World Pulse I เยี่ยมเยือนเพื่อนสื่อ สานสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเรียกได้ว่าก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ เมื่อต่างฝ่ายต่างได้ผู้นำใหม่มาจากการเลือกตั้ง การเยือนราชอาณาจักรกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เศรษฐา ทวีสิน” เมื่อวันก่อน เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากหลายฝ่ายคาดหวังว่า นับจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านสองประเทศน่าจะราบรื่น
อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนสองประเทศ “สื่อมวลชน” มีบทบาทสำคัญ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ และมูลนิธิไทยนำคณะสื่อมวลชนไทยนำขบวนโดยชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติศึกษาดูงานในราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อยกระดับองค์ความรู้ให้สื่อมวลชนไทยได้มีความเข้าใจและมีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัมพูชา นำไปใช้รายงานข่าวอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้องตามหลักวิชาชีพ และเพื่อประโยชน์สาธารณะ
เมื่อพูดถึงเพื่อนบ้านรายนี้ สิ่งที่มักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอหนีไม่พ้นเรื่องของวัฒนธรรม ต่างฝ่ายต่างแย่งกันเป็นเจ้าของไม่ว่าจะเป็นระบำรำฟ้อน โขน ละคร ล่าสุดเรื่องมวยไทย-กุนแขมร์
“ที่ทะเลาะกันเพราะความไม่รู้ หลายคนไม่เคยมากัมพูชากลัวจะไม่ปลอดภัย ความคล้ายคลึงถือเป็นจุดแข็ง เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องแก้ไข ทำไมต้องมาบอกว่าใครเป็นเจ้าของ เรื่องนี้คนที่จะช่วยได้มากคือสื่อ” เชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กล่าวในฐานะคนทำงานในพื้นที่
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งของโครงการแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยือนสื่อไทย-กัมพูชา ที่มิตรภาพมีมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 1993
กวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอาวุโส ที่เข้ามาทำข่าวในกัมพูชาตั้งแต่ปี 1985 กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาต้องมองไปที่อนาคต ตอนนี้ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
“สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาเนต คือนิมิตหมายใหม่ จะไม่มีเรื่องเก่าๆ อีกแล้ว ตัวชี้วัดคือความสัมพันธ์ของสื่อ และควรทำให้เป็นสถาบัน” กวีกล่าวและว่า คนไทยไม่ค่อยเข้าใจระบบสารนิเทศของกัมพูชาเพราะเป็นประเทศที่มีพลวัตสูงมากอย่างที่ไม่มีประเทศใดในอาเซียนทำได้ ไทยควรส่งเสริมกัมพูชาในฐานะหุ้นส่วนที่เหมือนกับฝาแฝดของไทย สมาคมวิชาชีพต้องรู้จักกันมากยิ่งขึ้น ต้องทำความสัมพันธ์นี้ให้เป็นสถาบัน
คุยเรื่องสื่อต้องคุยกับคนที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ เนต ภักตรา รัฐมนตรีหนุ่มไฟแรง ดูแลกระทรวงข่าวสารของกัมพูชา พูดคุยเรื่องภูมิทัศน์สื่อที่ดูแล้วมีความท้าทายไม่ต่างจากบ้านเรา กล่าวคือ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาโซเชียลมีเดียเติบโตขึ้นมากจนกลายเป็นสื่อหลัก ขณะที่สื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุที่มีอยู่หลักหลายร้อยรายต้องล้มหายตายจากไปเพราะไม่มีโฆษณาเข้า ภาคธุรกิจนิยมใช้บริการสื่อโซเชียลเพราะถูกกว่า เร็วกว่า ปัจจุบันกัมพูชามีสื่อออนไลน์ได้รับใบอนุญาตกว่า 900 ราย ด้านเนื้อหาเมื่อก่อนรายงานเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ตอนนี้เน้นเรื่องส่วนตัว นี่ถือเป็นความท้าทายใหญ่ของสื่อเก่า และเมื่อมีสื่อใหม่ขึ้นมาแล้วกระทรวงข่าวสารจำต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความทันสมัย ผลิตบุคลากรด้านสื่อที่มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงสื่อได้ และเนื้อหาต้องมีคุณภาพเช่นกัน(เชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ หารือ เนต ภักตรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสาร)
สิ่งที่รัฐมนตรีเนตห่วงมากที่สุดคือ “เฟคนิวส์” ที่มีกลาดเกลื่อนโซเชียล เรียกได้ว่าเปิดไปที่ไหนก็เจอ ดังนั้นการต่อสู้เฟคนิวส์จำเป็นต้องระดมพลัง เริ่มตั้งแต่คอนเทนท์ต้องมีคุณภาพ กัมพูชาเปิดอบรมการเขียนข่าวให้กับนักข่าวรุ่นเก่าที่อาจไม่มีความรู้ด้านสื่อสารมวลชนมาก่อน
“กระทรวงเองก็ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตของสื่อที่ชอบรายงานแต่ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวรถชน ถ้าดูประเทศพัฒนาแล้วตอนเช้าคนของเขาจะเสพสื่อที่เป็นความรู้ ดูรายงานสภาพอากาศ ดูหุ้น ดูข่าว geopolitics” รมว.ย้ำ
จากคุณภาพคอนเทนท์สู่คุณภาพตัวผู้สื่อข่าวที่ต้องมีจริยธรรมมาคอยกำกับ แล้วจึงขยับเป็นการดูแลระดับสมาคม แลกเปลี่ยนความร่วมมือกันในกลุ่มอาเซียน เหมือนอย่างที่สื่อไทยมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสื่อกัมพูชา หากทำได้ดังนี้เชื่อว่าย่อมช่วยยกระดับภูมิทัศน์สื่อได้ในอนาคต