'โฟมพิษ' ลอยล้นแม่น้ำในบราซิล จนเกิด 'ก๊าซไข่เน่า' อันตรายต่อระบบหายใจ
ไม่ใช่หิมะ! พบ “โฟมพิษ” ในแม่น้ำ “ติเอเต (Tiete)” ณ รัฐเซาเปาโล ประเทศบราซิล เกิดจากการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำโดยไม่มีการบำบัด จนเกิดเป็น “ก๊าซไข่เน่า” ในแหล่งน้ำ ชวนรู้ความร้ายแรงก๊าซพิษดังกล่าวที่อันตรายถึงชีวิต
นี่ไม่ใช่หิมะ! แต่คือ "โฟมพิษ" ที่ไหลเอ่อล้นไปตามผิวน้ำของแม่น้ำ “ติเอเต (Tiete)” ณ รัฐเซาเปาโล ประเทศบราซิล เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนแรงด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของบราซิลเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2566 ที่ผ่านมา
สื่อท้องถิ่นระบุว่า โฟมพิษดังกล่าวเกิดจากของเสียจากการใช้งานผงซักฟอก และสารเคมีที่ใช้สำหรับซักล้างต่างๆ ถูกปล่อยทิ้งลงสู่แม่น้ำโดยไม่ผ่านการบำบัด
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยในแถบใกล้เคียงแม่น้ำแห่งนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่น้ำติเอเตในเมืองซัลโต รัฐเซาเปาโล เป็นแม่น้ำสายที่มีระยะทางมากกว่าพันกิโลเมตร พาดผ่านหลายเมืองหลายชุมชน
ภาพจาก : Reuters
ด้าน Mata Atlantica ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของบราซิล มีการศึกษาถึงเรื่องนี้และมีรายงานในปี 2022 ระบุว่า มลพิษในแม่น้ำ Tiete ทอดยาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ขณะที่ในปี 2021 เคยมีรายงานด้วยว่า พื้นที่ ที่เกิดมลพิษในแม่น้ำแห่งนี้มีความยาวมากถึง 85 กิโลเมตร
สำหรับแม่น้ำ “ติเอเต” ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญของเมืองที่มีระยะทางมากถึง 1,100 กิโลเมตร และพาดผ่านรัฐเซาเปาโลจากตะวันออกไปตะวันตก โดยปัญหาของโฟมพิษที่ลอยเอ่อล้นมาตามแม่น้ำดังกล่าว พบว่ามีกลิ่นเหม็นเหมือน “ก๊าซไข่เน่า” หรือก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นผลมาจากของเสียจากผงซักฟอก และสารเคมีตกค้างที่ทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในแหล่งน้ำ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่าผู้คนในเขตนครหลวงของเซาเปาโลมักจะปล่อยสิ่งปฏิกูลทิ้งลงในแม่น้ำโดยไม่ผ่านการบำบัด ก่อให้เกิดโฟมพิษที่ประกอบด้วยฟอสเฟต และฟอสฟอรัส ซึ่งสารเคมีเหล่านี้มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือนที่ย่อยสลายได้ เช่น สบู่, ผงซักฟอก, ยาสีฟัน, และแชมพู ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ภาพจาก : Reuters
“มาลู ริเบโร” ผู้อำนวยการของ SOS Mata Atlantica ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของบราซิล ระบุว่า โฟมเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับสารฟอสเฟตจำนวนมาก กลายเป็น “ไฮโดรเจนซัลไฟด์” มีกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่า ซึ่งหากสูดดมก๊าซพิษนี้เข้าไปก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
“โฟมพิษที่มีก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์เหล่านี้ ประกอบไปด้วยแบคทีเรียต่างๆ สารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพของผู้คนและต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้วิกฤตการณ์น้ำอุปโภคบริโภคในปัจจุบันยิ่งเลวร้ายลง เนื่องจากประชาชนขาดแคลนน้ำสะอาด เพราะมลพิษออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำ นี่มันเป็นเรื่องเลวร้ายที่รับไม่ได้ที่สุด” มาลู ริเบโร กล่าว
ภาพจาก : Reuters
ภาพจาก : Reuters
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง Hydrogen Sulfide หรือ “ก๊าซไข่เน่า” แล้ว หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามันเป็นก๊าซอันตรายร้ายแรง มีข้อมูลจาก "ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี" คณะแพทย์ฯ รามาธิบดี ม.มหิดล ระบุว่าก๊าซดังกล่าวเป็นก๊าซที่กลิ่นฉุนรุนแรง ไม่มีสี และติดไฟได้ เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายตัวของสารอินทรีย์ร่วมกับสารเคมีบางชนิด
หากคนเราสูดดมก๊าซนี้เข้าไปโดยตรงก็จะเกิดพิษต่อร่างกายได้ หากได้รับก๊าซพิษในความเข้มข้นที่ไม่สูงมากนัก ก็อาจจะมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น ระคายเคืองในเยื่อบุทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร
แต่ถ้าหากสูดดมก๊าซในความเข้มข้นสูงขึ้น ก็จะยิ่งได้รับอันตรายมากขึ้น กล่าวคือ จะทำให้ประสาทรับกลิ่นไม่ทำงาน เกิดการยับยั้งกระบวนการหายใจในระดับเซลล์ ทำให้มีอาการปวดเวียนศีรษะ อาเจียน สับสน ชัก และหมดสติ ในกรณีอาการรุนแรงอาจเกิดอาการช็อก ปอดบวม น้ำท่วมปอด เกิดภาวะกรดในร่างกายสูง อาจหยุดหายใจ และเสียชีวิตได้
-----------------------------------------------
อ้างอิง : Reuters, Straits Times, Rama.mahidol
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์