คว่ำบาตร ‘อิสราเอล’ นโยบายที่ ‘โลกมุสลิม’ ช่วยเหลือ ‘ปาเลสไตน์’
ย้อนรอยมาตรการ “คว่ำบาตร” ที่ “โลกมุสลิม” มีต่อ “อิสราเอล” หลังมีเหตุความขัดแย้งกับ “ปาเลสไตน์” ที่ปัจจุบันก็ยังดำเนินการอยู่ ทั้งการตัดขาดทางการทูต ไม่ให้เข้าประเทศ ตลอดจนระงับการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนระหว่างประเทศ
Key Points:
- สันนิบาตอาหรับมีบทบาทสำคัญในการคว่ำบาตรอิสราเอล ด้วยการโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ พร้อมกีดกันไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสนับสนุนอิสราเอล
- ปัจจุบันมีถึง 13 ประเทศที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ถือพาสปอร์ตอิสราเอลเดินทางเข้าประเทศ
- ชาวปาเลสไตน์ ก่อตั้งขบวนการ BDS สนับสนุนการคว่ำบาตร ลดการลงทุนและลงโทษทางเศรษฐกิจต่อประเทศอิสราเอล
สถานการณ์ความรุนแรงระหว่าง “อิสราเอล” กับ “กลุ่มฮามาส” ยังคงตึงเครียดอย่างหนัก กองทัพอิสราเอลโจมตีตอบโต้อย่างหนัก และปิดล้อมพื้นที่ฉนวนกาซา ขณะที่กลุ่มฮามาสออกมาขู่จะสังหารตัวประกัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งในอิสราเอลและปาเลสไตน์มากกว่าพันคน และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและ “ปาเลสไตน์” เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ที่ชาวยิวประกาศเอกราชของรัฐของตนเองขึ้น ตามพื้นที่ที่สหประชาชาติแบ่งให้ ในวันที่ 14 พ.ค. 2491 โดยตั้งชื่อประเทศว่าอิสราเอล ซึ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจ เพราะพวกเขาอยู่ในแผ่นดินนี้มายาวนานนับร้อยปี จู่ ๆ มาแบ่งประเทศให้กับชาวยิวที่มาทีหลัง ทำให้กลุ่มสมาชิกสันนิบาตอาหรับ รวมถึงประเทศในโลกมุสลิมอื่น ๆ ไม่ยอมรับและทำการ “คว่ำบาตร” อิสราเอลมาจนถึงปัจจุบัน
- โลกมุสลิมคว่ำบาตรอิสราเอล
สันนิบาตอาหรับ เป็นองค์กรของกลุ่มประเทศโลกอาหรับ มีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและประสานความร่วมมือ เพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตย และพิจารณากิจการและผลประโยชน์ของประเทศอาหรับในแนวทางทั่วไป
ทั้งนี้ สันนิบาตอาหรับ ก่อตั้งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนอิสราเอลตั้งประเทศไม่นาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการคว่ำบาตรอิสราเอล ด้วยการโดดเดี่ยวอิสราเอล ไม่ให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกีดกันไม่ให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสนับสนุน เพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการทหารของอิสราเอล
เนื่องจากอิสราเอลรายล้อมไปด้วยประเทศที่เป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ ทำให้อิสราเอลไม่สามารถสร้างระบบคมนาคมเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เครื่องบินของอิสราเอล หรือเที่ยวบินตรงสู่อิสราเอลไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านน่านฟ้าของประเทศสมาชิกสันนิบาตอาหรับ
นอกจากนี้ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศของรัฐมุสลิม ยังเรียกร้องให้สมาชิกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ บรูไน ชาด อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย มาลี ไนเจอร์ และปากีสถาน เข้าร่วมการคว่ำบาตรทางการทูตกับอิสราเอล พร้อมห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยชาวยิวหรือมีชาวยิวเป็นเจ้าของ
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อตกลงสันติภาพออสโล กลุ่มประเทศสภาความร่วมมือสำหรับรัฐอาหรับแห่งอ่าวเปอร์เซีย (GCC) ซึ่งประกอบไปด้วย บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ยุติการมีส่วนร่วมในการคว่ำบาตรอิสราเอล สันติภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่บอยคอตอิสราเอลทั้งทางการทูตและทางการค้าอยู่จนถึงปัจจุบัน
- ชาติมุสลิมรุมสกัดเข้าประเทศ
Henley and Partners บริษัทให้บริการลงทุนเพื่อขอวีซ่าถาวรหรือสัญชาติ จัดให้อิสราเอลเป็นประเทศที่มีพาสปอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในอันดับที่ 20 ของโลก ซึ่งสามารถเข้าได้ 160 ประเทศหรือดินแดน โดยต้องขอวีซ่าหรือวีซ่าเมื่อเดินทางมาถึง (VOA)
