‘จีน’ แช่แข็ง สู่ยุค ‘Lost decade’ เกิดน้อย แก่เยอะ กลายร่าง ‘มังกรทองปีกหัก’

‘จีน’ แช่แข็ง สู่ยุค ‘Lost decade’ เกิดน้อย แก่เยอะ กลายร่าง ‘มังกรทองปีกหัก’

“จีน” เตรียมแช่แข็งสู่ยุค “Lost decade” เผชิญหน้า “ทศวรรษที่หายไป” หลังเศรษฐกิจซึมยาวทั้งไตรมาส เคราะห์ซ้ำหนัก คนเกิดน้อย คนแก่เยอะ หนี้ประเทศล้น “Decoupling” กระทบห่วงโซ่อุปทาน “IMF” มอง หลังจากนี้ “จีน” ไม่ใช่มหาอำนาจขับเคลื่อนโลกอีกแล้ว!

Key Points:

  • เศรษฐกิจจีนฝืดเคืองอย่างหนักมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2566 เติบโตต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ สถานการณ์จีนคล้ายว่า กำลังเข้าสู่ “Lost decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” เหมือนกับ “ญี่ปุ่น” ในทศวรรษ 1990
  • “จีน” เผชิญกับสภาวะ “ฟองสบู่อสังหาฯ” มายาวนาน และดูจะเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก นอกจากนี้ สถานการณ์ทางประชากรศาสตร์ก็ยัง “ลุ่มๆ ดอนๆ” คนเกิดน้อย คนแก่มากขึ้น 
  • แม้ปัจจุบัน “ญี่ปุ่น” จะยังมีร่องรอยความเสียหายของ “Lost decade” อยู่บ้าง แต่สถานการณ์แตกต่างกับ “จีน” เพราะ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศรายได้สูง ขณะที่จีนยังมีรายได้น้อย ไร้ “Safety Net” จากภาครัฐ


30 ปีที่แล้วราวทศวรรษ 1990 “ญี่ปุ่น” รุ่งโรจน์อย่างสุดขีด สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจสู่ “ประเทศพัฒนาแล้ว” มี “GDP” สูงที่สุดในโลกหลังผ่านความพ่ายแพ้จากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้ ขณะนั้นชื่อเสียงของบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นหลายแห่งสร้างปรากฏการณ์-เป็นที่ยอมรับบทเวทีโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า (Toyota) โซนี่ (Sony) โตชิบา (Toshiba) เป็นต้น

หลังจากนั้นเพียงไม่นาน “ญี่ปุ่น” ก็เข้าสู่ศักราชใหม่ในนามของ “Lost decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” จากการบริหารงานที่ผิดพลาดของภาครัฐ อันเนื่องมาจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เข้มข้น ธนาคารกลางตัดสินใจใช้ “ยาแรง” เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทันที ทำให้ทุกภาคส่วนในขณะนั้นถูก “ชัตดาวน์” เข้าสู่ “ทศวรรษที่หายไป” ทิ้งร่องรอยความเสียหายมาจนถึงปัจจุบันแม้จะผ่านเวลามาหลายสิบปีแล้วก็ตาม

ปี 2023 “ทศวรรษที่หายไป” ได้เกิดขึ้นอีกครั้งกับ “จีน” ประเทศมหาอำนาจที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูสีมากับเบอร์หนึ่งโลกอย่าง “สหรั​ฐ” จนเกิดการถ่วงดุลอำนาจพร้อมทั้งนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างแข็งขัน ดินแดนมังกรทองกลายเป็นประเทศที่ทรงพลานุภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ความรุ่งเรืองของภาคอสังหาริมทรัพย์ กำลังซื้อภายในประเทศที่ถึงพร้อม รวมถึงประชากรจีนยังมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามากมาย โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึง “ไทย” ด้วย

อย่างไรก็ตาม “ขาลง” ของจีนเริ่มฉายชัดขึ้นหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะเขย่ากราฟเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก แต่ประเทศแผ่นดินใหญ่ที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษเนื่องจากมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายสำนักว่า หลังเปิดประเทศ “จีน” จะกลับมาสยายปีกอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ทว่า ประมาณการดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้นจริง มิหนำซ้ำเศรษฐกิจยังส่อแววถูก “แช่แข็ง” จนเกิดปรากฏการณ์ “Lost decade” ทศวรรษที่หายไปของจีนอาจเลวร้ายกว่าที่คิด

‘จีน’ แช่แข็ง สู่ยุค ‘Lost decade’ เกิดน้อย แก่เยอะ กลายร่าง ‘มังกรทองปีกหัก’

  • มรดกหนี้ก้อนโตส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ทำบริโภคภายในซบเซา-เศรษฐกิจอ่อนแอ

“นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น” ความตอนหนึ่งจากบทวิเคราะห์ของ “เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล” (The Wall Street Journal) ขมวดถึงสถานการณ์ของจีนในขณะนี้ หากมองอย่างผิวเผินอาจพบว่า เศรษฐกิจจีนที่ซบเซาเริ่มเห็นเค้าลางเป็นรูปเป็นร่างในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 หลังจากที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนไม่เป็นไปตามคาด

