รู้จักหนังสือ'จ้าวจื่อหยาง'ที่รัฐบาลจีนแบนโดยไม่ต้องประกาศห้ามเผยแพร่
คำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ห้ามเผยแพร่หนังสือ “Rama X : The Thai Monarchy King Vajiralongkorn” เขียนโดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ทำให้ชื่อปวินติดเทรนด์ทวิตเตอร์ นักวิชาการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง
นักวิชาการบางรายตั้งข้อสังเกตถึงวิธีปฏิบัติของรัฐบาลจีนเมื่อครั้งอดีต แบนหนังสือของ “จ้าวจื่อหยาง” โดยไม่ต้องออกคำสั่งห้ามเผยแพร่ให้เอิกเกริก
ทันทีที่มีข่าวเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 370/2566 เรื่อง ห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร “Rama X : The Thai Monarchy King Vajiralongkorn” เขียนโดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน ผู้ใดฝ่าฝืนคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท
นักวิชาการจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ มองว่า คนที่อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นคนที่อยู่ในต่างประเทศอยู่แล้วไม่ใช่คนไทย ขณะที่อีกคนเสริมว่า คนในต่างประเทศอาจไม่นึกอยากอ่านแต่พอรู้ว่าถูกห้ามเผยแพร่ในประเทศไทยก็จะตามไปซื้ออ่าน เหมือนกับหนังสือที่ถูกแบนในประเทศจีนแล้วกลายเป็นหนังสือขายดี Best Seller ในนิวยอร์ก
กรณีนี้ ศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ และที่ปรึกษาสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนหนังสือชื่อ Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang ของอดีตนายกรัฐมนตรีจ้าว จื่อหยาง ตีพิมพ์เมื่อปี 2009 รัฐบาลจีนไม่ได้ออกประกาศแบน แต่พูดทำนองว่าไม่ขอรับรู้การมีอยู่ของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเมื่อพูดแบบนี้ก็เท่ากับแบนไปโดยปริยาย
กรุงเทพธุรกิจหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ของจ้าว พบรายงานข่าวจากเดอะการ์เดี้ยน เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2009 ระบุว่า บันทึกความทรงจำลับของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายนี้ตีพิมพ์หลังการอสัญกรรมของเขาสี่ปี จ้าวพ้นจากตำแหน่งเพราะเห็นอกเห็นใจนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989
(จ้าวจื่อหยางปราศรัยกับนักศึกษาที่กำลังประท้วงอดอาหาร เมื่อวันที่ 19 พ.ค.1989 ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน)
ระหว่างถูกกักบริเวณในบ้านนาน 16 ปี จ้าวใช้วิธีแอบบันทึกเสียง ประณามการสังหารผู้ประท้วงโดยเรียกว่า “โศกนาฏกรรม” และไม่เห็นด้วยกับการที่พรรคปฏิเสธการปฏิรูปประชาธิปไตย
เมื่อปี 2000 หรือราวๆ นั้น จ้าวบันทึกเสียงราว 30 ชั่วโมงลงบนเทปงิ้วปักกิ่งและเพลงเด็ก ต่อมาเทปทั้ง 30 ม้วนถูกอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงสามคนลักลอบนำออกจากจีน นำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ Prisoner of the State: The secret Journal of Zhao Ziyang มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน วางจำหน่ายในเดือน พ.ค.2009 ไม่กี่วันก่อนถึงวันครบรอบ 20 ปีการสังหารประชาชนที่เทียนอันเหมิน
เนื้อหาในหนังสือ จ้าวยกย่องประชาธิปไตยแบบตะวันตก พร้อมยืนยันว่า นักเคลื่อนไหวไม่ได้พยายามล้มล้างระบบ อย่างที่ปรากฏในความตอนหนึ่ง
“คืนวันที่ 3 มิ.ย. (1989) ขณะนั่งเล่นที่สนามหญ้ากับครอบครัว ผมได้ยินเสียงยิงปืนหนักหน่วง โศกนาฏกรรมช็อกโลกเกิดขึ้นจนได้ ผมเคยบอกแล้วว่า ผู้คนส่วนใหญ่แค่ขอให้แก้ไขข้อบกพร่องเท่านั้น ไม่ได้พยายามล้มล้างระบบการเมืองของเรา”
ทั้งนี้ การปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจทำให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์สายแข็งและสายปฏิรูปขัดแย้งกันหนัก การประท้วงปี 1989 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ถึงจุดแตกหัก เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงผู้ครองอำนาจอยู่เบื้องหลังสนับสนุนสายแข็ง ผู้นำกลุ่มนี้เห็นชอบให้ประกาศกฎอัยการศึก มีเพียงจ้าวคนเดียวเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
(ซ้าย: เติ้งเสี่ยวผิง ขวา: จ้าวจื่อหยาง)
“ผมบอกตัวเองไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมจะไม่เป็นเลขาธิการ (พรรคคอมมิวนิสต์) ที่ต้องระดมทหารมาปราบปรามนักศึกษา”
ในหนังสือ จ้าวยังมองไปถึงอนาคต ชื่นชมประชาธิปไตยระบบรัฐสภาแบบตะวันตก และส่งเสียงเตือน
“ถ้าเราไม่เคลื่อนไปสู่เป้าหมายนี้ การแก้ไขสภาพไม่ปกติในเศรษฐกิจระบบตลาดของจีนย่อมเป็นไปไม่ได้เลย”
หลังหมดอำนาจ จ้าวถูกกักบริเวณในบ้านท่ามกลางการจับตาอย่างเข้มงวด แขกไปใครมาต้องถูกตรวจสอบ การแอบเล่าความทรงจำลงเทปบันทึกเสียงกระทำเป็นความลับถึงขนาดที่สมาชิกในครอบครัวไม่มีใครรู้เรื่อง
เอดี อิกเนเชียส หนึ่งในคณะบรรณาธิการฉบับภาษาอังกฤษ กล่าวว่า แม้หนังสือจะถูกห้ามเผยแพร่ในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เขาเชื่อว่าเนื้อหาบางส่วนจะถูกเผยแพร่ออกไปผ่านอินเทอร์เน็ตหรือฉบับก็อปปี้
กรุงเทพธุรกิจสอบถาม ศ.ดร.สิทธิพล ถึงการที่รัฐบาลจีนไม่ได้สั่งห้ามเผยแพร่หนังสือของจ้าวจื่อหยาง แต่เลือกที่จะไม่พูดถึง นั่นเป็นเพราะ “ความกลัว” หรือ “การไม่ให้ราคา” กับหนังสือเล่มนี้กันแน่
“ผมว่าไม่ใช่ทั้งกลัวและเมินครับ แต่เขาไม่ออกคำสั่ง เพราะว่ามองว่าทุกคนในจีนนั้นเซ็นเซอร์ตัวเองกันอยู่แล้ว ทุกคนรู้ว่าจ้าวจื่อหยางคือนักโทษการเมือง” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีน-ไต้หวัน ให้คำตอบ เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมแปล Prisoner of the State: The secret Journal of Zhao Ziyang ฉบับภาษาไทย ใช้ชื่อว่า "บันทึกลับจ้าวจื่อหยาง เบื้องหลังเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน" ซึ่งขาดตลาดไปนานแล้ว