นโยบายสนับสนุนรถ EV อินโดฯ ช่วยกระตุ้นการลงทุนอาเซียน
นโยบายที่เอื้อต่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอินโดฯดึงดูดให้นักลงทุนทั่วโลกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบุว่า นโยบายดังกล่าวของอินโดนีเซียจะช่วยหนุนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
"อนินด์ยา โนเวียน บัครี" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานคณะกรรมการบริษัทบัครีแอนด์บราเธอร์ส ระบุว่า อินโดนีเซียอาจเป็น "ประตู" มุ่งสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทวีเคทีอาร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบัครีแอนด์บราเธอร์ส เป็นผู้ผลิตรถบัสไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถ EV
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า อินโดนีเซียอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทองแดง นิกเกิล โคบอลต์ และบอกไซต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ โดยเว็บไซต์อาเซียน บรีฟฟิ่ง ระบุว่า อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีนิกเกิลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของโลก
ขณะนี้ อินโดนีเซียได้พยายามโน้มน้าวให้ผู้ผลิตรถ EV เช่น เทสลา เข้าไปตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศ เพื่อเปลี่ยนประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรให้กลายเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
ปัจจุบัน เทสลาโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสำคัญกระจายอยู่ทั่วโลกโดยมีโรงงานในสหรัฐอเมริกาที่เมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และเมืองออสติน รัฐเท็กซัส เป็นฐานการผลิตสำคัญ รวมไปถึงโรงงานในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนและโรงงานในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางแบตเตอรี่รถ EV โลกของอินโดนีเซียเริ่มสัมฤทธิ์ผลบ้างแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์เอเชีย เช่น โตโยต้าและฮุนได ได้ทุ่มเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายโรงงานผลิตรถ EV ในอินโดนีเซีย
รายงานการลงทุนอาเซียนประจำปี 2565 ระบุว่า การผลิตแบตเตอรี่รถ EV ถือเป็นสัดส่วนสำคัญของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในอาเซียนระหว่างปี 2562 -2564 โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังคงเผชิญความยากลำบากในการกระตุ้นการผลิตรถยนต์
“ถือเป็นเรื่องยากที่อินโดนีเซียจะเข้ามาแทนที่ไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค เนื่องจากไทยคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มุ่งเน้นการส่งออกมายาวนาน ขณะเดียวกันอินโดนีเซียจะเผชิญความท้าทายต่าง ๆ จากกลุ่มผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์” นิชิตา อักการ์วาล นักวิเคราะห์ด้านยานยนต์ของอีไอยู ระบุ
อย่างไรก็ดี เมย์แบงก์ ระบุว่า การเติบโตในภาคส่วน EV ของอินโดนีเซียจะช่วยหนุนประเทศเพื่อนบ้าน โดยอินโดนีเซียจะดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้นมากและช่วยให้อาเซียนหันมาใช้รถ EV อย่างแพร่หลายเร็วขึ้นและทำให้รถ EV มีราคาถูกมากขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถ EV
ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังคงร้อนแรง และมีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆอย่างต่อเนื่อง