จีนเปิดประชุม 'แถบและเส้นทาง' วันนี้ ครบ 10 ปียุทธศาสตร์ BRI มีไฮไลต์อะไรบ้าง
จีนเปิดการประชุม 'ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง' วันนี้ จับตา 4 ไฮไลต์เวทีประชุมใหญ่ครั้งแรกหลังโควิด 'สงครามอิสราเอล/ สีจิ้นผิง/ ปูติน/ เศรษฐา'
ในสัปดาห์นี้จีนกำลังจะเป็นเจ้าภาพเปิดการประชุมที่สำคัญที่สุดเวทีหนึ่งของจีนกับ "การประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง" (Belt and Road Initiative Forum: BRF) ซึ่งจะมีผู้นำและผู้แทนจากกว่า 130 ประเทศเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค.
การประชุม BRF ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่มีขึ้นครั้งแรกในปี 2017 โดยมีผู้นำจาก 30 ประเทศเข้าร่วม และเว้นไปสองปี ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ต้องเว้นช่วงยาวมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากเวทีนี้จะเป็นการประชุมของจีนที่มี "ประเทศมากกว่าครึ่งโลก" มาร่วมประชุมแล้ว ปี 2023 ยังถือเป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี ที่จีนประกาศใช้ยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หรือ BRI ที่มีชื่อเดิมว่า หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) อีกด้วย
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจสรุป 4 ประเด็นไฮไลต์ที่น่าสนใจก่อนเปิดม่านการประชุมมาให้ ดังนี้
- BRI ภายใต้บรรยากาศสงคราม 'อิสราเอล-ฮามาส'
การประชุมสุดยอด BRI จะอยู่ภายใต้บรรยากาศคุกรุ่นของสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮามาสอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อมองจากบทบาทของจีน ทั้งในแง่ "การเมือง" ในฐานะสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตะวันออกกลาง หรือในแง่ "เศรษฐกิจ" กับบทบาทนักลงทุน ผูู้ซื้อน้ำมัน และพันธมิตร BRI ที่เข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศ
ในปี 2020 จีนได้ผงาดขึ้นแทนที่สหภาพยุโรป (อียู) ในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ไปเรียบร้อยแล้ว และยังกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด (ไม่รวมน้ำมัน) กับซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (UAE)
แม้จีนจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ด้านพลังงานของตะวันออกกลางมานานแล้ว แต่บทบาทของจีนในภูมิภาคนี้เริ่มชัดเจนและเป็นที่สนใจมากขึ้นหลังจากที่ "ซาอุดิอาระเบีย" เริ่มมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับสหรัฐจากรณีการสังหารนักข่าว จามาล คาช็อกจี จนทำให้ซาอุฯ หันไปกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น และถึงขั้นที่จีนกลายเป็นคนกลางในความพยายามฟื้นสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง "ซาอุดิอาระเบีย-อิหร่าน" เมื่อต้นปีนี้มาแล้ว
อิทธิพลเช่นนี้เองที่ทำให้จีนถูกจับตามากขึ้นในสงครามอิสราเอล-ฮามาส โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐกับจีนได้โทรศัพท์สายตรงพูดคุยกันครั้งแรกเกี่ยวกับสงครามนี้ โดยแอนโทนี บลิงเคน เรียกร้องให้จีนใช้อิทธิพลของตนเองให้มากขึ้น ในการป้องกันไม่ให้ประเทศหรือกลุ่มต่างๆ เข้าโจมตีอิสราเอลหรือยกระดับสงครามให้ขยายวงขึ้น แต่จีนเองก็เรียกร้องให้สหรัฐเป็นฝ่ายแสดงบทบาทต่อสันติภาพในตะวันออกกลางให้มากขึ้น พร้อมย้ำว่าการปกป้องความมั่นคงของประเทศหนึ่งไม่ควรต้องแลกมาซึ่งการทำร้ายพลเรือนผู้บริสุทธิ์
ทั้งนี้ ไจ๋ จุน ผู้แทนพิเศษของจีนจะเดินทางเยือนตะวันออกกลางในสัปดาห์นี้เพื่อผลักดันเรื่องการหยุดยิง (Ceasefire) ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส และสนับสนุนให้เกิดการเจรจาสันติภาพขึ้น
- 'ปูติน' ปรากฎตัวเวทีระหว่างประเทศครั้งแรก
