ความเหมือนและต่างของ Gandhi และ Mandela กับหลักสันติวิธี
ในช่วงของการชุมนุมที่ผ่านมา ได้มีการอ้างถึงหลักของอหิงสา หรือ การชุมนุมโดยสันติวิธีมาใช้อยู่เป็นประจำ ทำให้ต้องย้อนกลับไปรำลึกถึง
ท่านมหาตมะ คานธี ผู้นำหลักการอหิงสามาใช้จนแพร่หลาย และประจวบกับช่วงที่ผ่านมาเนลสัน แมนเดลา นักต่อสู้ด้วยสันติวิธีผู้ยิ่งใหญ่ของแอฟริกาใต้ได้เสียชีวิตลง เลยทำให้เกิดความอยากรู้และสงสัยว่าทั้งคานธี และแมนเดลาที่มีวิธีการต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยหลักอหิงสาและสันติวิธีอย่างไร ถ้ามองในเชิงของผู้นำหรือ Leadership แล้ว มีความเหมือนหรือต่างกันบ้างไหม และเผื่อท่านผู้อ่านสนใจศึกษา เปรียบเทียบหลักการและภาวะความเป็นผู้นำของทั้งสองท่านกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
ภายหลังการเสียชีวิตของเนลสัน แมนเดลา ผู้นำหลายๆ ประเทศมักจะชอบเปรียบเทียบเขากับคานธี รวมทั้งอดีตผู้นำที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมต่างๆ อย่าง Martin Luther King แต่เมื่อพิจารณาจากประวัติและแนวทางในการนำการเปลี่ยนแปลงของทั้งสองแล้วจะพบว่ามีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างกันอยู่พอสมควร
เริ่มจากส่วนที่คล้ายก่อนนะครับ ทั้งสองท่านเกิดมาในตระกูลที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลทางการเมืองในประเทศของตน ทั้งคู่ศึกษาด้านกฎหมาย คานธีนั้นถึงแม้จะเป็นชาวอินเดียโดยกำเนิด แต่ก็ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในแอฟริกาใต้ และทั้งคู่ต่อสู้กับความอยุติธรรมของรัฐบาลที่ปกครองดินแดนของตนเองอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำผู้คนในบ้านเมืองเขาต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ
แมนเดลาเองก็เคยเขียนบทความชื่อ The Sacred Warrior ที่เล่าถึงอิทธิพลในวิธีคิดและวิธีการนำการเปลี่ยนแปลงของคานธีว่าส่งผลต่อเขาอย่างไร ได้มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่าด้วยบุคลิกภาพแล้วทั้งสองท่านเป็นผู้ที่ไม่เกรงกลัว เป็นผู้ที่มีความกล้า มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่มีความเชื่อในความยุติธรรม อีกทั้งเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าต่อความพยายามของตนเองในการสร้างความสันติและสมานฉันท์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกัน คานธีเน้นการดึงกลุ่มคนต่างศาสนาในอินเดียเข้าไว้ด้วยกัน ในขณะที่แมนเดลาเองก็เน้นการสร้างความปรองดองระหว่างหลากหลายเชื้อชาติในแอฟริกาใต้
คุณสมบัติหนึ่งที่น่าสนใจของทั้งสองท่านคือ ทั้งคู่ปฏิบัติต่อคู่ต่อสู้หรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วยจิตใจที่เมตตาและความสุภาพ ทั้งสองท่านให้ความสำคัญกับเรื่องของความปรองดอง สมานฉันท์เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ทั้งสองท่านยังเชื่อมั่นและให้ความสำคัญกับเรื่องของ ‘Truth’ หรือ ความจริงหรือ สัจธรรม จนกระทั่งคานธีเองเรียกหลักการนี้ว่า Satyagraha
สำหรับชาวอินเดียและแอฟริกาใต้ ทั้งคานธีและแมนเดลาเปรียบเสมือนกับเป็นบิดาของพลเมืองของประเทศตน คานธีนั้นนอกเหนือจากจะได้รับการขนานนามเป็นมหาตมะแล้ว ยังเป็นที่รู้จักกันในนามของ Bapu ที่แปลว่าบิดา ในขณะที่แมนเดลาก็ได้รับการเรียกขานเป็น Tata ที่แปลว่าบิดาเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่และสำคัญระหว่างทั้งสองท่านนั้นกลับเป็นเรื่องเกี่ยวกับสันติวิธี คานธีนั้นจะต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ และจะเน้นใช้หลักการของสันติวิธีหรืออหิงสาเท่านั้น ในขณะเดียวกันถ้าเราศึกษาประวัติของแมนเดลาจะพบว่าแมนเดลาเชื่อว่าในบางครั้ง บางสถานการณ์การใช้ความรุนแรงก็เป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับรัฐบาลที่ใช้หลักความรุนแรงก่อน มีนักวิจารณ์บางท่านบอกว่าสาเหตุที่แมนเดลาต้องใช้ความรุนแรงมากกว่าคานธีนั้น เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามที่แต่ละท่านเผชิญนั้น มีความแตกต่างกัน
ในบทความ The Scared Warrior ของแมนเดลา เขายอมรับเองว่าพยายามก้าวตามกลยุทธ์ของคานธีในเรื่องของสันติวิธีอย่างถึงที่สุด แต่สุดท้ายก็มาถึงจุดที่ว่าเมื่อเผชิญกับความรุนแรงจากฝ่ายรัฐบาล หลักสันติวิธีที่ใช้มาตลอดก็ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป แมนเดลายังได้เคยกล่าวด้วยว่า “…no country became free without some sort of violence”
จริงๆ ประวัติของทั้งสองท่านยังยาวกว่านี้เยอะครับ และก็ได้มีผู้พยายามวิเคราะห์ วิจารณ์ความเหมือนและความต่างของทั้งสองท่านไว้ในหลายมุมมอง แต่ที่สำคัญคือต้องอย่าลืมว่าทั้งสองท่านเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศ ของคนของตนเอง ความจำเป็นที่ต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพนั้นชัดเจน และสามารถปลุกระดมมวลชนจำนวนมาก รวมทั้งนานาชาติให้มาสนับสนุนทั้งสองท่านได้ หรือที่แนวคิดทางการจัดการสมัยใหม่ระบุไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องมี Sense of Urgency เสียก่อน และ Sense of Urgency ที่ทั้งสองท่านใช้ก็คือเพื่ออิสรภาพของประเทศตนเอง