ปธ.ค่ายเพลงดังญี่ปุ่นลาออก เซ่นปม'ลุง'ละเมิดทางเพศศิลปินในสังกัด

ปธ.ค่ายเพลงดังญี่ปุ่นลาออก เซ่นปม'ลุง'ละเมิดทางเพศศิลปินในสังกัด

‘จูลี เคโกะ ฟูจิชิมะ’ ประธานค่ายเพลง “จอห์นนี” ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ J-Pop ของญี่ปุ่น ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบพร้อมทั้งกล่าวขอโทษกรณีเกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กฝึกงานในค่ายเพลงของผู้ก่อตั้งบริษัท

ฟูจิชิมะ วัย 57 ปี แถลงเกี่ยวกับปัญหาอื้อฉาวภายในบริษัทจอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอท หลังจากจากสื่อรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของ จอห์นนี คิตากาวะ อดีตประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท ซึ่งเป็นลุงของเธอ โดยระบุว่า “บริษัทของเรา และดิฉันยอมรับว่า จอห์นนี คิตากาวะ กระทำการล่วงละเมิดทางเพศจริง และดิฉันขอโทษเหยื่อจากก้นบึ้งของหัวใจ”

ทั้งนี้ คิตากาวะเสียชีวิตในปี 2562 ด้วยวัย 87 ปี โดยเขาถูกกล่าวหาว่า ล่วงละเมิดทางเพศเด็กชายและชายหนุ่มหลายร้อยคนในช่วงหลายสิบปี ระหว่างที่เขาเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอุตสาหกรรมเพลงป็อปของญี่ปุ่น

ประธานค่ายเพลงจอห์นนี ระบุว่า เธอลาออกจากประธานบริษัทตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และประธานคนใหม่ที่จะรับตำแหน่งแทนเธอ คือ โนริยูกิ ฮิงาชิยามะ
 

ฮิงาชิยามะ อดีตสมาชิกบอยแบนด์วง Shonentai ในยุค 1980 ของบริษัท กล่าวว่า เพื่อเผชิญความจริงที่เกิดขึ้นด้วยความจริงใจ เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งประธานในสิ้นปีนี้ และจะอุทิศชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อจัดการกับปัญหานี้

นอกจากนี้  ฟูจิชิมะยังให้คำมั่นว่า จะช่วยเหลือและดูแลเหยื่อทุกราย พร้อมทั้งช่วยเหลือศิลปินในค่ายที่ยังคงเจ็บปวดกับอดีต จึงไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับธุรกิจและการดำเนินงานใด ๆ ของบริษัทอีก

วันเดียวกันนี้ กลุ่มอดีตศิลปินของค่าย ที่อ้างว่า เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคิตากาวะ แถลงข่าวหลังการประกาศลาออกของฟูจิชิมะ โดยพวกเขา ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศของจอห์นนี ยอมรับคำขอโทษ แต่บอกว่า ไม่อาจลบความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท โดยไม่มีชื่อจอห์นนีอีกต่อไป
 

จอห์นนี แอนด์ แอสโซซิเอท ก่อตั้งขึ้นในปี  2505 และสร้างศิลปินยอดนิยมหลายคนในวงการ J-Pop ซึ่งรวมถึง SMAP และ Arashi ซึ่งทั้งสองวงมีฐานแฟนเพลงกลุ่มใหญ่มากทั่วเอเชียตะวันออก

การแถลงยอมรับของทั้งฟูจิชิมะและฮิงาชิยามะ มีขึ้นในเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการอิสระที่บริษัทตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนข้อกล่าวหานี้ และได้ผลสรุปว่า บริษัทปกปิดพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของคิตากาวะ ที่เกิดขึ้นช่วงปลายทศวรรษ 1970 ถึงกลางทศวรรษ 2010 และมีข้อเสนอแนะให้ฟูจิชิมะลาออก ด้วยความกังวลว่า สายสัมพันธ์ของครอบครัวเธอจะส่งผลต่อความพยายามปฏิรูปองค์กร

ที่ผ่านมา  คิตากาวะสามารถหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาล่วงละเมิดได้หลายสิบปี จึงจุดประเด็นสงสัยว่า อาจมีการสมรู้ร่วมคิดและการปกปิดภายในบริษัท 

ขณะเดียวกัน  สื่อกระแสหลักของญี่ปุ่นเลี่ยงนำเสนอข่าวเกี่ยวกับข้อกล่าวหานี้ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับบริษัท และกลัวผลกระทบต่อรายการโทรทัศน์และบริษัทโฆษณา ที่มีศิลปินของค่ายร่วมงานด้วย