‘ยูเนสโก’ ชี้เป้าโบราณวัตถุถูกขโมย ให้ชมผ่าน VR ของอยู่ที่ใครเอามาคืนด่วน!
หนึ่งในวัฒนธรรมที่จับต้องได้มากที่สุดก็คือ “โบราณวัตถุ” แต่ที่ผ่านมาเกิดการสูญหายและถูกขโมยเป็นจำนวนมาก ทำให้ “ยูเนสโก” ผุดแนวคิดนำโบราณวัตถุทางเหล่านั้นมาจัดแสดงในรูปแบบ Virtual Reality (VR) หรือภาพเสมือนจริง ผ่านทางออนไลน์ ใครเห็นวางโชว์ที่ไหนแจ้งด่วน!
Key Points:
- “โบราณวัตถุ” เป็นหนึ่งในสิ่งของที่มีความสำคัญทางประวัติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องราวเฉพาะตัวของแต่ละชุมชน แต่ปัจจุบันกลับถูกขโมยไปมากกว่า 52,000 ชิ้น
- ทางด้าน “ยูเนสโก” จึงเกิดไอเดียนำโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปมาจัดแสดงในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Reality) เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
- จุดประสงค์สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นการชี้เป้าให้คนทั่วไปรับรู้ หากพบเห็นวัตถุเหล่านั้นตั้งโชว์อยู่ที่ไหน ก็แจ้งไปยังยูเนสโกได้ เพื่อกู้โบราณวัตถุโบราณที่ถูกขโมยไปให้กลับคืนสู่ท้องถิ่น
“โบราณวัตถุ” คือ สิ่งของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะสามารถสื่อถึงเรื่องราวความเป็นมาในแต่ละยุคสมัย รวมถึงบอกเล่าเหตุการณ์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคมความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่นได้ เรียกได้ว่าเป็น “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” ที่สำคัญรูปแบบหนึ่ง
สำหรับโบราณวัตถุนั้นมีทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ส่วนใดส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ซากมนุษย์ หรือซากสัตว์ และสิ่งที่มนุษย์คิดค้นสร้างขึ้นมา เช่น อาวุธ เครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
นอกจากโบราณวัตถุจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูง ส่วนมากจึงถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่เพื่อจัดแสดงให้คนรุ่นหลังเข้ามาศึกษา แต่ก็ยังมี “โบราณวัตถุ” อีกหลายชิ้นที่ถูกขโมยไปจากท้องถิ่นหรือแหล่งกำเนิด เพื่อขายให้กับพิพิธภัณฑ์บางแห่งหรือนักสะสมของเก่า
แต่ล่าสุด.. โบราณวัตถุที่สูญหายไปทั้งหลาย โดยเฉพาะจากการถูกขโมย กำลังจะกลับมาจัดแสดงให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือ..เป็นการชี้เป้าให้คนทั่วไปรู้ว่าของชิ้นไหนถูกขโมยมา และต้องการทวงโบราณวัตถุคืนสู่ถิ่นกำเนิด
โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) วางแผนนำ “โบราณวัตถุทางวัฒนธรรม” กลับมาจัดแสดงในรูปแบบเสมือนจริง หรือ Virtual Reality (VR) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งประดิษฐ์และชุมชนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะแง่มุมของมรดกทางวัฒนธรรม
- เมื่อ “โบราณวัตถุทางวัฒนธรรม” ชิ้นสำคัญทั่วโลกถูกขโมย
จากฐานข้อมูลขององค์กรตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โพล (INTERPOL) พบว่ามี “โบราณวัตถุทางวัฒนธรรม” ที่ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ และแหล่งโบราณคดีทั่วโลกมากกว่า 52,000 ชิ้น
นอกจากนี้ตามรายงานของ Antiquities Coalition องค์กรพัฒนาเอกชนในสหรัฐ เปิดเผยว่า หนึ่งในโบราณวัตถุที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ ที่ ชิ้นสำคัญที่สุดที่ถูกขโมยก็คือ จารึกหินเศวตศิลาในศตวรรษที่ 3 ที่นำมาจากวิหาร Awwam ในเยเมน ซึ่งในระหว่างปี 2009-2011 จารึกหินชิ้นนี้มีการขโมยวนเวียนกันไปทั่วโลกเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่นั้น แต่ในรายชื่อโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอื่นๆ ที่ถูกขโมยไป ยังรวมถึง “รูปปั้นสิงโตงาช้าง” สมัยศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์แบกแดดในปี 2013, “หน้ากากหินสีเขียวของชาวมายา” ในเมืองริโออาซูล ประเทศกัวเตมาลา ก็ถูกปล้นไปตั้งแต่ปี 1970 และ “รูปปั้นพระวราหะ” ในศตวรรษที่ 5 ของวัดในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย ก็มีคนขโมยไปในปี 1988
การที่โบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ถูกขโมยไปเรื่อยๆ นั้น สร้างผลเสียต่อสังคมโลกอย่างมหาศาล โดย ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการทั่วไปของยูเนสโกระบุว่า ชิ้นส่วนที่ถูกขโมยทุกชิ้นมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ และความเป็นมนุษย์ที่ถูกแย่งชิงไปจากผู้ดูแล (หรือคนท้องถิ่น) ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถทำการวิจัยความเป็นมาในอดีตได้โดยละเอียด และมีความเสี่ยงที่เรื่องราวต่างๆ จะถูกลืมเลือน
ออเดรย์ อาซูเลย์ และ ฟรานซิส เคเร (Artnet News)
- เอาของหายเอามาโชว์ในรูปแบบ VR ส่งสารทวงคืนถึงหัวขโมย
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ยูเนสโกเตรียมนำ “โบราณวัตถุทางวัฒนธรรม” ที่ถูกขโมยไปจากทั่วโลก จากฐานข้อมูลของอินเตอร์โพลและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาจัดแสดงในรูปแบบ “พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง” ให้คนทั่วไปชมผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในช่วงแรกจะจัดแสดงทั้งหมดประมาณ 600 ชิ้น
แม้ว่าดูเผินๆ แล้วเป้าหมายของการจัดแสดงโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยในครั้งนี้ คือการทำให้สิ่งของเหล่านี้กลับมาเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงฟื้นฟูสิทธิของสังคมในการเข้าถึง และได้สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมที่เคยหายไปของพวกเขา
แต่แท้จริงแล้วยูเนสโกมีนัยสำคัญที่มากกว่านั้น นั่นคือ เป็นการบอกใบ้ให้ประชาชนรู้ว่าสิ่งของที่พวกเขาอาจเคยพบเห็นจากสถานที่ต่างๆ บางชิ้น แท้จริงแล้วคือโบราณวัตถุที่ถูกขโมยไปจากท้องถิ่น และเป็นการเรียกร้องให้หัวขโมยเอาของมาคืนได้แล้ว!
