บทบาทกษัตริย์ในการตั้งรัฐบาล กรณีศึกษาเลือกตั้งสเปน'ไม่มีพรรคแลนด์สไลด์'
ผ่านไปสามเดือนหลังเลือกตั้ง ไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เรียบร้อยแล้ว แต่การเมืองสเปนที่ไม่มีพรรคใดชนะได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งเหมือนไทย พรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งอาจไม่ได้เป็นนายกฯ ส่งผลให้กษัตริย์ทรงตกที่นั่งลำบากในการเลือกนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์ politico.eu รายงานว่า การเป็นกษัตริย์ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป กษัตริย์เฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน ปกติทรงใช้ชีวิตหรูหราในพระราชวังซาร์ซูเอลา ชานกรุงมาดริด บางครั้งทรงเปลี่ยนจากภารกิจประจำวันอย่างการเสด็จเปิดงาน ไปทรงสกีหรือร่วมงานแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติบ้าง
แต่การเมืองแตกแยกของสเปนบีบให้กษัตริย์ต้องเปลี่ยนตารางงานบ่อยขึ้น และเตรียมทำหน้าที่คนกลางผู้ชี้ขาดในประเทศที่แตกแยกทุกขณะ
ในวันจันทร์ (28 ส.ค.) พระองค์จะพบว่าตนเองเป็นจุดสนใจของประเทศในการเปิดประชุมสภา ก่อนตัดสินว่าใครจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ภารกิจดังกล่าวฟังดูเหมือนง่าย แต่การเลือกตั้งเดือนที่แล้วไม่มีผู้นำพรรคใดได้เสียงข้างมากพอจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ นั่นเท่ากับว่ากษัตริย์ต้องทรงเลือกระหว่างแคนดิเดตสองคน
อัลเบร์โต นุญเญซ เฟย์โฆโอ หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมให้เหตุผลว่า พรรคประชาชน (Popular Party) ของตนได้เสียงเป็นอันดับหนึ่ง จึงควรได้รับความเห็นชอบจากกษัตริย์ให้ตั้งรัฐบาล แต่พรรคพีพีได้เสียงในสภาไม่มากพอ แม้จะรวมกับ Vox พรรคขวาจัดแล้วก็ตาม เฟย์โฆโอไม่สามารถเอาชนะฝ่ายตรงข้ามที่ครองเสียงข้างมากในสภาสเปนได้
เปโดร ซานเชส นายกรัฐมนตรีแนวสังคมนิยมดูเหมือนอยู่ในสถานะดีกว่าที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่ก็ไม่แน่ว่าจะได้เสียงโหวตพอหรือไม่ พันธมิตรฝ่ายซ้ายของเขามีเพียง 171 เสียงจากสภา 350 เสียง
เท่ากับว่าถ้าจะตั้งรัฐบาลเขาจำเป็นต้องดึงส.ส. จากพรรคแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญา Junts มาโหวตให้ แต่พรรค Junsts ที่คาร์ลส์ ปุยก์เดอมงต์ (Carles Puigdemont) อดีตประธานาธิบดีกาตาลัญ ควบคุมอยู่ตั้งเงื่อนไขว่าจะสนับสนุนซานเชสแลกกับการนิรโทษกรรมทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการลงประชามติให้เอกราชกาตาลุญญา และรัฐบาลมาดริดต้องยินยอมให้มีการลงประชามติตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตตนเองครั้งใหม่ของชาวกาตาลัญ
พรรคสังคมนิยมกล่าวว่า ข้อเรียกร้องทั้งสองเป็นไปไม่ได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญ แต่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังยืนกราน
อกุสติน รูอิส โรเบลโด อาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยเกรนาดา กล่าวว่า สถานการณ์นี้ผลักให้กษัตริย์ฟิลิเปที่ 6 ตกที่นั่งลำบาก
"ภารกิจของกษัตริย์คือระบุตัวแคนดิเดตที่มีโอกาสได้เสียงโหวตมากที่สุดเพื่อไปตั้งรัฐบาลถ้าซานเชสพิสูจน์ได้ว่าได้เสียงสนับสนุนมากพอ เขาจะเป็นตัวเลือกที่โดดเด่น แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ล่ะ กรณีนี้ก็มีเหตุผลให้กษัตริย์ขอให้เฟย์โฆโอตั้งรัฐบาล แม้ดูเหมือนไม่สำเร็จ เพราะตอนนี้เขาคือคนที่มีเสียงสนับสนุนยืนยันแล้วมากที่สุด"
