นโยบาย ‘ปานปรีย์’ รมว.กต.คนใหม่ เน้นเศรษฐกิจ-ความมั่นคง-เทคโนโลยี
นายปานปรีย์หวังว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยจะเป็นที่รู้จักในระดับโลก เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น
หลังเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย จัดตั้งรัฐบาลและแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ หลายคนต่างจับตามองว่า ใครจะได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง หนึ่งในตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีส่วนขับเคลื่อนให้ไทยได้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกคือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ คือ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร"
ปานปรีย์ เผยถึงการเข้ารับตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ ว่า ในความเป็นจริงแล้วมีความคุ้นเคยกับกระทรวงการต่างประเทศ เพราะพระพหิทธานุกร ซึ่งเป็นปู่ เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเคยเป็นเอกอัครราชทูตที่ประจำการในหลายประเทศ อีกทั้งบิดาคือปรีชา พหิทธานุกร เคยทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศเช่นกัน จึงทำให้ตนได้ติดตามบิดาเดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่เด็ก
แม้บิดาของปานปรีย์จะเติบโตในต่างประเทศ แต่ครอบครัวอยากให้เขาอยู่ไทย เรียนที่ไทย และมีเพื่อนคนไทย ปานปรีย์ จึงเรียนที่เมืองไทยตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ก่อนจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกในต่างประเทศ
ด้วยความคุ้นเคยกับกระทรวงการต่างประเทศมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้น การได้มารับตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ จึงทำให้ปานปรีย์รู้สึกเหมือนได้กลับมาอยู่ในที่ที่คุ้นเคย
ปานปรีย์ หวังว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยจะเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำให้คนไทยรู้สึกว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น
ประชาชนบางส่วน ยังไม่ค่อยเห็นผลงานของกระทรวงฯมากนัก เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศอาจขาดการประชาสัมพันธ์ในบางเรื่อง หรือบางคนเรียกว่า “Too Quiet Diplomacy” ปานปรีย์ จึงแนะว่า หากมีการประชาสัมพันธ์การทำงานของกระทรวงฯเพิ่มขึ้น ประชาชนจะสามารถเห็นผลงานของกระทรวงฯได้มากขึ้น
สำหรับนโยบายบริหารจัดการภายในกระทรวงการต่างประเทศ ปานปรีย์ เผยว่า ได้พูดคุยกับคณะข้าราชการระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของตนแล้ว โดยปานปรีย์ เห็นว่า โลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก หลังจากเข้าสู่ยุคภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จึงมอบนโยบายเพิ่มเติมให้กับข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และเทคโนโลยี
นโยบายทั้ง 3 ด้าน เป็นสิ่งที่ต้องการให้สถานทูตไทยในต่างแดนให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต และดำเนินยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในแต่ละประเทศ เช่น อาจให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีกับประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หรือสามารถให้ความสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และเทคโนโลยี กับประเทศมหาอำนาจ อย่างสหรัฐและจีนได้เช่นกัน
หรือประเทศใดที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยมาก ไทยอาจให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจกับประเทศนั้น ๆ เพื่อผลประโยชน์ของประเทศโดยตรง ซึ่งการกำหนดความสำคัญของแต่ละประเทศ จะเป็นวาระในที่ประชุมกับเอกอัครราชทูตไทยต่อไป
ปานปรีย์ มองเห็นความสำคัญในการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) โดยเฉพาะการสานต่อและผลักดันการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (EU),เอฟทีเอไทย-อังกฤษ และเอฟทีเอไทย-กลุ่มประเทศอาหรับ (GCC) ให้สำเร็จ
ทางกระทรวงฯจะเชิญเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำการในต่างประเทศ กลับมายังประเทศไทย เพื่อร่วมการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ในต้นเดือน พ.ย. นี้ ซึ่งจัดขึ้นประจำทุกปี และนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้พบปะและมอบนโยบายทั้ง 3 ด้าน และจะช่วยวางยุทธศาสตร์ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ปานปรีย์เห็นว่า นโยบายการต่างประเทศในปัจจุบันต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ และสามารถนำนโยบายไปใช้ได้จริง ทั้งมุมต่างประเทศและในประเทศ
ปานปรีย์ เชื่อมั่นว่า ภายใต้การบริหารราชการของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา จะสามารถนำพาประเทศไทย ให้กลับมามีบทบาทในเวทีโลกได้มากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงฯต่างๆ และบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน