วีรบุรุษก็ถูกด้อยค่าได้ | วรากรณ์ สามโกเศศ
ชาวโลกเมื่อได้ยินชื่อ Nelson Mandela ก็นึกถึงความแกร่งกล้าสามารถต่อสู้จนเอาชนะความอยุติธรรมได้ อย่างไรก็ดีขณะนี้มีกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แรงขึ้นทุกทีว่าเขาผู้จากไปเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แท้จริงแล้วไม่ใช่วีรบุรุษ
ตอนได้เป็นประธานาธิบดีก็ไม่ได้ทำเรื่องที่ควรทำจนประเทศอยู่ในสภาพย่ำแย่ในปัจจุบัน การถูกด้อยคุณค่าของเขาคล้ายกับ มหาตมะ คานธีในปัจจุบันที่คนอินเดียจำนวนหนึ่งเห็นว่าเขาไม่ใช่คนดีที่น่าบูชา
มันเป็นไปได้อย่างไรที่สองท่านนี้ที่โลกชื่นชมแต่กลับถูกสาปแช่งในประเทศของตนเอง
Mandela หรืออีกชื่อหนึ่งที่ประชาชนอาฟริกาใต้เรียกอย่างรักใคร่บูชาว่า Madiba หากยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้จะมีอายุ 105 ปี เขาเกิดภายใต้นโยบายกีดกันและกดขี่คนผิวดำที่เรียกว่า Apartheid ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1948
แยกคนผิวดำและผิวขาวออกจากกันในเรื่องบริเวณที่อยู่อาศัย ห้ามการคบหาสมาคมหรือเป็นคู่รักหรือแต่งงานกัน คนผิวดำเจ้าของแผ่นดินขาดบางสิทธิทางกฎหมายและการออกเสียงเลือกตั้ง ขาดความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษา ฯลฯ
Mandela ต่อสู้การกดขี่นี้ตั้งแต่วัยหนุ่มผ่านการเมืองและ การต่อสู้ในสิ่งที่เขาเชื่อ โดยใช้สันติวิธีตามแนวทางของมหาตมะ คานธี เขาถูกจับข้อหากบฎและโดนใช้ความรุนแรงจนต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง
ในที่สุดเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ติดอาวุธของพลพรรค ANC (African National Congress) เขาถูกจับและติดคุกอยู่นาน 27 ปี จนออกจากคุกในปี 1990 ในปี1993 เขาได้รับรางวัลโนเบิล สาขาสันติภาพ
และในปี 1994 ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศอาฟริกาใต้ ในวัย 76 ปี ด้วยคะแนนเสียง ท่วมท้น เขาครองตำแหน่งระหว่าง 1994-1999 รวม 5 ปี
สิ่งที่ชาวโลกชื่นชมเขาก็คือความอดทนต่อสู้ติดคุกอยู่เป็นเวลายาวนาน เมื่อออกมาแล้วได้เป็นประธานาธิบดีแทนที่จะคิดแก้แค้นคนที่ทำกับเขาตลอดเวลาที่คุมขัง และแก้แค้นแทนคนผิวดำที่ถูกกระทำมายาวนาน
เขากลับปลุกเร้าความรู้สึกสมานฉันท์และการร่วมมือกันให้ประเทศก้าวหน้าระหว่างกลุ่มเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากในประเทศอาฟริกาใต้ซึ่งมิได้มีแต่ผิวขาวและผิวดำของเผ่า Thembu ของเขาเท่านั้น
Mandela ร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างจริงใจ แม้แต่ศัตรูเก่าของเขาก็ยอมรับและชื่นชมในความกล้าหาญทางจริยธรรม ที่เขาละเว้นการสนับสนุนฆ่าล้างแค้นคนผิวขาวหรือไล่คนผิวขาวออกจากแผ่นดิน
สิ่งที่เขาปรารถนาอย่างแรงกล้าคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชาวอาฟริกาใต้ เขาเชิดชูสันติภาพความสมานฉันท์ และการประสานความแตกร้าวตลอดระยะเวลาของการเป็นประธานาธิบดี
Mandela เป็นผู้นำที่มองภาพกว้างอย่างสร้างสรรค์ มีชัยชนะเหนือใจตนเองที่ต้องการแก้แค้นโดยมีใจที่กว้างขวาง เขามุ่งสู่ความผาสุกของประชาชน โดยปราศจากความแค้นเคือง
5 ปี เป็นระยะเวลาไม่นานนักสำหรับการแก้ไขปัญหาสังคม ที่มี Apartheid ฝังรกรากมายาวนานกว่า 46 ปี ผลงานสำคัญคือการยกเลิกนโยบาย Apartheid
