่างออกไป จากการผลักดันให้ดำเนินการฉันทามติ 5 ข้อกรณีเมียนมาที่เป็นเป้าหมายใหญ่ของอาเซียน
“เรทโน มาร์ซูดี” รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ปฏิเสธเข้าร่วม โดยให้เหตุผลว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้แสดงฉันทามติใดๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าแผนสันติภาพ รวมถึงเปิดรับรัฐบาลเมียนมาเข้ามามีส่วนร่วม
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด มองเห็นโอกาสและวางแผนให้ “อาเซียนจะเปิดการพูดคุยกับเมียนมาทุกระดับ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งการเปิดพื้นที่พูดคุยกับรัฐบาลเมียนมา ไม่ได้หมายความว่าอาเซียนยอมรับผู้นำจากการรัฐประหาร
การเล่นบทบาทนำต่อกรณีเมียนมาก็ไม่ได้จำกัดแค่ความร่วมมือของกลุ่มอาเซียน หากประเทศใดต้องการดำเนินงานอย่างสร้างสรรค์ก็ทำได้ ซึ่งนักการทูตอาวุโสท่านหนึ่งชี้ว่า เมื่อสองปีก่อน รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียได้เยือนเมียนมาในปีที่บรูไนเป็นประธานอาเซียน ปี 2564 หลังกองทัพทำการรัฐประหารเพียง 25 วัน ซึ่งมีเจตนาเติมเต็มการทำงานของอาเซียนเช่นเดียวกับดอน ก็เพื่อให้เมียนมาเปิดช่องทางพูดคุยและอาเซียนรักษาพื้นที่นี้ไว้
“แต่ในครั้งนั้น รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียเดินทางเยือนเมียนมา ไม่ถึงสองชั่วโมงก็ต้องกลับ เบื้องลึกเบื้องหลังวงการทูตอาเซียนรู้ดีว่า แผนการพูดคุยกับเมียนมาที่วางไว้ต้องพับลง เพราะเงื่อนไขเยอะ รัฐบาลทหารเมียนมาไม่เอาด้วยและไม่ปฏิบัติตาม” นักการทูตอาวุโสเล่า
ด้านดอนกล่าวว่า ขณะนี้เมียนมาเปลี่ยนรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ เราควรต้องมารับฟังเขา ต้นเรื่องอยู่ที่เมียนมา ถ้าไม่คุยเมียนมาจะหาทางออกได้อย่างไร สิ่งที่ไทยทำเพื่อเสริมงานประธานอาเซียน ผมไม่ได้ต้องการเครดิต แต่ต้องการเห็น “อาเซียนกลับสู่ความมั่นคง มีเสถียรภาพ และใช้ศักยภาพที่มีอยู่จริง”
“กาญจนา ภัทรโชติ” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมนี้ “ไม่ได้เป็นการประชุมในกรอบอาเซียน” แต่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาเมียนมา ซึ่งไทยแจ้งอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ที่กรุงพนมเปญตั้งแต่ปี 2565 ว่า ไทยจะดำเนินการให้มีการพูดคุยเพื่อหาวิธีซึ่งจะได้มาเพื่อการแก้ปัญหาในเมียนมาอย่างสันติในทุกกรอบ รวมทั้งใน Track 1.5 ซึ่งครอบคลุมการประชุมทั้งภาคราชการและวิชาการ ซึ่งสมาชิก “อาเซียนรับทราบ” และ “ไม่มีผู้คัดค้าน”
แหล่งข่าวใกล้ชิดที่ประชุมเปิดเผยว่า การประชุมพบปะแบบสนทนาไม่เป็นทางการที่มีขึ้น ถือเป็นการรับฟังสถานการณ์ในเมียนมาจากปากรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา และผู้แทนจากประเทศต่างๆ ก็ได้สะท้อนมุมมองต่อสถานการณ์เมียนมาแบบสร้างสรรค์ รวมทั้งการบอกเล่าปัญหาและผลกระทบที่แต่ละประเทศได้รับจากความไม่สงบในเมียนมา
ในส่วนของไทยมุ่งพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีและยุติการใช้ความรุนแรง การสู้รบตามชายแดนมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ทั้งด้านการค้าชายแดนที่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทความมั่นคงทางพลังงาน การลักลอบค้ายาเสพติด การลักลอบค้าอาวุธ แก๊งคอลเซ็นเตอร์และอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาประจำที่เกิดขึ้น นี่เป็นเหตุผล "ไทยไม่อาจรั้งรอในการแก้ปัญหาได้"