เหตุกราดยิงพารากอนตอกย้ำปัญหาครอบครองอาวุธปืนในไทย
ปัญหาการครอบครองอาวุธปืนในไทยกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังเกิดเหตุคนร้ายวัย 14 ปี ก่อเหตุกราดยิง ด้วยอาวุธปืน กลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนหนึ่งราย และชาวเมียนมาหนึ่งราย
สำนักข่าวรอยเตอร์และสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงาน โดยอ้างการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุ ผู้ก่อเหตุยังเป็นเยาวชน ที่มีประวัติการรักษาทางจิตเวชที่โรงพยาบาลราชวิถี แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เยาวชนรายนี้ ครอบครองอาวุธปืน ที่ใช้เป็นอาวุธสังหารได้อย่างไร
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ เหตุรุนแรงครั้งนี้ตอกย้ำปัญหาการครอบครองอาวุธปืนอย่างง่ายดายของประชาชนชาวไทย จนทำให้ประเทศไทยมีสถิติการครอบครองอาวุธปืนสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค
รายงานการสำรวจเกี่ยวกับอาวุธขนาดเล็ก ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2560 ระบุว่า ประชาชนทั่วไปจำนวนกว่า 10.3 ล้านคนในประเทศไทยเป็นผู้มีอาวุธปืนในครอบครอง หรือมีการครอบครองอาวุธปืนเฉลี่ยประมาณ 15 กระบอกต่อประชากรทุกๆ 100 คน
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า อาวุธปืนประมาณ 6.2 ล้านกระบอกในครอบครองของคนไทยที่เป็นพลเรือนเป็นปืนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
ส่วนสำนักข่าวเอพีรายงานในทำนองเดียวกันว่า ไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราครอบครองอาวุธปืนสูงสุดในเอเชีย และแม้จะมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวด แต่มันก็ดูเหมือนว่ายังไม่เพียงพอ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ gunpolicy.org ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า สถิติการครอบครองอาวุธปืนส่วนบุคคลในไทยอยู่ที่มากกว่า 10.3 ล้านกระบอก เมื่อปี 2560 แต่มีเพียง 6 ล้านกระบอกเท่านั้น ที่มีการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายนั่นหมายความว่ามีปืนเถื่อนกระจายอยู่ทั่วประเทศจำนวนกว่า 4 ล้านกระบอก และคิดเป็นอัตราการครอบครองอาวุธปืน 10 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ไม่ว่าจะเป็นอาวุธปืนถูกหรือผิดกฎหมาย
แม้อัตราดังกล่าวถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับสหรัฐ แต่ในเอเชียถือว่า อัตราการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวสูงเป็นอันดับต้นของภูมิภาค หากเทียบกับมาเลเซีย ซึ่งมีอัตราการครอบครองอาวุธปืนไม่ถึง 1 กระบอก ต่อประชากร 100 คน
นอกจากนี้ ไทยยังเป็นศูนย์กลางของตลาดมืดการค้าอาวุธ นอกเหนือจากกัมพูชาและเวียดนาม ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมเข้มงวด แม้ผู้ที่ลักลอบครอบครองอาวุธปืน อาจต้องรับโทษจำคุกนานสูงสุด 10 ปี และปรับเป็นเงิน 20,000 บาท ขณะที่บุคคล ซึ่งต้องการรับใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืน ต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มงวดหลายขั้นตอนแต่บรรดานักวิจารณ์ในไทยก็มองว่า กระบวนการจดทะเบียนอาวุธปืนยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่าเข้มข้นเพียงพอ