โดยไม่เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างผิวสีที่คนผิวขาวคุมทรัพยากรและที่ดิน ความมั่งคั่ง อำนาจทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เกือบทั้งหมดมาเป็นเวลายาวนาน (ร้อยละ 80 ของประเทศที่มีประชากรกว่า 40 ล้านคนเป็นเชื้อสายผิวดำ) และเกิดการสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่เกิดการฆ่าล้างแค้นกัน
อย่างไรก็ดีเวลากว่า 25 ปี นับตั้งแต่ Mandela พ้นจากตำแหน่ง พรรค ANC ของเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จในการยกฐานะทางเศรษฐกิจของคนผิวดำให้ดีขึ้นเท่าเทียมคนผิวขาวได้ อัตราการว่างงาน 46% ของคนในวัย 15-34 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มคนผิวดำ และจำนวนคนทำงานที่ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าระดับความรู้อีกนับล้านคน ทำให้ประชาชนไม่พอใจ
เมื่อประเทศขาดน้ำ และขาดไฟฟ้าทั่วประเทศ ความศรัทธาในรัฐบาลก็ลดน้อยลงเป็นลำดับ (ในปี2005 ประมาณร้อยละ 64 เชื่อมั่นรัฐบาล แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 26)
ปัญหาเศรษฐกิจและความไม่พอใจในคุณภาพชีวิตทำให้คนกลุ่มใหญ่มองหา “แพะรับบาป” และก็มาลงอย่างสะดวกที่ Mandela
โดยให้เหตุผลว่าระหว่างที่เป็นประธานาธิบดีนั้นทำน้อยไปในการจัดการกับคนผิวขาวในเรื่องการแบ่งปันความมั่งคั่ง ตลอดจนแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ให้ความเหลื่อมล้ำลดลงเพื่อช่วยเหลือคนผิวดำอย่างแท้จริง
คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเกิดไม่ทัน Apartheid และไม่ทันช่วงเวลาแห่งการยกเลิก Apartheid จึงไม่รู้ว่าเพียงไม่ทำให้คนไล่ฆ่ากันเพื่อแก้แค้นตอนเปลี่ยนผ่านก็นับว่าเก่งมากแล้ว
เป็นที่รู้ดีว่าการฆ่าฟันกันระหว่างเผ่าแม้แต่ผิวดำด้วยกันเองในอาฟริกานั้นรุนแรงดุเดือดและยิ่งมีคนผิวขาวที่เคียดแค้นกันรวมอยู่ด้วยแล้วจะนองเลือดเพียงใด ชาวโลกที่สนับสนุนการยกเลิก Apartheid จนประสบผลสำเร็จนั้นจะมองประเทศนี้อย่างไร
L.P. Hartley นักประพันธ์เคยเขียนว่า “The past is a foreign country : They do things differently there” (อดีตคืออีกประเทศหนึ่ง ที่นั่นเขาทำอะไรที่แตกต่างออกไป)
คนที่ไม่ได้อยู่ในอดีตนั้น จะไม่มีวันเข้าใจอย่างแท้จริงเลยว่า เหตุใดในเวลานั้นผู้คนในยุคนั้นจึงกระทำสิ่งนั้น ๆ โดยไม่กระทำสิ่งอื่น มนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบแสวงหา “แพะรับบาป” เสมอโดยเฉพาะในอดีตเพื่อความสบายใจของตนเอง และเพื่อโทษคนอื่นทางการเมือง
ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่ทั้ง Mandela และมหาตมะ คานธี ถูกด้อยคุณค่าในปัจจุบันจึงพอเข้าใจได้แต่สังคมต้องไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่ใช่ความจริง เพราะมันไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม และเป็นการเนรคุณผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติ และสังคมผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างไม่สามารถตอบโต้ได้
เรื่องการด้อยคุณค่าของมหาตมะ คานธี (ผู้เขียน ; กรุงเทพธุรกิจ ; 21 มีนาคม 2566) และ Nelson Mandela เป็นเรื่องน่าสลดใจที่สังคมต้องช่วยกันแก้ไขให้มันเป็นเพียงกระแสลมที่พัดผ่านไปเท่านั้น สังคมมนุษย์จะเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อบูชา “ความดี ความงาม และความจริง” เท่านั้น.