"ไทย - อินเดีย"เข็มทิศทางออกความขัดแย้ง ‘เมียนมา’

"ไทย - อินเดีย"เข็มทิศทางออกความขัดแย้ง ‘เมียนมา’

“ชายแดนเมียนมา” เป็นจุดพื้นที่ปะทะระหว่างกองทัพเมียนมา กับชนกลุ่มน้อย ที่สร้างความหวาดหวั่นให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และอินเดียต้องจัดการ ก่อนความไม่สงบจะคุกคามประเทศตนเองมากกว่าเดิม

ในโอกาสที่ไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมบิมสเทคอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ก.ค.) “ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศได้ใช้ช่วงเวลาระหว่างการประชุมดังกล่าว นั่งสนทนากับ “ตาน ชเว” รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา และ “สุพรหมณยัม  ชัยศังกร” รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาล่าสุด ที่กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบัน ประเทศไทยต้องรับมือปัญหาผู้ลี้ภัยมากกว่า 9,000 คน ที่หนีการสู้รบ ข้ามชายแดนเมียนมาไปยังฝั่งไทย และอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงใน 5 หมู่บ้าน ที่ อ.แม่สะเรียง และ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน 

ท่ามกลางเสียงปืนจากการปะทะกันต่อเนื่องในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ยิ่งเป็นแรงกดดันให้ไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านต้องลุกขึ้นมาจัดการ และหยิบยกประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดนเมียนมาขึ้นหารือกับตาน ชเว

ก่อนหน้านี้ ดอนได้พบปะกับ “อองซานซูจี”  เป็นการส่วนตัว เป็นเวลากว่า 90 นาที ระหว่างการเดินทางเยือนเมียนมาเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงเนปิดอว์ โดยได้รับไฟเขียวจากสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และเห็นชอบจากอองซานซูจีด้วยตัวเอง  โดยเรื่องนี้ “กาญจนา ภัทรโชค” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเผยว่า การหารือเป็นไปด้วยดี และอองซานซูจี มีสุขภาพแข็งแรงดี ทั้งกาย ใจ

นอกจากนี้ ดอนได้แจ้งผลการพบปะกับอองซานซูจีให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 ที่กรุงจาการ์ตาได้ทราบ พร้อมแจ้งว่า ซูจีสนับสนุนการเจรจาสร้างสันติภาพในเมียนมา พร้อมแสดงความห่วงกังวลต่อความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจเมียนมา 

“ผมเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแยกความขัดแย้งทางการเมือง และความขัดแย้งทางอาวุธออกจากกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  และอาเซียนสามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อหาทางออกทางการเมือง และนำสันติภาพคืนสู่เมียนมา” ดอนย้ำ

อีกด้านหนึ่ง อินเดียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันตกของเมียนมาก็รับความเดือดร้อนไม่น้อย ได้ขอแพ็กร่วมกับไทยหารือกับเมียนมา โดยสุพรหมณยัมได้ขอให้เมียนมาหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ตามแนวชายแดนแย่ลง

“พื้นที่ชายแดนอินเดีย-เมียนมา ถูกรบกวนอย่างหนักจากการปะทะที่เกิดขึ้นในฝั่งเมียนมา จึงขอร้องให้หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะซ้ำเติมสถานการณ์ความไม่สงบ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวชายแดน” รมว.ต่างประเทศอินเดียกล่าวและย้ำความสำคัญในการสร้างสันติภาพ และเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดนของเรา 

รัฐบาลทหารเมียนมาไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในช่วงเวลานี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดขึ้นกับจีนและรัสเซีย ขณะที่มีความช่วยเหลือใต้ดิน และจัดส่งอาวุธพร้อมฝึกซ้อมจากต่างประเทศให้กับชนกลุ่มน้อยในเมียนมา 

สำนักข่าววีโอเอ รายงานอ้างแกนนำกลุ่มต่อต้านติดอาวุธของเมียนมาเมื่อวันอาทิตย์ (16 ก.ค.) ได้ร้องขอวงเงินกว่าครึ่งพันล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐ ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และช่วยพวกเขาขับไล่ระบอบปกครองโดยทหารของประเทศ รวมถึงเงินสำหรับจัดหาโดรน รถหุ้มเกราะ และอุปกรณ์ตัดสัญญาณเรดาร์ของฝ่ายศัตรู

สภาคองเกรสได้ผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับเมียนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณด้านกลาโหมปี 2566 ที่จะมีดำเนินงานไปจนถึงเดือนก.ย.

น่าคิดต่อไปว่า ไทยและอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศขนาบข้างซ้ายขวาของเมียนมา จะตกอยู่ในความหวาดหวั่นเพียงใด หากสถานการณ์ความไม่สงบยังมีอยู่อย่างนี้ แล้วการที่ดอน และสุพรหมณยัมใช้ทุกช่วงโอกาสหารือกับเมียนมา โดยไม่ปล่อยเวลาไปย่อมดีกว่า มิใช่หรือ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์