โลกแบ่งขั้วอำนาจ โจทย์ใหญ่ ‘อาเซียน’ อาเซียนต้องไม่แตกแถว

โลกแบ่งขั้วอำนาจ โจทย์ใหญ่ ‘อาเซียน’ อาเซียนต้องไม่แตกแถว

ยิ่งโลกแบ่งขั้ว อาเซียนต้องไม่แตกแถว เพราะสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามรัสเซียกับยูเครนทำให้อาเซียนต้องการด้านความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้นกว่าการพูดแบบนามธรรมในอดีต

เมื่อโลกแบ่งขั้วอำนาจ และพากันชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนต้องปรับท่าทีให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้าอย่างนั้นนโยบายการต่างประเทศของไทยต้องดำเนินไปในทิศทางใด 

กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ “บรรจบแห่งยุคสมัยการต่างประเทศ : วิถีทัศน์แห่งอาเซียน” เพื่อระดมความคิดเห็นที่แตกต่าง สะท้อนมุมมองท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในและนอกภูมิภาค รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยสำคัญในการวางยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างกัน 

“ดอน ปรมัตถ์วินัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า งานสัมมนานี้ เป็นการชุมนุมกูรูที่รอบรู้และเชี่ยวชาญด้านอาเซียนซึ่งจะมาให้มุมมองและแลกเปลี่ยนความรู้ อะไรคือ “การบรรจบแห่งยุคสมัย” และจะมีความสำคัญอย่างไรต่อสถานการณ์ในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับโลก 

 “อุศนา พีรานนท์” อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ มองว่า สถานการณ์ภายในอาเซียนที่อยู่ในจุดบรรจบแห่งยุคสมัย ท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งคำว่า “บรรจบ” เป็นคำมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า Cross roads ทำให้เข้าใจทันทีว่า การต่างประเทศของไทยกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่า เกิดขึ้นทั้งในบริบททางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก และอื่นๆหลายมิติ อย่างการเมืองไทยก็กำลังเปลี่ยนไปสู่รัฐบาลใหม่

“กวี จงกิจถาวร” ผู้เชี่ยวชาญอาเซียน และนักวิเคราะห์จากสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยโชคดีมากที่มีโฉนดอาเซียน ดังนั้นอาเซียนจึงมีดีเอ็นเอของไทยอยู่ หากมองมุมกว้างอาเซียนมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่ยอมให้ประเทศใดครอบครองในภูมิภาค 

“อาเซียนมีทีเด็ดที่ได้ดำเนินการทูตแบบเงียบ (Quiet Diplomacy)  จึงจะเห็นว่า ไม่มีใครประกาศอะไรไปก่อนล่วงหน้า จนสัมฤทธิ์ผลแล้วจึงจะเผยออกมา ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากเพราะตอนนี้จะเห็นว่า อาเซียนสำคัญมาก มีหลายประเทศรุมจีบ อาเซียนเลือกไม่ถูก จะเหมาทุกประเทศก็ไม่ได้ แต่อาเซียนมีวิธีการดีลและปกป้องไม่ให้มหาอำนาจเข้ามาครอบครองความเป็นเจ้าแห่งภูมิภาคนี้” กวี เล่า

ไทยมีโฉนดอาเซียนนั่นหมายถึงการมีบุคคลสำคัญๆจากประเทศผู้ก่อตั้องอาเซียนคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย มารวมตัวกันที่วังสราญรมย์ เพื่อลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อปี 2510

อาเซียนสนับสนุนแนวทางพหุภาคีนิยม (Multipolarity) หากไม่รู้ และไม่เข้าใจสไตล์ความร่วมมือแบบอาเซียนๆ ก็อาจไม่พอใจกับการดำเนินงานและความร่วมมือในแบบอาเซียน ในทางกลับกัน อาเซียนต้องจัดการกับความคาดหวังของผู้คนต่างๆ ในภูมิภาค เพราะจะหวังว่าอาเซียนจะทำอะไรรวดเร็วและไปไกลอย่างโซเชียลมีเดียก็คงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาถือคติช้าๆได้พร้าเล่มงาม หากอาเซียนรับปากเรื่องอะไรแล้ว อาจช้าหน่อย หรือมีเสียงตกร่องบ้าง แต่ไม่มีถอยหรือยกเลิก

“บางคนบอกว่าช้า ขอให้เข้าใจว่าเราเร่งไม่ได้ เพรายังไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างอาเซียน ถ้าถนนข้างหน้าตัดเส้นทางใหม่แล้ว เชื่อว่า ความร่วมมืออาเซียนจะรวดเร็วขึ้น”กวีกล่าวและระบุว่า ไม่เหมือนกับสหรัฐในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) แล้วกลับมาใหม่ สานความร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใหม่ ในภาพของความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก

ประเทศไทยมักจะอยู่อันดับท้ายๆของภูมิภาคที่มีความเข้าใจต่ออาเซียนในปัจจุบัน หากคนหนุ่มสาวรู้จักอาเซียนมากขึ้น ยังเป็นกลุ่มคนช่วยขับเคลื่อนและเติมเต็มจุดเปลี่ยนให้เปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตได้อย่างราบรื่น

ท่ามกลางการแผ่อิทธิพลของมหาอำนาจในอินโด-แปซิฟิกทำให้อาเซียนต้องปรับท่าทีให้เข้ากับสถานการณ์ กวีชี้ให้เห็นว่า อาเซียนจำเป็นต้องเพิ่มความสำคัญกับสถานภาพของประเทศที่อยู่ในพื้นที่ภูมิรัฐศาสตร์ อย่างการยกสถานภาพของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อียู นิวซีแลนด์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้เพิ่มมากขึ้น 

แต่สำหรับรัสเซีย เป็นประเทศที่มีความด่างพร้อย และในช่วงที่ผ่านมามอสโกพยายามผลักดันความมั่นคงในทุกรูปแบบยาวนาน 32 ปี เช่น การโปรโมทแปซิฟิกคองคอร์ทที่ตนเองส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้อยู่ แต่ปรากฏว่า ไม่มีประเทศไหนในอาเซียนเอาด้วย

“รัสเซียเป็นประเทศที่อาเซียนเกรงใจ และไม่อยากเป็นศัตรูกับมหาอำนาจในยุโรปตะวันตก ที่มีความยิ่งใหญ่ในสายตาของภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลางและละตินอเมริกา” กวีกล่าวและย้ำว่า นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องปรับท่าทีรักษาสมดุลให้ได้

กวีย้ำว่า ยิ่งโลกแบ่งขั้ว อาเซียนต้องไม่แตกแถว และอาจต้องพิจารณาการเข้าร่วมพันธมิตรทางการทหาร นี่เป็นประเด็นค่อนข้างละเอียดอ่อนมาก แม้อาเซียนจะไม่เป็นองค์การด้านความมั่นคงที่ชัดเจนอย่างนาโต เพราะสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามรัสเซียกับยูเครนทำให้อาเซียนต้องการด้านความมั่นในภูมิภาคมากขึ้นกว่าการพูดแบบนามธรรมในอดีต เช่นการพูดถึงอิทธิพลสหรัฐหรือจีน ทำให้เห็นตัวอย่างชัดเจน เมื่อนาโตต้องการตั้งสำนักงานในภูมิภาคเรา จึงจำเป็นที่อาเซียนต้องแสดงจุดยืนร่วมกัน