หนึ่งในไฮไลต์ที่ทุกฝ่ายต้องจับตามองการประชุมครั้งนี้ก็คือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จะมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย และเป็นครั้งแรกที่ปูตินจะปรากฎตัวในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ นับตั้งแต่เริ่มมีการทำสงครามบุกยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. 2021 (ไม่รวมการเยือนคีร์กีซสถานและโอลิมปิกส์ฤดูหนาว)
ก่อนหน้านี้ ปูตินได้ให้สัมภาษณ์กับไชน่า มีเดีย คอร์ปอเรชันว่า ข้อได้เปรียบหลักของแนวคิดความร่วมมือที่เสนอโดยจีนก็คือ ภายในกรอบของความร่วมมือกันนั้น ไม่มีใครกำหนดสิ่งใดกับผู้อื่น และลักษณะเฉพาะของจีนในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ในปัจจุบันก็คือ "ไม่มีใครสั่งหรือบังคับอะไรกับใคร พวกเขาแค่ยื่นโอกาสให้เท่านั้น"
"นี่คือความแตกต่างระหว่างโครงการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับโครงการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยประเทศที่มีรสนิยมชอบล่าอาณานิคม" ปูติน กล่าว
หลี่ หมิงเจียง รองศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยนันยาง เทคโนโลยี เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า การเข้าร่วมครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่สำคัญมากของปูตินในการกลับเข้าสู่เวทีโลก และแสดงให้เห็นว่ารัสเซียยังคงเป็นมิตรที่เหนียวแน่นกับจีนอยู่ หลังจากก่อนหน้านี้จีนต้องพยายามบาลานซ์ความสัมพันธ์เพื่อไม่ให้ถูกชาติตะวันตกกดดันมากจนเกินไป
ส่วนจีนเองนั้น การได้บุคคลที่มีความสำคัญและได้สปอตไลท์จากทั่วโลกอย่างปูตินมาร่วมเวที BRF ก็เป็นสิ่งที่สำคัญในเชิงการเมืองเช่นกัน เพราะคาดว่าเวทีประชุมจะมีแต่ผู้นำจากประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ปานกลางเข้าร่วม โดยไม่มีผู้นำชาติมหาอำนาจเข้าร่วมแต่อย่างใด
- 'เศรษฐา' ร่วมถกเส้นทางสายไหมสีเขียว ดึงนักท่องเที่ยวจีนมาไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศกลุ่มอาเซียนนอกจากกัมพูชา ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่จะเข้าร่วมการประชุม BRF ครั้งนี้ด้วย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้แทนบริษัทขนาดใหญ่ของไทยมากกว่า 20 แห่ง โดยจะเป็นการร่วมประชุมและเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16-19 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีการหารือการค้าการลงทุนไทย-จีน กระชับความสัมพันธ์ทางการทูต พร้อมสร้างความเชื่อมั่นดึงนักท่องเที่ยวจีนให้เข้ามาเที่ยวไทยด้วย
การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้ มีการประชุมระดับสูง 3 หัวข้อ โดยนายกฯ จะเข้าร่วมประชุมและกล่าวแถลงในหัวข้อ “เส้นทางสายไหมสีเขียวเพื่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ” เน้นกล่าวถึงบทบาทไทยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น กลไกระดมทุนสีเขียว การเปลี่ยนผ่านสีเขียวของเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยนายกฯ มีกำหนดเข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และหารือกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงด้วย
ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยจะเข้าร่วมในหัวข้อความเชื่อมโยง (Connectivity) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเข้าร่วมในหัวข้อเศรษฐกิจดิจิทัล
การประชุมบีอาร์เอฟครั้งนี้ ยังช่วยให้เกิดการสนับสนุนผู้ประกอบทั้งคนไทยที่ลงทุนในจีน และคนจีนที่ลงทุนไทย โดยจะร่วมหารือกันในการประชุมรอบพิเศษ 3 รอบ ซึ่งรอบแรกจะเป็นการพูดคุยระหว่างนักธุรกิจไทยและจีน นำโดยมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับฟังโอกาส ข้อจำกัด ข้อแนะนำ และปัญหาสำคัญของไทย เพื่อขยายการลงทุนให้มากกว่าที่เป็นอยู่
รอบที่ 2 เป็นการพูดคุยแบบตัวต่อตัว (one-on-one) กับนักลงทุนจีน และจะผลักดันการค้าการลงทุนของจีนในไทย โดยการประชุมรอบนี้จะมีขึ้นเกือบทั้งวัน ในวันที่ 17 ต.ค. สำหรับการประชุมรอบที่ 3 จะพูดคุยเกี่ยวกับการจัด Investment Forum โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19 ต.ค.
