ศก.จีนโตชะลอ เหตุรัฐมุ่งลดหนี้ เน้นการบริโภคในประเทศ เม็ดเงินมาไทยส่อฮวบ 

ศก.จีนโตชะลอ เหตุรัฐมุ่งลดหนี้ เน้นการบริโภคในประเทศ เม็ดเงินมาไทยส่อฮวบ 

ข้อมูลเผยเศรษฐกิจจีนโตชะลอสวนทางกับไตรมาส 1 ท่ามกลางภาครัฐลดดอกเบี้ยกระตุ้น ศก. ด้าน “ดร.กิริฎา” ยังเชื่อเศรษฐกิจจีนยังโตอยู่และเป็นความหวังไทย ส่วน “ดร.จิติพล” ระบุจีนโตช้าเพราะรัฐลดการสร้างหนี้ รวมทั้งหากรัฐบาลกระตุ้น ศก. จริงเม็ดเงินเข้าไทยส่อฮวบ 

Key Points

  • ช่วงต้นปี นักวิเคราะห์ต่างตกใจกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของจีน
  • กราฟการเติบโตเริ่มหักหัวลงในช่วงไตรมาส 2 
  • จีนลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • นักเศรษฐศาสตร์มองเศรษฐกิจยังไปได้เรื่อยๆ

หากย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักต่าง “ตื่นเต้น” กับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวถึง 4.5% (เทียบรายปี) สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 4% จนทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่าเศรษฐกิจจีนทั้งปี 2566 จะโตในลักษณะ V-Shape โดยขยายตัวมากกว่าตัวเลขที่รัฐบาลจีนประเมินไว้ที่ประมาณ 5 - 5.5% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid)

ประกอบกับตัวเลขการค้าปลีกของจีนในไตรมาสแรกก็ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 10% ส่งสัญญาณถึงความต้องการซื้อภายในประเทศที่เริ่มกลับมา จนบรรดานักวิเคราะห์มองว่าเป็นตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ปรับตัวสดใสมากขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามคาดการณ์การเติบโตแบบ V-Shape เมื่อต้นปีต้องสะดุดลงเพราะตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน เม.ย. กลับมาชะลอตัวอีกครั้งจากภาคการบริโภค การส่งออก และภาคการผลิตที่ย่อตัว สำทัพกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ขยายตัวตามคาด

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) ต้องลดอัตราดอกเบี้ยการซื้อคืนแบบย้อนกลับ (Reverse Repurchase Rate) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นแบบ 7 วัน ลง 0.10% สู่ระดับ 1.9%  เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน 

ประกอบกับเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา พีบีโอซี ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางแบบ 1 ปี (MLF) ลงครั้งแรกในรอบ 10 เดือน จากเดิมอยู่ที่ 2.75% สู่ระดับ 2.65% เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอ จากผลกระทบการปิดเมืองในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และกับสหรัฐ

บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า การปรับลดดังกล่าวเป็นความพยายามพยุงเศรษฐกิจ เพราะเอ็มเอลเอฟ เป็นอัตราดอกเบี้ยในโครงการปล่อยกู้ซึ่งมีเป้าหมายให้พีบีโอซี สามารถอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบธนาคาร และมีผลบ่งชี้ต่ออัตราดอกเบี้ยประเภทอื่น ๆ ในระบบธนาคารของจีน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมาธนาคารยักษ์ใหญ่ของหลายประเทศออกมาปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจจีนลงจาก “ภาพรวม” เศรษฐกิจในประเทศจีนช่วงไตรมาส 2 ที่ได้เติบโตสอดคล้องกับความคาดหวังของนักวิเคราะห์ แม้เมื่อไม่นานมานี้ทางการจีนจ่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศครั้งใหญ่ก็ตาม

 

