'ผู้ประกาศข่าวเอไอ'อินเดีย เทคโนโลยีใหม่สะเทือนวงการสื่อ
'ผู้ประกาศข่าวเอไอ'อินเดีย เทคโนโลยีใหม่สะเทือนวงการสื่อ โดยมีความเสี่ยงที่เทคโนโลยีผู้ประกาศข่าวเอไอจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของสื่อ เนื่องจากหุ่นยนต์ขาดทักษะการสังเกต และขาดประสบการณ์ของผู้ประกาศข่าวที่เป็นมนุษย์
เมื่อสถานีโทรทัศน์ Odisha TV เปิดตัวผู้ประกาศข่าว ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) คนใหม่ อินเดีย ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ตั้งแต่การมองว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ให้กับวงการสื่อ ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ประกาศข่าวที่เหมือนหุ่นยนต์และไร้อารมณ์
“จากี มังกัต แพนดา” หัวหน้าสถานีโทรทัศน์ Odisha TV ยกย่องการเปิดตัวผู้ประกาศข่าวเอไอว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญแห่งการเผยแพร่ภาพโทรทัศน์ และธุรกิจสื่อสารมวลชนดิจิทัล
“ลิซ่า” "ผู้ประกาศข่าวเอไอ"คนแรกของ Odisha TV เปิดตัวด้วยชุดกระโปรงส่าหรีสีน้ำตาลแดงและสีทอง ซึึ่งตำแหน่งงานของลิซ่าคือ ผู้นำเสนอข่าวในแพลตฟอร์มดิจิทัล และอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศและกีฬา
แพนดา อธิบายว่า วัตถุประสงค์ของการใช้ผู้ประกาศข่าวที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ คือ ให้เอไอช่วยรับงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ และมีความจำเจ เพื่อให้พนักงานของสถานีโทรทัศน์ มีเวลาให้กับการสร้างสรรค์งานมากขึ้น และช่วยให้ข่าวมีคุณภาพดีขึ้น แต่การปรากฏตัวของลิซ่า และการถือกำเนิดแชตบอตใหม่อื่น ๆ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงในอินเดียเกี่ยวกับอนาคตของสื่อ ในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
ปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นในตลาดเอเชียอื่น ๆ เช่นกันตั้งแต่จีน ไปจนถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างเริ่มใช้เอไอเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ของสื่อสารมวลชนยุคใหม่
เอไอ ถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการเข้าถึงผู้ใช้งานในประเทศอย่างอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้ภาษาหลายร้อยภาษา
และก่อนที่ลิซ่าจะเฉิดฉายในจอแก้ว ทูเดย์กรุ๊ป บริษัทสื่อใหญ่ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เคยเปิดตัวนักข่าวเอไอคนแรกของประเทศชื่อ “ซานา” ที่นอกจากจะสามารถนำเสนอข่าวเป็นภาษาอังกฤษ, ฮินดี และบังกลาเทศแล้ว เธอยังสามารถรายงานข่าวสภาพอากาศ และออกอากาศร่วมกับนักข่าวคนอื่นๆ ทั้งยังใช้ภาษาอื่นได้อีก 75 ภาษา
“กัลลิ ปูรี” รองประธานกรรมการบริหารสื่อทูเดย์ของอินเดีย อธิบายว่า ซานา เป็นผู้ประกาศเอไอที่สดใส, สง่างาม, ดูกระตือรือร้นตลอดเวลา และเป็นอมตะ ขณะที่พาวเวอร์ทีวี สื่อในรัฐคาร์นากาตา ทางภาคใต้ของอินเดีย ก็ใช้ผู้ประกาศข่าวเอไอ “ซาวน์ดาเรีย” เช่นกัน
การเติบโตของเหล่าผู้ประกาศข่าวเอไอ ได้รับแรงหนุนจากอัลกอริทึมการเรียนรู้ของเอไอ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งแต่บทความข่าวไปจนถึงวิดีโอ
INDIAai เว็บไซต์เกี่ยวกับการพัฒนาเอไอของรัฐบาลอินเดีย อธิบายเกี่ยวกับ เทคโนโลยีผู้ประกาศเอไอว่า เป็นเอไอที่รวบรวม ติดตาม และจัดหมวดหมู่สิ่งที่เอไอพูด รวมถึงเรื่องที่ผู้คนพูดถึง จากนั้นแปลงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นข้อมูลที่ใช้งานและดำเนินการอื่น ๆ ต่อได้