นอกจากนี้ ไทยจะมีการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) หลายฉบับ แต่ยังไม่สามารถระบุหัวข้อเอ็มโอยูได้ เนื่องจากบางฉบับยังรอมติจากคณะรัฐมนตรีอยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลงนามเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะเผยแพร่ให้ทราบทันที
กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ เสริมว่า เนื่องจากไทย-จีน จะมีการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ครบรอบ 50 ปี ในปี 2568 การเยือนนี้ครั้งนี้ เสมือนเป็นการเปิดฉากความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น และเพื่อย้ำว่าประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และรับประกันว่าไทยจะทำทุกอย่างเพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวชาวจีน
- 'สี จิ้นผิง' เตรียมโชว์วิสัยทัศน์ครบรอบ 10 ปี BRI
สำหรับเจ้าภาพแล้ว ความสำคัญที่สุดของการประชุมครั้งนี้อาจเป็นการครบรอบปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ BRI ซึ่งคาดว่าจีนจะประกาศความสำเร็จทั้งในเชิงการลงทุนที่เป็นรูปธรรม และความร่วมมือเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เผยแนวคิดเรื่อง BRI เป็นครั้งแรกระหว่างการเดินทางเยือนคาซัคสถานในปี 2013 โดยต้องการเปิดระเบียงเศรษฐกิจไปตามเส้นทางสายไหมที่เคยรุ่งเรืองด้านการค้าในอดีต จากนั้นก็เริ่มมีการขยายวงไปถึงแผน "เส้นทางสายไหมทางทะเล" ระหว่างการเยือนอินโดนีเซียในปีต่อมา และนำไปสู่การรวมเส้นทางบกและทะเลพร้อมขยายจุดหมายไปถึงแอฟริกา
ส่วนพัฒนาการในด้านเงินทุนของโครงการนี้ เริ่มจากการจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหมวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ก่อนจะยกระดับไปสู่การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (AIIB) ในปี 2016 ซึ่งจากเดิมที่มีสมาชิก 57 ประเทศนั้น ปัจจุบันขยายวงไปไกลถึง 109 ประเทศ มีการปล่อยเงินกู้ลงทุนไปแล้ว 202 โครงการ ใน 33 ประเทศ รวมเป็นมูลค่า 3.88 หมื่นล้านดอลลาร์
ทว่าสื่อตะวันตกบางสำนักเช่น ซีเอ็นเอ็น วิเคราะห์ไปไกลกว่านั้นว่า การที่ผู้นำจีนจัดประชุมใหญ่ในรอบ 3 ปี และเชิญผู้นำจากทั่วโลกมาร่วมประชุมในครั้งนี้ก็เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ เชิดชูบทบาทของจีนในการช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และปูทางสู่เป้าหมายที่ขยับขึ้นไปอีกขั้นในฐานะ "ผู้นำทางเลือกของโลก" นอกเหนือไปจากสหรัฐ
เครก ซิงเกิลตัน นักวิชาการจากสถาบันคลังสมองดีเฟนส์ ออฟ เดโมเครซี ในวอชิงตัน กล่าวว่า สารจากผู้นำจีนนั้นชัดเจนว่าปัจจุบัน สหรัฐล้มเหลวทั้งการนำพาสันติภาพหรือความเจริญมั่งคั่งมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา ระเบียบใหม่คือสิ่งที่จำเป็นเพื่อรับมือกับปัญหาในปัจจุบันและความท้าทายในอนาคต
ขณะที่บลูมเบิร์กรายงานอ้างตัวเลขการประเมินจากศูนย์การพัฒนาและการเงินสีเขียวว่า จีนได้ลงทุนถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไปกับยุทธศาสตร์ BRI ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์แห่งศตวรรษ ทว่าหนทางหลังจากนี้อาจเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโครงการต่างๆ ไปก่อนหน้านี้ ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจในจีนเองที่อาจทำให้จีนต้องผ่อนเครื่องยนต์ลงทุนบีอาร์ไอลง และจากพันธมิตรบางรายที่อาจถอนตัวไป เช่น อิตาลี
หยุน ซัน ผู้อำนวยการฝ่ายจีนจากสถาบันคลังสมองสติมสัน เซ็นเตอร์ มองว่าหากพิจารณาจากท่าทีของคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติของจีน (NDRC) ที่ส่งสัญญาณเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ก้าวต่อไปของ BRI คือการเดินหน้าก่อสร้างโครงการ "คุณภาพสูงที่ให้ประโยชน์กับประเทศพันธมิตรได้ดีกว่า" ก็อาจเป็นการสื่อได้ว่า การลงทุนของจีนใน BRI หลังจากนี้จะไม่ใช่การหว่านเงินไปกับเมกะโปรเจกต์เหมือนที่ผ่านๆ มา แต่จะเป็นการ "คัด" และ "คำนวณ" มากขึ้นถึงประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุน เพื่อรับกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงด้วย