ตรวจสอบจุดยืน ‘ไทย’ กับบทบาทระหว่างประเทศ
ตรวจสอบจุดยืน ‘ไทย’ กับบทบาทระหว่างประเทศ ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของประชาธิปไตยไทยที่มีก้าวหน้าและเข้มแข็งขึ้น นี่คือสิ่งที่ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศจะไปบอกเล่าให้นานาประเทศฟัง
ท่ามกลางความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" มองว่า “มีความพยายามที่ไทยต้องรักษาสมดุลและขยายความสัมพันธ์ไปสู่ทุกประเทศและภูมิภาค”
ปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาของโลกส่วนหนึ่งมาจากความแตกแยกทางความคิด หากย้อนกลับมาดูก็พบว่ามีหลายเรื่องที่ไทยและประเทศอื่นๆเผชิญปัญหาร่วมกัน เช่น ปัญหาพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจโลกผันผวน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องส่งเสริมและกระชับบทบาทของยูเอ็น รวมถึงฟื้นคืนความร่วมมือและเชื่อมั่นต่อระบบพหุภาคี เพื่อให้ไทยผ่านปัญหาที่เจอร่วมกันไปให้ได้
สถานการณ์การแข่งขันระหว่างขั้วมหาอำนาจ ทำให้ต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆ เช่น ความเป็นเอกภาพของชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)จะสามารถเข้ามาช่วย และมองแนวทางการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งเป็นความท้าทายกับทุกประเทศ
ขณะที่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยเจรจาหาทางยุติความขัดแย้ง เพราะในที่สุดแล้ว จุดร่วมที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายคือ “การพัฒนาเศรษฐกิจ การกินดีอยู่ดีร่วมกันของคนทั่วโลกอย่างยั่งยืน”
ปานปรีย์ มองว่า การทูตไม่ใช่เรื่องเชื่อมโยงต่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่การทูตจะมีบทบาทสำคัญในการรักษาและนำสิ่งดีๆจากต่างชาติมาทำประโยชน์ให้กับคนไทยและประเทศให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ความต้องการจากคนไทย เพื่อไปพูดคุยและร่วมมือกับต่างชาติให้ตรงจุด
หลังจากเสร็จสิ้นการร่วมคณะนายกรัฐมนตรีเยือนประเทศสหรัฐแล้ว ปานปรีย์จะลงพื้นที่ชายแดน เพื่อรับฟังปัญหาที่เกี่ยวกับการค้าขาย บุคคลข้ามแดน และปัญหาอื่นๆ จากนั้นจะไปเยือนประเทศกัมพูชา เพื่อนำเรื่องเหล่านี้ไปเจรจาระหว่างประเทศต่อไป
“ในเร็วๆนี้ ผมจะนำคณะเดินทางลงพื้นที่ติดชายแดนไทย-กัมพูชา ในจ.ปราจีนบุรี เพื่อพูดคุยและสอบถามความต้องการของประชาชนไทยในพื้นที่ ก่อนที่จะร่วมคณะของนายกรัฐมนตรีเยือนประเทศเพื่อนบ้าน ตามธรรมเนียมปฏิบัติหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยจะเริ่มจากประเทศกัมพูชาก่อนเป็นประเทศแรก” ปานปรีย์ กล่าว
ส่วนบทบาทไทยที่มีต่อการสร้างสันติภาพในเมียนมา ปานปรีย์ บอกว่า เมียนมาเป็นอีกหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนใกล้ชิดกัน ซึ่งไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และคาดว่า ในการไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งนี้ นานาชาติคงสอบถามถึงจุดยืนของรัฐบาลไทยชุดใหม่ต่อสถานการณ์ในเมียนมา
ปานปรีย์มองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ถือเป็นปัญหาภายในประเทศที่ควรได้รับการแก้ไขโดยกระบวนการภายในของเมียนมา และควรได้รับการแก้ไขโดยกลไกของอาเซียน ไทยไม่ควรละเลยอาเซียน เพราะอาเซียนยังมีเอกภาพ จึงควรเคารพการตัดสินใจของอาเซียน รวมทั้งฉันทามติร่วมของอาเซียน 5 ข้อ
ดังนั้น รัฐบาลภายใต้การนำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน จึงยึดถือฉันทามตินี้เป็นหลัก ส่วนการดำเนินการแบบ Dual Track ที่มีการเชิญบางประเทศมาร่วมหารือนอกรอบกับเมียนมาเหมือนที่ไทยเคยทำ ปานปรีย์ กล่าวว่า จะต้องพิจารณาตามความจำเป็น แต่คิดว่าควรจะหารือกับประเทศที่เป็นประธานอาเซียนก่อน
ปานปรีย์ กล่าวย้ำว่า ต้องแยกเรื่องดังกล่าวออกจากสิ่งที่เป็นปัญหาระหว่างไทยกับเมียนมา อาทิ การปราบปรามยาเสพติด การลักลอบข้ามแดน ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศที่จะต้องพูดคุยและแก้ไขร่วมกัน
ส่วนปัญหาภายในเมียนมา ทั้งเรื่องความขัดแย้ง กระบวนการประชาธิปไตย รวมถึงข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา เป็นเรื่องที่เมียนมาต้องเร่งจัดการสะสางเอง โดยรัฐบาลไทยจะทำงานร่วมกับอาเซียนอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้เกิดสันติภาพในเมียนมาเร็วที่สุด