- “พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง” ที่อยากให้ของที่จัดแสดงทยอยหายไป?!
สำหรับสิ่งที่เราจะได้เห็นจากการรับชมนั้นมีตั้งแต่ การสำรวจพื้นที่เสมือนจริงที่ต่อเนื่องกันภายในพื้นที่จัดแสดงที่มีลักษณะเป็นลูกโลก เชื่อมโยงภูมิภาค ประเทศ วัฒนธรรม และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน (แน่นอนว่าต้องเข้าชมแบบ VR) รวมถึงมีภาพสามมิติที่แสดงถึงรายละเอียดบนโบราณวัตถุแต่ละชิ้นพร้อมกับคำอธิบายถึงประวัติความเป็นมา และสัญลักษณ์สำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สำคัญยังมีเรื่องราวและบทสัมภาษณ์จากคนในชุมชนที่เป็นจุดค้นพบโบราณวัตถุเหล่านั้นอีกด้วย
ภาพตัวอย่างพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงของยูเนสโก (Artnet News)
ด้าน เออร์เนสโต ออตโตเน (Ernesto Ottone) ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไปด้านวัฒนธรรมองค์กร ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุที่มีอยู่จริง แต่เราไม่รู้ว่าพวกมันอยู่ที่ไหน เราเลยจะจัดแสดงโบราณวัตถุเหล่านี้แบบเสมือนจริงขึ้นมา ในพื้นที่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและบริบทของสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง”
ดังนั้นเป้าหมายสำคัญอีกอย่างของพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงแห่งนี้ก็คือ สร้างความตระหนักรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ว่า “โบราณวัตถุ” เหล่านี้คือของที่ถูกขโมยมาจากชุมชน รวมถึงต้องการกู้คืนเพื่อนำส่งโบราณวัตถุเหล่านี้ให้ได้กลับไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่
โดยทั่วไปแล้วพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มักมองว่าการมีสิ่งประดิษฐ์มาจัดแสดงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นความสำเร็จรูปแบบหนึ่ง เพราะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่กับพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงของยูเนสโก เพราะพวกเขาหวังว่า “โบราณวัตถุ” เสมือนจริงเหล่านี้จะทยอยหายไปจากพิพิธภัณฑ์เรื่อยๆ เนื่องจากตัวจริงของพวกมันถูกส่งคืนชุมชนไปแล้ว
- แม้งานออกแบบพิพิธภัณฑ์รูปแบบ VR จะยาก แต่ยูเนสโกมองว่าคุ้ม!
ทางฝั่งสถาปนิกของโครงการ ฟรานซิส เคเร (Francis Kéré) เจ้าของรางวัล Pritzker สาขาสถาปัตยกรรมในปี 2022 (หนึ่งในรางวัลด้านสถาปัตยกรรมชั้นนำของโลก มอบให้ผู้สร้างผลงานสถาปัตยกรรมที่ถูกยอมรับในระดับสากล) ซึ่งเป็นชาวแอฟริกันคนแรกที่คว้ารางวัลนี้ กล่าวว่า “คุณค่าจากการปรากฏตัวทางกายภาพของโบราณวัตถุเหล่านี้ มีคุณค่าต่อชุมชนของพวกเขาด้วย”
ทั้งนี้แม้ว่าการออกแบบและสร้างพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงจะเป็นงานที่ซับซ้อน เพราะต้องอาศัยโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วย โดยเฉพาะการสร้างภาพสามมิติที่ต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์ค่อนข้างนาน เพราะนอกจากจะต้องปรับขนาดให้สมจริงมากที่สุดแล้ว ของบางชิ้นก็แทบจะไม่มีบันทึกทางกายภาพเลย นอกจากภาพถ่ายขาวดำขนาดเล็ก แต่ยูเนสโกก็มองว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่ากับการลงทุน
ท้ายที่สุดนี้หัวใจสำคัญในการจัดแสดง “พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุที่ถูกขโมย” ของยูเนสโก ไม่ได้เน้นไปที่การนำเสนอให้ผู้ชม ได้เห็นวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมในสังคมต่างๆ ทั่วโลก จากการเชื่อมโยงกันของโบราณวัตถุและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียกร้องให้ใครก็ตามที่เคยขโมยหรือครอบครองวัตถุโบราณเหล่านั้น นำมาคืนให้กับยูเนสโกเพื่อส่งคืนไปยังท้องถิ่นต้นกำเนิดต่อไป
อ้างอิงข้อมูล : The Guardian, The Collector และ กรมศิลปากร