ส่องตลาดสินค้าหรู‘สหรัฐ-จีน’ ยุคเศรษฐกิจขาลงทั่วโลก
ส่องตลาดสินค้าหรู‘สหรัฐ-จีน’ ยุคเศรษฐกิจขาลงทั่วโลก โดยเครื่องเพชรในจีนกำลังเติบโต เป็นสินค้าที่ผู้คนต้องการมากที่สุด แซงหน้ารองเท้าลำลอง เครื่องหนัง และเสื้อผ้า ขณะที่นาฬิกาก็มีความต้องการมากเช่นกัน
อุตสาหกรรมสินค้าหรูหรา ต่างพึ่งพาประเทศจีนและประเทศในแถบอเมริกาเหนืออย่างหนัก เพื่อหนุนการเติบโตของธุรกิจในอีกสองสามปีข้างหน้า แต่ล่าสุด ตัวเลขเศรษฐกิจจีนและยอดขายที่น่าผิดหวังของบริษัทริชมอนด์ เจ้าของแบรนด์คาร์เทียร์ บ่งชี้ว่า ตลาดทั้งสองแห่งเริ่มชะลอตัวลง
แบรนด์ลักซ์ชัวรีรายใหญ่ ต่างทุ่มทุนหลายล้านดอลลาร์ เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ในตลาดจีนและอเมริกาเหนือ โดยลงทุนไปกับศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์ที่มีอยู่เดิม เพื่อเปิดร้านค้าใหม่ ๆ ในหลายเมือง อาทิ เมืองอู่ฮั่นและเมืองเจิ้งโจวในจีน หรือเมืองชาร์ลอตต์ รัฐเทนเนสซี และแนชวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ในสหรัฐ
เมื่อความมั่งคั่งของสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณแผ่วลง หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรดานักลงทุนก็หันไปคาดหวังกับลูกค้าชาวจีน ว่าอาจเป็นตัวช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมแบรนด์หรูในอนาคต เพื่อรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนไว้ให้นานที่สุด
แต่เศรษฐกิจจีนในไตรมาสสองชะลอตัว ทำให้ธนาคารเจพีมอร์แกน, มอร์แกน สแตนลีย์ และซิตี้กรุ๊ป พากันปรับลดคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจในปีนี้
เมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) ริชมอนด์ บริษัทสัญชาติสวิสประกาศว่า ยอดขายสินค้าในช่วงสามเดือน สิ้นสุดเดือน มิ.ย. ร่วงลงจากที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย โดยยอดขายในสหรัฐลดลง 4% ขณะที่ยอดขายในเอเชียก็ไม่น่าพอใจเช่นกัน
หุ้นริชมอนด์ปิดตัวลงที่ระดับ 10.43% ด้านแอร์เมส ยอดขายดิ่ง 4.21%, แอลวีเอ็มเอชร่วง 3.7% และเคอร์ริงลดลง 1.95%
รายได้ไตรมาสแรกของธุรกิจแบรนด์หรู ทั้งแอลวีเอ็มเอชและชาแนล บ่งชี้ว่าการเติบโตของธุรกิจลักซ์ชัวรีในอเมริกาเหนือชะตัวลง โดยขยายตัวเป็นตัวเลขหลักเดียว หลังขยายตัวมากสุดสองหลักในแต่ละไตรมาสของปี 2564-2565
ขณะที่รายได้แบรนด์เคอร์ริงและเฟอร์รากาโม ดิ่งลงสองหลักเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
นักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า การชดเชยรายได้แบรนด์หรูที่ลดลงครั้งใหญ่ในสหรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศของจีนตลอดทั้งปีนี้ จะฟื้นตัวมากแค่ไหน
หลังจากนักวิเคราะห์จากซิตี้ได้พูดคุยกับผู้บริหารริชมอนด์ ได้ออกรายงานคาดการณ์ว่า “อุปสงค์ในตลาดจีนไม่อาจฟื้นตัวแบบ V-shape แต่จะเกิดการฟื้นตัวด้วยการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลายปี”
บรรดาผู้บริหารแบรนด์หรู ต่างให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ด้วยความหวังว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะหนุนอุตสาหกรรมนี้ให้ขยายตัวได้