ทว่า ในความเป็นจริงแล้ววิกฤติโควิด-19 หรือการปิดประเทศอันยาวนานเป็นเพียง “ชนวน” ที่ทำให้ “ระเบิดใต้พรม” ปะทุตัวเร็วขึ้นเท่านั้น วอลล์สตรีทเจอร์นัลมองว่า ความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจจีนมีมายาวนาน จีนดำเนินเศรษฐกิจผ่านการกู้ยืมและลงทุนจำนวนมหาศาลในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อผล คือ อสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงมาสักระยะแล้ว

ถนนที่มุ่งหน้าสู่ “Lost decade” ของจีนคล้ายคลึงกับ “ญี่ปุ่น” ตรงที่เกิดกระแสเก็งกำไรต่อเนื่องในภาคธุรกิจ สำหรับ “จีน” ที่ภาคอสังหาฯ กินสัดส่วนมากถึง 25-30 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี เมื่อวันหนึ่งเศรษฐกิจในเซคเตอร์ดังกล่าวหดตัวลง เม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนนี้จึงกลายเป็นตัวฉุดรั้งสำคัญ ซึ่งอันที่จริงวิกฤติ “Evergrande” เป็นลางบอกเหตุได้ดีว่า นี่คือ “โดมิโน” ที่อาจล้มสะเทือนหมากตัวอื่นในกระดานต่อไปเรื่อยๆ แต่ “จีน” ก็อยู่ในจุดที่ “น้ำท่วมปาก” เพราะหากบังคับให้บริษัทเหล่านี้ปิดตัวลง การผิดนัดชำระหนี้ก็จะสร้างความเสียหายให้กับสถาบันการเงิน การปลดคนงานก็จะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจมากขึ้นไปอีก แต่หากปล่อยไว้บริษัทเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ “Zombie Firm” สิ้นเปลืองทรัพยากรทางเศรษฐกิจไม่ต่างกัน

ภายหลังภาวะซบเซาต่อเนื่องตลอดไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นในประเทศขณะนี้ต่ำกว่าปี 2007 กำไรกลับไปมีมูลค่าเทียบเท่ากับปี 2013 นักลงทุนเทขายหุ้นกระหน่ำจนทำให้ “หุ้นจีน” เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีมูลค่าต่ำที่สุดในโลก สำหรับการบริโภคภายในประเทศก็ซบเซาต่อเนื่องเช่นกัน ประชาชนหันมาเก็บเงินสดมากขึ้น ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง หายนะของภาคอสังหาฯ กลายเป็น “หนี้ก้อนโต” ที่คนรุ่นหลังต้องแบกรับ ภาวะเงินฝืดปรากฏขึ้น คนทำงานในระบบทยอยแก่ตัวลง คนรุ่นใหม่ไม่นิยมมีลูก ประชากรผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ

เจมส์ แม็คอินทอช (James Mackintosh) นักวิเคราะห์ด้านการตลาดระดับอาวุโสระบุว่า 3 ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศเติบโต ได้แก่ คนมากขึ้น ทุนมากขึ้น และคนหรือทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับ “จีน” เห็นชัดแล้วว่า ประชากรในขณะนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จะไม่มีแรงงานในระบบเพิ่มขึ้นเร็วๆ นี้ ส่วนการทุ่มทรัพยากรเข้าสู่ระบบก็อาจทำให้เกิดปัญหามากขึ้นไปอีก เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลและบริษัทเอกชนกู้ยืมเงินมากเกินไป ด้านบทบาท “โรงงานโลก” จีนได้ประสบปัญหาสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่ตัวเลขการส่งออกในเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ อาจพูดได้ว่า “จีน” ในขณะนี้ถึงคราว “จนมุม” แล้วหรือไม่

‘จีน’ แช่แข็ง สู่ยุค ‘Lost decade’ เกิดน้อย แก่เยอะ กลายร่าง ‘มังกรทองปีกหัก’

  • คนเกิดน้อย คนแก่มีมาก เกษียณไปไม่มีเงินใช้

สมัยก่อนเราอาจคุ้นเคยกับวิถีครอบครัวคนจีนที่มีลูกหลานเต็มบ้าน กระทั่งรัฐบาล “เติ้ง เสี่ยงผิง” ประกาศนโยบาย “ลูกคนเดียว” หากครอบครัวใดฝ่าฝืนจะถูกเปรียบเทียบปรับอย่างหนัก แต่ปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา “จีน” เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากข้อบังคับอันเข้มงวดสู่การปลดล็อกนโยบาย “ลูก 3 คน” เมื่อถึงคราวที่ประเทศเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น สวนทางอัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ

จากข้อมูลที่มีการเผยแพร่โดยทางการจีนระบุในปี 2020 ระบุว่า ประเทศจีนมีอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fetility Rate หรือ “TFR”) ที่ 1.3 คน เทียบเท่าญี่ปุ่นในปัจจุบัน และปี 2021 ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลงไปอีก เฉลี่ยที่ 1.16 คน ซึ่งหากมองไปรอบๆ ตัวแล้ว “จีน” ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญกับอัตราการเกิดต่ำ แต่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกหลายแห่งรวมถึงญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ทว่า สำหรับ “ญี่ปุ่น” แตกต่างตรงที่ประเทศเข้าสู่ภาวะดังกล่าวในขณะที่ประเทศมีรายได้เฉลี่ยระดับสูง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสุขสบาย

“ลอเรน จอห์นสตัน” (Lauren Johnston) รองศาสตราจารย์ประจำศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ให้ข้อมูลว่า “ญี่ปุ่น” แก่ตัวลงหลังจากที่ผ่านความร่ำรวยมาแล้ว ผู้สูงอายุในยุคหลังสงครามหรือ “เบบี้ บูมเมอร์” ใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างสุขสบายเมื่อเทียบกับคนเจเนอเรชันหลัง ในทางตรงกันข้าม “จีน” ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ “แตกต่างเหมือนกัน”

กล่าวคือ มีวิกฤติประชากรเหมือนกับญี่ปุ่น แต่สภาพเศรษฐกิจของจีนยังไม่ได้เป็นประเทศรายได้สูง จำนวนประชากรที่ลดลงจึงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุที่ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานแล้วจะต้องเป็นส่วนที่เข้ามาเฉลี่ย “ก้อนเค้ก” ร่วมกับคนวัยทำงานที่น้อยลง หายนะจะเริ่มเห็นชัดขึ้นหลังจากจำนวนแรงงานในระบบลดหลั่น กองทุนบำนาญเหือดแห้ง และระบบสาธารณสุขจะต้องแบกรับภาระที่มากขึ้น

“สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์เซี่ยงไฮ้” (Shanghai Academy of Social Sciences) คาดการณ์ว่า ประชากรจีนจะลดลงเหลือ 587 ล้านคนภายในปี 2100 ซึ่งน้อยลงกว่าปัจจุบันถึงครึ่งหนึ่ง โดยสถาบันฯ คำนวณออกมาเป็นสัดส่วนเทียบเคียงให้เห็นถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นว่า ถึงเวลานั้นคนหนุ่มสาววัยทำงาน 100 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวน 120 คน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ “เกินตัว” อยู่ไม่น้อย แม้ทางการจีนจะออกนโยบายสนับสนุน-ส่งเสริมการมีบุตร แต่มาตรการเหล่านั้นกลับไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้หนุ่มสาวชาวจีนได้ “เงินที่ให้มาไม่พอซื้อนมผงเด็กด้วยซ้ำ” คือคำบอกเล่าของหญิงสาวในเมืองเซินเจิ้นที่มีลูกสาววัย 4 ขวบ และไม่คิดวางแผนมีเพิ่มอีก 

ในมุมของ “หยุน โจว” (Yun Zhou) นักประชากรศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) ระบุว่า การบังคับขู่เช็ญหรือจูงใจให้มีบุตรเพิ่มไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่ควรเป็นการคำนึงถึงสวัสดิภาพของประชากรที่มีอยู่ด้วย 

‘จีน’ แช่แข็ง สู่ยุค ‘Lost decade’ เกิดน้อย แก่เยอะ กลายร่าง ‘มังกรทองปีกหัก’

  • “จุดสิ้นสุด” ของกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก?

แม้โครงสร้างประชากรของจีนในขณะนี้จะคล้ายกับญี่ปุ่นเมื่อทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “ญี่ปุ่น” เผชิญกับ “ทศวรรษที่หายไป” แต่ความแตกต่าง คือ ญี่ปุ่นมี “Safety Net” ทางเศรษฐกิจที่พัฒนามาอย่างดี ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์เศรษฐกิจและธุรกิจญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยโคลอมเบีย (Columbia University) ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับจีนในขณะนี้ คือ ความยากจนของประชากรผู้สูงอายุ รัฐจะรับมือกับความยากจนที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร

ด้านอดีตเจ้าหน้าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “IMF” ให้ความเห็นกับ “Business Insider” ว่า นี่อาจถึงจุดสิ้นสุดของ “จีน” ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกที่ทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทั้งยังเคยเป็น “แรงหนุน” ให้กับภาคการบริโภคของประเทศอื่นๆ ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจซบเซาของจีนสร้างความกังวลให้กับหลายประเทศ ทำเอานักลงทุนต่างชาติย้ายออกจากจีนไม่น้อยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีความพยายามวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการออกพันธบัตรพิเศษมูลค่าราว 1 ล้านล้านหยวน หรือ 140,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นหนี้ และยังผ่อนคลายกฎข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น “จีน” ตั้งเป้าจบปี 2023 ด้วยตัวเลขจีดีพี 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็นับเป็นโจทย์ยากในการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจขณะนี้

เพราะดูเหมือนว่า “จีน” ได้เข้าสู่ช่วงเวลาของ “ทศวรรษที่หายไป” เรียบร้อยแล้ว

 

อ้างอิง: American Enterprise InstituteAsia NikkeiMarkets InsiderReutersThink ChinaThe Wall Street Journal