ปลด 'รมว.กลาโหมจีน' อย่างเป็นทางการ ไขปริศนา 'หลี่ ซ่างฝู' หายไปไหน

ปลด 'รมว.กลาโหมจีน' อย่างเป็นทางการ ไขปริศนา 'หลี่ ซ่างฝู' หายไปไหน

ทางการจีนออกข่าวปลดรัฐมนตรีกลาโหมอย่างเป็นทางการแล้ว หลังหายหน้าลึกลับไปนาน 2 เดือน แต่ไม่บอกเหตุผลในการปลด และยังไม่ประกาศตั้งใครแทนที่

สำนักข่าวซิวหัว และสถานีโทรทัศน์ CCTV ของทางการจีน รายงานข่าวล่าสุดในวันนี้ (24 ต.ค.2566) ว่า ทางการจีนโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำกรมการเมือง มีคำสั่งปลด "หลี่ ซ่างฝู" รัฐมนตรีกลาโหม ออกจากตำแหน่งแล้ว ซึ่งนับเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการหลังจากหลี่หายตัวไปอย่างเป็นปริศนามานานถึง 2 เดือน 

อย่างไรก็ตาม สื่อของทางการจีนไม่ได้ระบุถึงเหตุผลในการปลดครั้งนี้ และไม่มีรายละเอียดด้วยว่ามีการแต่งตั้งใครขึ้นมาแทนที่หรือไม่ อย่างไร 

ทั้งนี้ หลี่นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนที่ 2 ที่ถูกปลดจากตำแหน่งอย่างกะทันหันต่อจาก "ฉิน กัง" อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่ถูกปลดออกไปเมื่อเดือนก.ค. โดยครั้งนั้นจีนได้แต่งตั้งให้ "หวัง อี้" ซึ่งเป็นมนตรีแห่งรัฐและเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคนเก่า กลับมารับตำแหน่งเดิม 

การประกาศข่าวอย่างเป็นทางการครั้งนี้ มีขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐจะส่งผู้แทนระดับสูงมาร่วมประชุมด้านความมั่นคงกับจีนที่กรุงปักกิ่ง หลังจากที่ต้องชะลอไปนานท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนภายในกองทัพของจีน

 

หลี่ ในวัย 65 ปี เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อเดือนมี.ค.ปีนี้ โดยนอกจากจะเป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของจีนแล้ว ก็ยังเป็นสมาชิกระดับสูงของคณะกรรมการกลางการทหาร (Central Military Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนอีกด้วย ก่อนที่เขาจะหายตัวไปจากพื้นที่สาธารณะตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.66 เป็นต้นมา

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลี่กำลังถูกสอบสวนข้อหาทุจริตในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารระหว่างที่เขาอยู่ในตำแหน่ง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพก็ถูกสอบสวนด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้ไม่มีใครล่วงรู้ชะตากรรมพวกเขาได้ 

หากต้องชำแหละอำนาจ และอิทธิพลรัฐมนตรีกลาโหมของจีน นักวิเคราะห์ทางการทหารมองว่า ในระบบจีน รัฐมนตรีกลาโหมจีนมีอำนาจน้อยกว่ารัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ รวมถึงหลายประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

โดยทั่วไปแล้ว รัฐมนตรีกลาโหมจีนมีบทบาททางการทูต เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทหาร และร่วมพิธีการ โดยไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งการ ดังนั้น หลี่จึงเป็นหนึ่งใน 6 เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงภายใต้ผู้บัญชาการสูงสุด และประธานาธิดีสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง (CMC) และเป็นหนึ่งใน 5 สมาชิกสภาแห่งรัฐ ถือว่ามีตำแหน่งเหนือกว่ารัฐมนตรีอย่างมาก

PLA เป็นกองทัพติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ ตามรายงานประจำปีของกระทรวงกลาโหมจีนที่มีต่อกองทัพปลดปล่อยประชาชน ระบุ ภารกิจหน้าที่หลัก ไม่ได้ขึ้นกับรัฐโดยตรง แต่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของพรรค

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์