โดยโกลด์แมน แซกส์ ปรับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2566 ลงจาก 6.0% เป็น 5.4% ธนาคารยูบีเอส ปรับจาก 5.7% เป็น 5.2% แบงก์ออฟอเมริกาปรับจาก 6.4% เป็น 5.7% เจพีมอร์แกนปรับลงจาก5.9% เป็น 5.5% โนมูระ ปรับลดจาก 5.5% เป็น 5.1% และสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ปรับลงจาก 5.8% เป็น 5.4% 

ด้าน ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยกล่าวไว้ในงาน “Investment Forum : New Chapter, New Opportunity” ของกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. เกี่ยวกับประเด็นการเติบโตของเศรษฐกิจจีนว่า 

“จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก นับเป็นความหวังของหมู่บ้าน เพราะเศรษฐกิจเติบโตมากกว่าปีที่แล้วอย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจจีนไม่ได้โตอย่างหวือหวาและไม่ร้อนแรงเหมือนแต่ก่อน ที่สำคัญรัฐบาลจีนมองว่าเศรษฐกิจจะโต 5%

สี จิ้นผิงไม่อยากให้เศรษฐกิจโตเยอะ เขาอยากให้กระจายความมั่งคั่งไปให้ทุกภาคส่วนไม่ใช่กระจุกตัวอยู่เพียงกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง ตามนโยบายความมั่งคั่งถ้วนหน้า (Common Prosperity) ของประธานาธิปดี”

การเติบโตแบบก้าวกระโดดไม่ใช่เป้าหมายหลักของรัฐบาลจีน จึงออกนโยบายมากมายมา “แตะเบรก” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เพื่อกระจายความมั่งคั่งให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกของจีนย่อลงอย่างร้อนแรงถึง 7.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.4% ส่วนใหญ่เป็นเพราะจีนส่งออกไปสหรัฐจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความท้าทายอย่างมากและยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ดร.กิริฎา กล่าวต่อว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะยังเติบโตแบบชะลอตัว แต่ก็ยังเป็นความหวังของหมู่บ้านและเป็นความหวังของไทย ที่สำคัญเราหวังพึ่งเขาค่อนข้างมากทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน และการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่การส่งออกไปสหรัฐยังไม่กลับมาอย่างเต็มตัว

ขณะที่ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจในประเด็นดังกล่าวว่า เศรษฐกิจจีนปีนี้อยู่ในสภาวะที่โตแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่น่าจะมีโอกาสกลับไปโตแบบ 6-7% แน่นอนในปีนี้ โดยอาจเติบโตอยู่เพียง 5.5% แม้ว่าทางการจีนจะเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลดดอกเบี้ยในส่วนที่เกี่ยวข้องก็ตาม

ปัจจุบันจีนมีปัญหาเรื่องภาระหนี้ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหนี้ท้องถิ่นล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 760 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้ปกติแล้วจีนใช้วิธีสร้างหนี้เพื่อดันให้เศรษฐกิจโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นวรจรเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ ทว่าในปัจจุบันทางการจีนไม่ต้องการสร้างหนี้เพิ่มแล้ว จึงปรับประมาณการโครงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจลง 

ดังนั้นจากปัจจัยเรื่องการลดการกู้สินเชื่อจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตแบบเดิมได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับประมาณการของบริษัทวาณิชธนกิจที่ปรับประมาณการของเศรษฐกิจจีนลง

เมื่อถามว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะกระทบกับเศรษฐกิจของไทยหรือไม่ ดร.จิติพล ระบุว่า หากรัฐบาลจีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศลง เม็ดเงินของจีนอาจไหลออกนอกประเทศยากขึ้นเพราะคนจะหันมาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้น และอาจกระทบไทยทั้งด้านการลงทุน ท่องเที่ยว รวมไปถึงการขายสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ อย่างไรก็ตามไทยก็อาจได้อานิสงส์เรื่องส่งออกไปจีนเข้ามาแทน

“เชื่อว่าทางการจีนสามารถรับมือกับการเกิดดาวน์ไซด์ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจโต 6-7% แบบเดิมคงเป็นไปไม่ได้ในช่วงนี้”