โมดีปลื้ม ‘ภารกิจดวงจันทร์อินเดีย’ โมเดลมหาอำนาจอวกาศ

โมดีปลื้ม ‘ภารกิจดวงจันทร์อินเดีย’ โมเดลมหาอำนาจอวกาศ

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ชมเชยนักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “จันทรายาน 3” ย้ำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ด้วยงบประมาณต่ำของอินเดียจะเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศอื่นพัฒนาโครงการอวกาศของตนเอง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ยานอวกาศ “จันทรายาน 3” ในภาษาสันสกฤต ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อวันพุธ (23 ส.ค.) ทำให้อินเดียเป็นชาติแรกที่ส่งยานไร้มนุษย์ไปลงจอดบนขั้วใต้ดวงจันทร์ที่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีใครสำรวจได้ ทั้งยังเป็นชาติที่ 4 ถัดจากสหรัฐ รัสเซีย และจีน ที่นำยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้

ความสำเร็จนี้ถือเป็นหมุดหมายล่าสุดของแผนการด้านอวกาศของอินเดีย ด้วยงบประมาณที่ต่ำกว่าที่อื่นมาก ประชาชนพากันโห่ร้องอวยชัยทั่วประเทศ นายกฯ โมดีกล่าวกับเจ้าหน้าที่ ณ อาคารองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ในเมืองเบงกาลูรู ระบุ 

“เขตแดนที่ภารกิจของเราจะสำรวจจะช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ๆ สำหรับการสำรวจดวงจันทร์ของประเทศอื่น นี่ไม่ใช่แค่เผยความลับของดวงจันทร์ แต่ยังช่วยแก้ไขความท้าทายของโลกด้วย”

ทั้งนี้ เมื่อสี่ปีก่อนการสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียเคยล้มเหลวขณะลดระดับเพื่อลงจอด ถือเป็นความเสื่อมถอยครั้งใหญ่ของโครงการอวกาศอินเดีย ส่วนในครั้งนี้โมดีชมเชยเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่เรียนรู้ความล้มเหลวจากอดีต แล้วมุ่งมั่นทำภารกิจดวงจันทร์อย่างไม่ลดละ

“ผมขอคารวะการทำงานหนัก อดทน อุตสาหะ และหลงใหลใฝ่ฝันของพวกคุณ” นายกฯอินเดีย ชื่นชมทีมงาน

 

โมดีปลื้ม ‘ภารกิจดวงจันทร์อินเดีย’ โมเดลมหาอำนาจอวกาศ

อินเดียทำโครงการอวกาศด้วยงบประมาณค่อนข้างน้อย แต่มาแรงนับตั้งแต่ส่งยานสำรวจเข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์ครั้งแรกในปี 2551 จันทรายาน 3 ต้นทุน 74.6 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,461 บาท) ต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายๆ โครงการของประเทศอื่น ทั้งยังพิสูจน์ถึงวิศวกรรมอวกาศราคาประหยัดของอินเดีย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อินเดียสามารถรักษาต้นทุนให้ต่ำได้ด้วยการลอกเลียนและดัดแปลงเทคโนโลยีที่มีอยู่ ประกอบกับมีวิศวกรทักษะสูงจำนวนมหาศาลเงินเดือนน้อยนิดเมื่อเทียบกับวิศวกรในต่างประเทศ

ถัดจากนี้ ISRO มีแผนส่งลูกเรือไปยังวงโคจรโลกเป็นเวลาสามวันภายในปีหน้า ทั้งยังมีแผนทำภารกิจร่วมกับญี่ปุ่นส่งยานสำรวจอีกหนึ่งลำไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2568 และเข้าสู่วงโคจรดาวศุกร์ภายในสองปีข้างหน้า