เบน (Bain) บริษัทให้คำปรึกษาสัญชาติอเมริกัน คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมแบรนด์หรู อาจเติบโตราว 5% โดยเฉพาะแบรนด์อย่างแอร์เมสและชาแนล จะมีรายได้ดีกว่าบริษัทอื่น ๆ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ร่ำรวยของบริษัทเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจมหัพภาคไว้ได้
“อมฤตา บัณฑะ” กรรมการผู้จัดการจากอากิลิตี บริษัทให้บริการด้านโลจิสติกส์ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมแบรนด์ลักซ์ชัวรี เติบโตได้ดีในตลาดผู้บริโภคจีน แต่คุณรู้ไหมว่า เกือบทุกคนที่ผมพูดคุยด้วย ต่างแสดงออกว่ามีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตลาด และในสังคมจีนมีความรู้สึกไม่สบายใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเกือบทุกคนในจีน"
อย่างไรก็ดี อากิลิตี เผยว่า เครื่องเพชรในจีนกำลังเติบโต เป็นสินค้าที่ผู้คนต้องการมากที่สุด แซงหน้ารองเท้าลำลอง เครื่องหนัง และเสื้อผ้า ขณะที่นาฬิกาก็มีความต้องการมากเช่นกัน
ในหมวดเครื่องประดับและเสื้อผ้า แบรนด์ชาแนล, ดิออร์ และบาเลนเซียกา มียอดขายในจีนมากที่สุดในไตรมาสล่าสุด
การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐที่ซบเซาลง สะท้อนให้เห็นว่าราคาสินค้าแพง อัตราดอกเบี้ยสูง และสถานการณ์หนี้สิน ล้วนส่งผลกระทบต่อลูกค้าที่มีความทะเยอทะยานสูง ซึ่งกลายเป็นกลุ่มคนที่สามารถใช้ชีวิต โดยไม่ต้องมีกระเป๋ากุชชี หรือรองเท้าหรูคู่ละ 900 ดอลลาร์ (ประมาณ 30,600 บาท) ก็ได้
ข้อมูลจากบีซีจี เผยว่า จีนมีลูกค้าเศรษฐีที่อายุน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงบวกในอนาคตสำหรับแบรนด์ลักซ์ชัวรี แต่การว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นของคนหนุ่มสาวชาวจีน หรืออัตราการไร้งานของคนหนุ่มสาวชาวจีนที่แตะระดับสูงสุด 21.3% เมื่อเดือน มิ.ย. จากเดิม 20.8% ในเดือน พ.ค. อาจสร้างปัญหาต่อการดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ ทั้งลูกค้าภายในกลุ่มแบรนด์หรูระดับท็อป ไปจนถึงลูกค้านอกกลุ่มนี้
“เจเลนา โซโคโลวา” นักวิเคราะห์สินทรัพย์อาวุโส จากมอร์นิงสตาร์ เผยว่า “แนวโน้มที่ฉันเห็นในสหรัฐและในจีนคือ ลูกค้าหนุ่มสาวที่มีความทะเยอทะยานสูง เริ่มรู้สึกได้รับผลกระทบมากขึ้น”
ข้อมูลจากมอร์แกน สแตนลีย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เล่นในธุรกิจแบรนด์หรูบางแห่ง รวมทั้งริชมอนด์ มีรายได้จากจีนคิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้จากทั่วโลก ปัญหาหนุ่มสาวชาวจีนว่างงานสูง ยิ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับการพึ่งพาเพียงตลาดเพียงแห่งเดียว โดยเฉพาะการพึ่งพาประเทศที่เป็นชนวนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อย่างจีน
“เออร์วาน แรมบูร์ก” จากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ คอร์เปอร์เรชัน บอกว่า ข้อดีอย่างหนึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิดคือ แบรนด์หรูของยุโรป เริ่มให้ความสนใจกับลูกค้าในท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงจากประเทศจีนน้อยกว่าปี 2562
“นั่นหมายความว่า ตอนนี้อุตสาหกรรมแบรนด์หรู มีอิทธิพลต่อความมั่งคั่งทั่วโลก ไม่ใช่แค่ชาติใดชาติหนึ่ง ถือเป็นผลดีต่อธุรกิจ แต่เมื่อพิจารณาถึงการสร้างความมั่งคั่งในสหรัฐและจีน และความนิยมเชิงวัฒนธรรมที่นำไปสู่การใช้สินค้าลักซ์ชัวรีในช่วงหลัง ตลาดจีนและสหรัฐ ก็ยังเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจแบรนด์หรู" แรมบูร์ก กล่าว