ในจำนวน 160 ประเทศนี้ มีถึง 13 ประเทศที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ถือพาสปอร์ตอิสราเอลเดินทางเข้าประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย บรูไน อิหร่าน อิรัก คูเวต เลบานอน ลิเบีย มาเลเซีย ปากีสถาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย และเยเมน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกสันนิบาตอาหรับสนับสนุนและส่งความช่วยเหลือให้แก่ปาเลสไตน์ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศใน 13 ประเทศข้างต้นที่พลเมืองอิสราเอลไปเยือนได้ หากมีใบอนุญาตที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทยของอิสราเอล โดยรัฐมนตรีว่ามหาดไทยประกาศว่า พลเมืองอิสราเอลทั้งชาวมุสลิมและชาวยิวสามารถเดินทางไปซาอุดีอาระเบียในกรณีที่มีวัตถุประสงค์ทางศาสนาและธุรกิจได้
ขณะที่มาเลเซียกำหนดให้บุคคลสัญชาติอิสราเอลต้องลงตราวีซ่าและต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยก่อนล่วงหน้า นอกจากนี้ ชาวอิสราเอลสามารถเดินทางไปเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรักได้เช่นกัน
ส่วนอิหร่าน คูเวต เลบานอน ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีหลักฐานการเดินทางไปอิสราเอล หรือมีวีซ่าอิสราเอลที่ใช้แล้วหรือยังไม่ได้ใช้ เข้าประเทศของตน
เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดดังกล่าว หลายประเทศจึงออกพาสปอร์ตเล่มที่สองให้กับพลเมืองของตน ชาวอิสราเอลเองก็พยายามถือสองสัญชาติเพื่อหลีกเลี่ยงการห้ามเดินทางข้างต้น
ด้านทางการอิสราเอลพยายามแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกประทับตราทั้งขาเข้าและขาออกในหนังสือเดินทาง เมื่อเดินทางเข้าสู่อิสราเอลจะได้รับเป็นบัตรสีฟ้าใช้แทนพาสปอร์ต ดังนั้นผู้ที่เข้าประเทศจะต้องเก็บรักษาบัตรนี้ไว้ให้ดี เพราะในสถานที่สาธารณะหลายแห่ง เช่น โรงแรม มักจะขอตรวจก่อนเข้าพัก และเมื่อจะเดินทางออกจากประเทศ จะได้รับบัตรสีชมพูสำหรับให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
ตามกฎหมายป้องกันการแทรกซึมของอิสราเอล 2497 (Prevention of Infiltration Law) กำหนดให้ เลบานอน ซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย อิรัก เยเมน ถูกกำหนดให้เป็น "รัฐศัตรู" (Enemy States) ส่วนอิหร่านเพิ่งเพิ่มเข้ามาเมื่อเดือน ม.ค. 2563 หลังเกิดการปฏิวัติอิหร่านในปี 2522 โดยกลุ่มประเทศทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคู่ขัดแย้งกับอิสราเอลสิ้น
เดิมทีอียิปต์และจอร์แดน เคยอยู่ในลิสต์รัฐศัตรูของอิสราเอลด้วยเช่นกัน แต่ในปี 2521 และ 2537 อิสราเอลได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับทั้ง 2 ประเทศ
- ปาเลสไตน์งัดกลยุทธ์คว่ำบาตร
ปี 2548 โอมาร์ บาร์กูติ และ รามี ชาอัต ชาวปาเลสไตน์ ก่อตั้งขบวนการ BDS ซึ่งย่อมาจาก Boycott, Divestment and Sanctions (คว่ำบาตร ลดการลงทุน และลงโทษ) สนับสนุนการคว่ำบาตร ลดการลงทุนและลงโทษทางเศรษฐกิจต่อประเทศอิสราเอล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันอิสราเอลถอนตัวออกจากดินแดนยึดครองในช่วงสงคราม 6 วัน รื้อถอนกำแพงแบ่งแยกดินแดนในเขตเวสต์แบงก์ มอบความเสมอภาคสมบูรณ์สำหรับพลเมืองอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ-ปาเลสไตน์ ตลอดให้ความเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในการกลับสู่บ้านเกิดของพวกเขา
BDS รณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงซื้อสินค้าหรือลงทุนในบริษัทของอิสราเอล พร้อมถอนการลงทุนในธนาคาร กองทุน บริษัทต่างชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นถอนการลงทุนในอิสราเอล และกดดันให้รัฐบาลของตนเองยุติการซื้อขายอาวุธทางทหารและข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอล พร้อมระงับการเป็นสมาชิกของอิสราเอลในเวทีระหว่างประเทศ
หนึ่งในแคมเปญของ BDS ที่มีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือ สัปดาห์การแบ่งแยกสีผิวอิสราเอล หรือ IAW (Israel Apartheid Week) จัดในช่วงเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. ของทุกปี มุ่งหวังที่จะเพิ่มความตระหนักรู้ประวัติศาสตร์ของชาวปาเลสไตน์ ที่ต้องเผชิญการกดขี่และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ไม่ใช่เพียงแค่ความขัดแย้งระหว่างคนสองเชื้อชาติ
มาตรการคว่ำบาตรของโลกมุสลิมที่มีต่ออิสราเอลยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งในปัจจุบันอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออิสราเอลเท่าในอดีต แต่ถ้าหากสงครามครั้งนี้ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ที่มา: ABC, Aljazeera, Visa Guide