ผู้จัดการฝ่ายผลิตหลายคนบอกว่า เอไอประเภทดังกล่าว มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสื่อ เพราะเอไอสามารถประหยัดต้นทุนบริษัท ช่วยให้สถานีโทรทัศน์นำเสนอข่าวในอินเดียได้หลายภาษา และสามารถรวบรวมข้อมูลด้วยความรวดเร็วอย่างน่าอัศจรรย์
ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์คนหนึ่ง ที่ไม่ประสงค์ออกนาม บอกว่า ผู้ประกาศข่าวเอไอมีข้อดีอย่างอื่นอีก คือ หุ่นยนต์มีอีโก้ต่อสถานีโทรทัศน์น้อย ขณะที่ผู้ประกาศข่าวชื่อดังหลายคนมีอีโก้มากกว่า
ในทางตรงข้าม นักวิเคราะห์บอกว่า ความเสี่ยงของเทคโนโลยีผู้ประกาศข่าวเอไอ บั่นทอนความน่าเชื่อถือของสื่อ เพราะหุ่นยนต์ขาดทักษะการสังเกต และขาดประสบการณ์ของนักข่าวที่เป็นมนุษย์
“สัญชัย ปาเรข” คุณครูในกรุงนิวเดลี เตือนว่า “สื่อโทรทัศน์เน้นการนำเสนอลักษณะทางกายภาพ แต่แชตบอตนำเสนอข่าวด้วยน้ำเสียงน่าเบื่อ ไม่มีท่ามือประกอบ ถ้าเราเห็นคนที่ไม่ได้ดูเหมือนคน เราจะเชื่อถือคนนั้นได้อย่างไร? ฉันคงเปลี่ยนช่องทันที”
ผู้ประกาศข่าวเอไอ มีกระแสตอบรับในแง่ลบเหมือนกับเทคโนโลยีเอไอแบบอื่น ๆ เพราะการนำผู้ประกาศข่าวเสมือนจริงมาใช้งาน สร้างความกังวลเกี่ยวกับการตกงาน แม้ได้รับการรับรองจากหลายบริษัทว่า ผู้ประกาศข่าวเอไอจะไม่มาแทนที่มนุษย์
โฆษกจากพาวเวอร์ทีวี ในรัฐคาร์นาตากา บอกว่า “เราไม่ได้ตั้งใจแทนที่ผู้ประกาศข่าวของเราด้วยหุ่นยนต์ และการลดขนาดการจ้างงานยังห่างไกลจากแนวทางธุรกิจของเรา เราเพียงแค่เสริมความแข็งแกร่งให้พนักงานของเรา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อลองอะไรใหม่ ๆ ซึ่งน่าตื่นเต้นดี ที่เอไอสามารถทำงานน่าเบื่อและงานซ้ำ ๆ ได้ นอกจากนี้ สำหรับประเทศที่มีภาษาทางการ 22 ภาษา หุ่นยนต์พูดได้หลายภาษา จึงช่วยอำนวยความสะดวกด้านการรับข่าวสารได้ดีขึ้น”
แม้ว่าจะเกิดข้อโต้แย้งถึงผลเสียของการใช้ผู้ประกาศข่าวเอไอ แต่การใช้เอไอนำเสนอข่าวกลับมีแนวโน้วเพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจที่เผยแพร่เดือน พ.ค. จากสมาคมหนังสือพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ข่าวโลก พบว่า 49% ของสำนักข่าวทั่วโลกล้วนใช้เครื่องมือเอไออย่าง ChatGPT ในการทำงาน
ย้อนกลับไปในปี 2561 จีนประกาศว่าจะเปิดตัวผู้ประกาศข่าวเอไอเป็นแห่งแรก จากนั้นผู้ประกาศข่าวหุ่นยนต์ก็ปรากฏตัวในอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไต้หวัน รวมถึงภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างคูเวตนิวส์ ที่เพิ่งเปิดตัวผู้ประกาศข่าวเสมือนจริง ชื่อ เฟดา
"ผศ.มาทีน อาหมัด" จากศูนย์วิจัยสื่อสารมวลชน A.J.K. มหาวิทยาลัยจาเมีย มิลเลีย อิสลาเมียในกรุงนิวเดลี กล่าวว่า “เทคโนโลยีใหม่ ๆ มักทำให้เกิดความกลัวในช่วงแรก"
อาหมัด เล่าด้วยว่า ครั้งหนึ่ง ผู้ผลิตภาพยนตร์เคยกลัวว่าแอนิเมชันอาจเข้ามาแทนที่ภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดงเช่นกัน แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น เช่นเดียวกับความหวาดกลัว ที่เคยเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อมีการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยมีการคาดเดามากมายว่า อินเทอร์เน็ตจะทำให้หนังสือพิมพ์และหนังสือถึงจุดจบ แต่สิ่งสำคัญสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์คือ มนุษย์ยังเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ และจะไม่มีวันถูกแทนที่ด้วยแชตบอตเอไอ