โรเบลโดกล่าวว่า การขอให้เฟย์โฆโอตั้งรัฐบาลก่อนสุดท้ายแล้วจะดีกับซานเชส เพราะเขาจะมีเวลามากขึ้นในการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญา ก่อนเสนอชื่อตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากสภาไม่เห็นชอบเฟย์โฆโอ
แอนา โรเมโร นักข่าวมากฝีมือผู้ทำข่าวราชสำนักมาหลายสิบปีกล่าวว่า ไม่ว่ากษัตริย์ตัดสินพระทัยอย่างไรก็ต้องถูกวิจารณ์อย่างหนัก
“ถ้าพระองค์เลือกเฟย์โฆโอ ฝ่ายซ้ายจะกล่าวหาว่าพระองค์เห็นใจฝ่ายอนุรักษ์ และปล่อยให้สภาเสียเวลาเสนอชื่อคนที่ไม่มีวันชนะโหวต แต่ถ้าพระองค์เสนอชื่อซานเชสทันที ฝ่ายขวาจะกล่าวหาว่าพระองค์ไม่มีกระดูกสันหลัง เอนเอียงเข้าหาฝ่ายซ้ายและพวกแบ่งแยกดินแดนที่ต้องการทำลายประเทศ ไม่ว่าทำอะไรก็โดนด่า”
โรเมโร กล่าวด้วยว่า กษัตริย์ถูกสาปที่รัชสมัยของพระองค์ถูกบดบังด้วยการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ
“ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สเปนเปลี่ยนผ่านจากระบบสองพรรค มาสู่ระบบรัฐสภาที่มีวุฒิภาวะมากขึ้นและเปราะบางมากขึ้นด้วย หลักฐานก็คือกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1 เคยได้รับการปรึกษาหารือเพื่อตั้งรัฐบาลแค่ 10 ครั้งตลอดรัชสมัย 38 ปี แต่กษัตริย์ฟิลิเปที่ 6 ทำมาแล้ว 9 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2014”
ทั้งนี้ กษัตริย์ฟิลิเปที่ 6 ครองราชย์ในปี 2014 หลังพระราชบิดา กษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1 สละราชสมบัติกะทันหันท่ามกลางเรื่องฉาวส่วนพระองค์และทรงถูกกล่าวหาใช้เงินไม่เหมาะสม
ไม่เพียงเท่านั้น ที่แตกต่างจากพระบิดาคือกษัตริย์ฟิลิเปที่ 6 ยังเจอแรงกดดันภายนอกจากกลุ่มอนุรักษนิยมและขวาจัดที่พยายามเชื่อมโยงกษัตริย์กับอุดมการณ์ชาตินิยมล้นเกิน (ultranationalist) ของพวกเขา
ทั้งซานติเอโอ อบัสคัล ผู้นำพรรคขวาจัด Vox และ อิสซาเบล ดิแอซ อายูโซ ประธานพรรค PP เขตมาดริด มักกล่าวถึงกษัตริย์เสมอในการปราศรัย และมักเปรียบเทียบเกียรติภูมิกษัตริย์กับความเสื่อมถอยของรัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายของซานเชส
คนดังฝ่ายอนุรักษนิยมเช่น คาร์เมน โลมานามักเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวา เรียกร้องให้กษัตริย์ “ไม่เอา” ซานเชส และไม่เสนอให้เขาตั้งรัฐบาลเพราะต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากนักโทษหนีคดีอย่าง "ปุยก์เดอมงต์“ ผู้ก่อการร้าย ETA และคนอื่นๆ ที่ดำรงอยู่ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นคือการทำลายล้างประเทศและรัฐธรรมนูญสเปน”
โรเบลโด อาจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแรงกดดันนี้สร้างความระคายเคืองให้กับราชสำนักที่ต้องการอยู่เหนือความขัดแย้ง
“กษัตริย์สเปนเป็นราชวงศ์บูร์บง และเมื่อพวกเขาแสดงบทบาทเกินเลย แทรกแซงกิจการประชาธิปไตยโดยมิชอบ เราพูดได้ว่า พวกเขาคือบูร์บงนันโด แต่คนสุดท้ายที่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้คือกษัตริย์อัลฟอนโซที่ 3 ปู่ของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ผู้สนับสนุนเผด็จการทหาร จนพระองค์ต้องตกบัลลังก์เมื่อสเปนกลายเป็นสาธารณรัฐในปี 1931 เฟลิเปที่ 6 จะเพลย์เซฟและทำตัวเป็นกลาง สถานการณ์น่าจะแย่สำหรับกษัตริย์สเปนถ้าพระองค์เล่นการเมือง” นักวิชาการสรุป