‘จีน’ ส่อแวว ‘หยุดหายใจ’ หลังเศรษฐกิจซึมยาว ทรุดหนัก รอปาฏิหาริย์
จับชีพจร “เศรษฐกิจจีน” หลังเปิดประเทศร่วมครึ่งปี นักวิเคราะห์ชี้ การฟื้นตัวอ่อนแอ นำเข้า-ส่งออกชะลอตัว หนี้สูง เจอวิกฤติฟองสบู่อสังหาฯ กำลังซื้อภายในประเทศลด ความหวังสู่การเป็น “กลไกโลก” อาจไม่เกิดขึ้น หนุ่มสาวตกงานเป็นประวัติการณ์-ปาฏิหาริย์ริบหรี่เต็มที
Key Points:
- เศรษฐกิจจีนทรุดลงต่อเนื่อง จากที่เคยเป็น “ความหวัง” ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ผลปรากฏว่า ตอนนี้จีนซบเซา-ซึมยาว ทั้งการบริโภคภายในประเทศ นำเข้า-ส่งออก รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
- ที่ผ่านมาจีนเน้นการพึ่งพาภาคอสังหาฯ เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP เมื่ออสังหาฯ เกิด “ฟองสบู่แตก” เศรษฐกิจจีนจึงขาดเครื่องยนต์ตัวหลักไป
- นักวิเคราะห์มองว่า สิ่งเดียวที่จะทำให้จีน “โผล่พ้นน้ำ-ขึ้นมาหายใจ” คือ ต้องมุ่งหน้า พัฒนาการส่งออกให้ได้ สำหรับการบริโภคภายในประเทศคงพึ่งพาได้ยากขึ้น เนื่องจากตอนนี้จีนกำลังเผชิญกับปัญหาคนหนุ่มสาวว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 “จีน” เคยถูกประเมินว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะสามารถโค่นสหรัฐลงจากตำแหน่ง “มหาอำนาจโลก” ปักธงสู่การเป็น “เบอร์ 1” ได้ไม่ยากนัก แต่หลังจากจีนและทั่วโลกต้องรับมือกับ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่ไวรัสโควิด-19 ทิ้งร่องรอยไว้ก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกชะลอตัวไปตามๆ กัน
บทความที่น่าสนใจ :
- ‘ขับเบนซ์’ เท่ากับ ‘รวย’ วิถีเห่อรถหรูในเกาหลีใต้ ‘รถเยอรมัน’ ครองแชมป์
- ‘AI’ เริ่มแย่งงาน ‘ก๊อปปี้ไรเตอร์’ สวนความเชื่อ ‘สายครีเอทีฟ’ ไม่มีวันตกงาน
- ‘BIG4’ เผชิญวิกฤติขาดแคลน ‘ออดิทรุ่นใหม่’ ลาออก เงินน้อย - ความรับผิดชอบสูง
แม้กระทั่งกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอย่าง “สหรัฐ” เองก็เจอกับมรสุมจนต้องมีการขยายเพดานหนี้อีกครั้ง ขณะที่ประเทศคู่รักคู่แค้นอย่าง “จีน” ก็ถูกยกขึ้นแท่นพระเอก-ความหวังใหม่ โดยเฉพาะกับประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิกที่มีความเชื่อมั่นว่า จีนจะสามารถฟื้นตัวจากการปิดประเทศได้ไม่ยากนัก
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจีนเปิดประเทศกลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยช่วงกลางสัปดาห์ของเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา จีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองภายในสัปดาห์เดียวกันหลังคนหนุ่มสาวต้องเผชิญกับวิกฤติว่างงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปัจจุบันสถิติคนว่างงานอยู่ที่ 20.8 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้เป็นคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 18-24 ปี 20.4 เปอร์เซ็นต์ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งนิยามว่า สถานการณ์จีนตอนนี้กำลังอยู่ในช่วง “the last gasps” คือ อยู่ได้ด้วยลมหายใจอันรวยริน
- อสังหาฯ ล้ม ส่งออกชะลอตัว “จีน” ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ปลายปี 2565 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มการเติบโตเป็นกราฟ “หักหัวลง” หรือ “Square Root Shape” ด้วยผลสะเทือนจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น แต่ไม่นานหลังจากเปิดประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เศรษฐกิจจีนก็ค่อยๆ ส่งสัญญาณบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขยายตัวราว 4.5 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทำให้ทั่วโลก “ใจชื้น” และเริ่มมีความหวังว่า จีนจะเป็นความหวังในการขับเคลื่อนได้
แต่ความหวังที่ว่านั้นก็สิ้นสุดลง เมื่อไตรมาสที่ 2/2566 ตัวเลขทางเศรษฐกิจอ่อนกำลังลง การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “โรงงานโลก” ก็ไม่ได้คึกคักมากนัก การนำเข้า-ส่งออก โดยเฉพาะ “ส่งออก” ที่เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวหลักของจีนกลับชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด หนี้ที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เริ่มก่อร่างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์หลักของการบริโภคภายในประเทศก็เกิดปัญหา “ฟองสบู่แตก” ไปเรียบร้อย
ที่ผ่านมา การลงทุนในภาคอสังหาฯ ทั้งกว้านซื้อบ้านและคอนโดฯ เพื่อการอยู่อาศัย รวมถึงซื้อเพื่อเก็งกำไรได้รับความนิยมในหมู่ชาวจีนมาโดยตลอด แม้ฉากหน้าจะเต็มไปด้วยความคึกคักทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ “เนื้อใน” ของความเฟื่องฟูครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยหนี้ก้อนโต ฝั่งผู้พัฒนาโครงการก็ต้องมีเรื่องของสินเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้านผู้ซื้อก็มีการหยิบยืมเงินในอนาคต-สร้างหนี้เพื่อถือครองทรัพย์สิน ทำให้ตัวเลข GDP จีนมีแนวโน้มการเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ “Nominal House Price” หรือดัชนีราคาที่อยู่อาศัย พูดง่ายๆ ก็คือ เติบโตได้ด้วยการก่อหนี้ของประชากรนั่นเอง โดยมีสัดส่วนต่อ GDP มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์
