'ไทย-อินเดีย'แข่งเดือด ดึงลงทุนเซมิคอนดักเตอร์โลก

'ไทย-อินเดีย'แข่งเดือด ดึงลงทุนเซมิคอนดักเตอร์โลก

'ไทย-อินเดีย'แข่งเดือด ดึงลงทุนเซมิคอนดักเตอร์โลก โดยประเทศไทยถูกมองว่าวางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้หลายบริษัทจากญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ เข้ามาหารือเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไทย

ขณะนี้ไทยและอินเดีย แข่งกันชิงเม็ดเงินลงทุนด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รับแนวโน้มลดการพึ่งพาระบบห่วงโซ่อุปทานด้านนี้จากจีน

ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เกี่ยวกับการถ่ายทอดและส่งออกเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงทำให้อินเดียมองเห็นโอกาสในการเป็นฐานการผลิต เพื่อให้ได้ประโยชน์จากผู้เล่นรายใหญ่ด้านเทคโนโลยีชิป ที่ต้องการทางเลือกใหม่ในระบบซัพพลายเชน

ในพิธีวางศิลาฤกษ์อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อินเดียปี2566 ช่วงปลายเดือนก.ค. ที่ผ่านมา “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีอินเดีย ประกาศจุดยืนและแสดงจุดแข็งของประเทศ ด้วยการตั้งเป้าให้อินเดียเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตชิปโลก

“ใครจะเป็นพาร์ทเนอร์ที่น่าเชื่อถือได้มากไปกว่าประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลกอย่างเรา?” โมดี กล่าวทิ้งท้ายในงานวางศิลาฤกษ์

หากดูความตั้งใจจริงของอินเดียในเรื่องนี้ก็จะเห็นว่าจริงจังมาก โดยเมื่อปี 2564 คณะรัฐมนตรีของโมดี อนุมัติงบประมาณ 760,000 ล้านรูปี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และจอแสดงผล และจากนั้นบริษัทชั้นนำหลายแห่งก็เริ่มประกาศแผนลงทุน เริ่มจากไมครอน เทคโนโลยี บริษัทผลิตชิปสัญชาติอเมริกัน ประกาศเมื่อเดือน มิ.ย.ว่า บริษัทเตรียมสร้างโรงงานผลิตชิปในรัฐคุชราฏ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีกำหนดเริ่มทำการผลิตได้ในปี 2567

ขณะที่มีรายงานว่า หงไห่ พรีซิชัน อินดัสทรี หรือฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทผลิตชิปของไต้หวัน กำลังร่วมทุนกับแอปพลาย แมททีเรียลส์ บริษัทผลิตอุปกรณ์ทำชิปสัญชาติอเมริกัน เพื่อผลิตเครื่องจักรในรัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดียเช่นกัน แต่ด้วยความกังวลที่ฝังรากลึกเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของอินเดีย เช่น ไฟฟ้า ฟ็อกซ์คอนน์จึงยกเลิกแผนลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กับอินเดีย

แต่ “โนโบรุ โยชินากะ” รองประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารดิสโก บริษัทผลิตอุปกรณ์ทำชิปสัญชาติญี่ปุ่น มองต่างมุมออกไป โดยเห็นว่า ผู้เล่นอเมริกันหลายราย กำลังขยายธุรกิจในอินเดีย แสดงให้เห็นว่า การลงทุนด้านอุตสาหกรรมชิปในอินเดียเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

“อาชวินี วาอิชนอว์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศอินเดีย ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิ เมื่อเดือน ก.ค. เกี่ยวกับแผนดึงดูดการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ และการพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น โดยอ้างถึงความพร้อมด้านแรงงานของวิศวกรออกแบบเซมิคอนดักเตอร์อินเดีย ที่ได้รับการฝึกจากสถาบันเทคโนโลยีในประเทศ ว่า“เราต้องประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์แน่นอน และเราจะทำให้เป็นบทเรียนที่สามารถนำไปปรับใช้กับโครงการอื่นๆได้”

\'ไทย-อินเดีย\'แข่งเดือด ดึงลงทุนเซมิคอนดักเตอร์โลก
 

อินเดียเพิ่มความร่วมมือกับญี่ปุ่นมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีหลายบริษัทที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผลิตแผ่นเวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ผลิตชิป ประกอบกับรัฐบาลอินเดียและญี่ปุ่นได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์เมื่อเดือน ก.ค.

“อองตวน ฮูเชซ” ผู้จัดการอาวุโสด้านกลยุทธ์การเติบโต จากฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและวิเคราะห์การเติบโต บอกว่า อินเดียมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะดึงดูดการลงทุนผลิตชิปและเศรษฐกิจของอินเดียก็มีอัตราการเติบโตสูง

ส่วนประเทศไทย “นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) หรือผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบายลงทุนต่างชาติของไทย มองว่า เซมิคอนดักเตอร์เป็นหนึ่งในสินค้าที่สำคัญที่สุดของโลก

ในการส่งเสริมการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รัฐบาลไทยขยายระยะเวลาลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยให้บริษัทผลิตชิปหลายแห่งได้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น บริษัทต้นน้ำของซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ที่เข้าสุ่อุตสาหกรรมการผลิตในไทย ตอนนี้ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 13 ปี จากเดิมได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 8 ปี

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการดึงดูดบริษัทที่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นต้นได้ เช่น บริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์และแผ่นเวเฟอร์ ซึ่งกระบวนการผลิตชิปขั้นต้นเหล่านี้ ถือเป็นการผลิตที่มีความก้าวหน้าทางเทคนิค สูงกว่ากระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นเพียงกระบวนการตัดชิปและแพ็คชิปเพื่อจำหน่าย

นฤตม์ เผยว่า ประเทศไทยถูกมองว่าเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลางต่อสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน จึงทำให้หลายบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ เข้ามาพูดคุยเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย

สื่อไทย รายงานว่า บีโอไอเคยจัดประชุมกับไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง โค (ทีเอสเอ็มซี) โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายโรงงานผลิตชิปในประเทศไทย ซึ่งนฤตม์ ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการหารือประเด็นดังกล่าว

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่น ด้วยการดึงดูดโรงงานประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเออร์อื่น ๆ เพราะทั่วโลกคาดว่า อุตสหากรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะต้องใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์ มากกว่ายานยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน ดังนั้น อุตสาหกรรมอีวีในท้องถิ่น อาจทำให้ประเทศไทยได้เปรียบในด้านกำลังการผลิตที่มีอยู่มาก

หลายปีมานี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ทั้งไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่ จะมีอุตสาหกรรมผลิตชิปขั้นต้น 

ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นศูนย์กลางการผลิตชิปขั้นสุดท้าย และตอนนี้บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ ต่างปรับกลยุทธทางธุรกิจท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ด้วยการหันมาลงทุนในเอเชียมากขึ้น ซึ่งอินเดียและไทย เป็นหนึ่งในกลุ่มที่รัฐบาลของประเทศ สามารถปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของบริษัทชิป