ผอ.ซีไอเอชี้ สงครามยูเครน กัดกร่อนปูติน
ผอ.ซีไอเอ มอง สงครามของรัสเซียในยูเครน ส่งผล “กัดกร่อน” ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน การไม่เห็นด้วยกับสงครามสร้างโอกาส “ครั้งเดียวในชั่วอายุคน” ให้ซีไอเอ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นายวิลเลียม เบิร์นส ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ผอ.ซีไอเอ) กล่าวในงานของมูลนิธิดิตช์ลีย์ในสหราชอาณาจักร เมื่อวันเสาร์ (1 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เขาเรียกการรุกรานยูเครนของปูตินว่า “ความท้าทายอย่างรุนแรงและปัจจุบันทันด่วนที่สุดต่อระเบียบระหว่างประเทศในวันนี้”
ปาฐกถาของนายเบิร์นสเกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากนายเยฟเกนี พริโกชิน หัวหน้ากลุ่ม นักรบรับจ้าง แวกเนอร์ นำกองกำลังก่อจลาจลขึ้นครู่หนึ่งต่อต้านคำสั่งกองทัพรัสเซีย
นายพริโกชินกล่าวหาว่า รัสเซียใช้ขีปนาวุธยิงถล่มกองกำลังของตนในยูเครนจนเสียชีวิต สงครามในยูเครนเกิดขึ้นเพราะนายพลบางคนต้องการโปรโมตตัวเอง และกองทัพรัสเซียกำลังล่าถอยจากภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครน ในมุมมองของผอ.ซีไอเอ
“คำพูดและการกระทำเหล่านั้นจะมีผลระยะหนึ่ง เป็นเครื่องเตือนใจอันชัดเจนถึงผลจากสงครามของปูตินที่ได้กัดกร่อนสังคมและระบอบการปกครองของเขาเอง”
สงครามยูเครน ครั้งนี้เป็น "ความล้มเหลวเชิงยุทธศาสตร์" สำหรับรัฐบาลมอสโก ที่เผยให้เห็นความอ่อนแอของกองทัพ, ทำลายเศรษฐกิจ และยิ่งหนุนให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ใหญ่ขึ้นและแกร่งขึ้น"
“ความไม่พอใจในสงครามจะกัดกินผู้นำรัสเซียต่อไป ความไม่พอใจนั้นสร้างโอกาสครั้งเดียวในชั่วอายุคนให้กับพวกเราในซีไอเอ เราจะไม่ปล่อยให้มันสูญเปล่า” นายเบิร์นสกล่าวและว่าเมื่อเร็วๆ นี้ซีไอเอเพิ่งโพสต์บนเทเลแกรมเพื่อให้รัสเซียทราบถึงวิธีติดต่อซีไอเอผ่านดาร์กเว็บ สัปดาห์แรกมีคนดู 2.5 ล้านวิว
อย่างไรก็ตาม นายเบิร์นสไม่ได้กล่าวถึงการเดินทางเยือนยูเครนครั้งล่าสุด ที่เขากับผอ.ข่าวกรองยูเครนและประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี การเยือนเกิดขึ้นก่อนการลุกฮือของนายพริโกชินหนึ่งสัปดาห์
นอกจากนี้ ผอ.ซีไอเอยังพูดถึงจีนด้วยว่า “เป็นเพียงประเทศเดียวที่ตั้งใจเปลี่ยนแปลงระบบระหว่างประเทศและมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การทูต การทหาร และเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ทำเช่นนั้นได้”
นายเบิร์นสเตือนเรื่องการกดขี่ในประเทศและก้าวร้าวในต่างแดนที่เพิ่มขึ้นทุกขณะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งซีไอเอได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการขึ้นมาแห่งหนึ่งเน้นจีนโดยเฉพาะ และเพิ่มสัดส่วนงบประมาณเกี่ยวกับการทำกิจกรรมของจีนกว่าสองเท่า