“Business Insider” วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจซบเซาของจีนในขณะนี้ไม่เพียงเป็น “ไฟที่มอดลง” ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนแบบเดิมได้หายไปแล้ว เมื่อกลไกที่คอยทำหน้าที่ผลักดัน-พยุงเศรษฐกิจอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ทลายลง โดมิโนตัวต่อมาที่ได้รับผลสะเทือนก็คือ ภาคครัวเรือน การธนาคาร รวมถึงเครือข่ายขนาดใหญ่ของรัฐบาลท้องถิ่น “Business Insider” เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “กระบวนการดูดซับความสูญเสียอันเจ็บปวด” เพราะการล้มลงของหนึ่งสิ่ง ส่งผลสะเทือนไปอีก “หลายสิ่ง”
ขณะเดียวกัน การส่งออกที่เป็นกุญแจสำคัญก็ทำให้ขยับตัวได้ลำบากจากความขัดแย้งระหว่าง “จีน-สหรัฐ” ที่ลากยาวมาตั้งแต่สงครามการค้าและนโยบาย “Protectionism” ของสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่โลกขับเคลื่อนด้วยโลกาภิวัฒน์ (Globalization) แต่ปัจจุบันหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจเลือกชู “Protectionism” กีดกันทางการค้าเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศตนเอง จีนจึงตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาด้วยการฉีดกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่ายาเข็มนี้จะสายเกินแก้ไปเสียแล้ว
- อนาคตของจีนที่ต้องรอคอย “ปาฏิหาริย์”
ภาวะฝุ่นตลบของเศรษฐกิจจีนในขณะนี้เป็นการ “หักปากกาเซียน” ครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะช่วงต้นปี 2566 “มอร์แกน สแตนลีย์” (Morgan Stanley) “โกลด์แมน แซคส์” (Goldman Sachs) และ “ธนาคารแห่งอเมริกา” (Bank of America) ผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะครอบงำประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ “จีน” จะเป็นข้อยกเว้น และการเปิดประเทศในปี 2566 จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่ผ่านมา โดยมองว่า จีนจะเติบโตพุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 17 ปี ซึ่งในเวลาต่อมาก็พบว่า เศรษฐกิจจีนหดตัวอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
แม้ประเทศจะกลับสู่การดำเนินกิจกรรมตามปกติแต่นั่นก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ที่ผ่านมา “ปักกิ่ง” เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจีนพยายามปรับเปลี่ยน “หัวรถจักร” ประเทศ ด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในเหมือนกับสหรัฐแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลัง และยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นจากสถิติตัวเลขการนำเข้าที่ลดลง ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึง “สุขภาพเศรษฐกิจ” ที่ชะลอตัวลง
ความกังวลของชาวจีนกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาครั้งนี้สะท้อนออกมาผ่านรายงานข่าวของซีเอ็นเอ็น (CNN) ที่ได้มีการระบุว่า ขณะนี้คนหนุ่มสาวชาวจีนหลั่งไหลเข้าไปไหว้ขอพรกันที่วัดพุทธและลัทธิเต๋าอย่างล้นหลาม โดยส่วนใหญ่มักอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้พวกเขาได้งานทำ สอบติดเข้าเรียนในที่ที่หวังไว้ รวมถึงขอให้ร่ำรวยภายในชั่วข้ามคืนด้วย
“No school-going, no hard-working, only incense-burning” หรือ “ไม่ไปโรงเรียน ไม่ทำงานหนัก จุดธุปเท่านั้น” คือแฮชแท็กยอดนิยมบนโซเชียลมีเดียของชาวจีน โดยความนิยมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา เชื่อมโยงกับอัตราการว่างงานที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากสถิติการไหว้ขอพรแล้ว ยอดขายลอตเตอรีในเดือนเมษายน 2566 ยังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ มูลค่ารวม 50.33 พันล้านหยวน หรือ 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงการคลังจีนระบุว่า นี่คือยอดขายที่สูงที่สุดในรอบทศวรรษด้วย
นักวิเคราะห์มองว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ “การค้า” สำคัญต่อจีนอย่างยิ่ง การส่งออกจะเป็นตัวแปรในการดึงเม็ดเงินการลงทุนจากภายนอกเข้ามา แต่ในขณะเดียวกันจีนก็ต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างคู่ค้ารายใหญ่อย่าง “สหรัฐ” และยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นจากอัตราการนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐในปี 2565 ที่ลดลงจากปีที่ผ่านมากว่า 20 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ดี ทั่วโลกยังคงต้องพึ่งพาจีนอยู่ไม่น้อย การย้ายฐานการผลิตออกจากจีนสุ่มเสี่ยงและต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ความซับซ้อนเหล่านี้จะเป็นปัญหาให้กับนักลงทุนมากกว่า แต่หากปาฏิหาริ์ยที่รอคอยไม่เกิดขึ้น บาดแผลและความเจ็บปวดก็จะยิ่งฝังลึกให้กับนักลงทุนและตลาดไม่น้อยเหมือนกัน
เมื่อเสถียรภาพน้อยลง สิ่งเก่าเริ่มโรยรา โลกก็จำต้องค้นหาแหล่งอนุบาลการเติบโตแห่งใหม่ไว้ด้วย
อ้างอิง: Bangkokbiznews, Business Insider, CNN 1, CNN 2, Market Business Insider, Reuters