‘Taylor Swift’ ขึ้นแท่น ‘มหาเศรษฐีพันล้าน’ รายได้เทียบเท่า GDP ประเทศ
สวย เก่ง และรวยมาก! ป็อปสตาร์แห่งยุค “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ขึ้นแท่น “มหาเศรษฐีพันล้าน” สื่อนอกชี้ เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่รวยจากงานในวงการเพียงอย่างเดียว มองประสบความสำเร็จได้ด้วยความสามารถ จังหวะ และการทำการตลาด
Key Points:
- สื่อนอกรายงานความเคลื่อนไหวล่าสุดของป็อปสตาร์แห่งยุค “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ว่า ปัจจุบันเธอขึ้นแท่น “มหาเศรษฐีพันล้าน” ด้วยรายได้จากเวิลด์ทัวร์ “The Eras Tour” รวมถึงภาพยนตร์คอนเสิร์ตที่กำลังเข้าฉายทั่วโลก
- นักวิเคราะห์ชี้ว่า “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ชาญฉลาดในการสร้างระบบนิเวศของตนเองขึ้นมา ไม่เพียงงานเพลงและคอนเสิร์ต แต่ยังผูกสัมพันธ์กับแฟนๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการตัดสินใจปล่อยเพลงหล่อเลี้ยงกระแสในช่วงโควิด-19 ด้วย
- ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวดี แต่ผู้คนกลับยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าตั๋วคอนเสิร์ตเฉียดหมื่นบาท กระทั่ง “ประธานเฟด” ยังชี้ว่า นี่คือเรื่องที่ต้องมีการศึกษากันต่อไป
นับจนถึงตอนนี้ก็ย่างเข้าเดือนที่ 8 แล้วสำหรับคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” (Taylor Swift) ป็อปไอคอนแห่งยุคที่ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรก็มีแฟนๆ จากทั่วทุกมุมโลกพร้อมให้การสนับสนุนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง บัตรคอนเสิร์ตที่หลายคนต้องพลาดไปจากดีมานด์อันสูงลิ่วทำให้นักร้องสาวตัดสินใจอนุญาตให้มีการบันทึกการแสดงคอนเสิร์ต “The Eras Tour” เข้าฉายในรูปแบบ “ภาพยนตร์คอนเสิร์ต” ทั่วโลก เฉพาะรายได้จากการแสดงคอนเสิร์ตนับจนถึงตอนนี้ (27 ตุลาคม 2566) จากการประมาณการโดยสำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” (Bloomberg) มีมูลค่าสูงถึง 700 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 25,347 ล้านบาท โดยเป็นการคำนวณจากราคาจำหน่ายตั๋วเฉลี่ยต่อใบที่ 254 ดอลลาร์ หรือ 9,197 บาท
ความโด่งดังของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” บนถนนสายดนตรีเกือบสองทศวรรษ ส่งให้ปัจจุบันเธอกลายเป็น “มหาเศรษฐีพันล้าน” ตามการวิเคราะห์ของ “บลูมเบิร์ก” ทั้งยังเป็นหนึ่งในศิลปินไม่กี่คนที่สร้างรายได้มหาศาลจากการทำงานเพลงเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้สร้างตัวจากการทำธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือไปจากงานเพลงและแสดงคอนเสิร์ตทั่วโลก น้อยคนนักที่จะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลและยืนระยะได้ยาวนานเช่นนี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ขนาดการแสดงสดของ “The Eras Tour” เทียบเท่าได้กับความยิ่งใหญ่อลังการของโชว์พักครึ่งในงาน “Super Bowl” ทำให้เกิดความคลั่งไคล้ในการซื้อตั๋ว แม้กระทั่งรายงานข่าวที่มีการระบุว่า การแสดงคอนเสิร์ต “The Eras Tour” ที่เมืองซีแอตเทิลสร้างแรงสะเทือนจากการกระโดดโลดเต้นของแฟนๆ ภายในงานเทียบเท่าแผ่นดินไหว 2.3 ริกเตอร์ ก็นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นกัน และจากการทัวร์คอนเสิร์ตอีกครั้งในรอบ 5 ปีก็ทำให้ป็อปสตาร์สาวคนนี้ขึ้นแท่น “มหาเศรษฐี” มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันเกิน “1 พันล้านดอลลาร์”
ความสำเร็จของ “เทย์เลอร์” มีองค์ประกอบหลายอย่างทั้งการแต่งเพลงทั้งหมดด้วยตัวเอง การต่อสู้-เจรจาเรื่องการจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงกับ “สปอติฟาย” (Spotify) รวมทั้งการตัดสินใจอันชาญฉลาดในการบันทึกเสียงอัลบั้มเพลง 6 ชุดแรกใหม่ทั้งหมด จากประเด็นปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่ล่าสุดในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 นักร้องสาวได้มีการปล่อยอัลบั้ม “1989 (Taylor’s Version)” อีกหนึ่งผลงานที่เธอตัดสินใจบันทึกเสียงใหม่ทั้งหมด
- เทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็น “นักเศรษฐศาสตร์”
“บลูมเบิร์ก” เปรียบเทียบอาณาจักร “สวิฟตี้” (ชื่อเรียกแฟนคลับของเทย์เลอร์ สวิฟต์) เหมือนกับบริษัทห้างร้านแห่งหนึ่งว่า เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีฐานลูกค้าแน่นหนามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีซีอีโอที่ทรงเสน่ห์และมีอำนาจทางเศรษฐกิจ โดย “Bloomberg Economics” ยังได้ประมาณการเม็ดเงินจากการแสดงคอนเสิร์ตของ “เทย์เลอร์” กว่า 53 ครั้งในสหรัฐในปีนี้ว่า มีมูลค่าเทียบเท่า “GDP” ของประเทศขนาดเล็กเลยทีเดียว
“แคโรลิน สโลน” (Carolyn Sloane) นักเศรษฐศาสตร์แรงงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก (Chicago University) ให้ความเห็นว่า นอกจากนักร้องสาวจะมีความสามารถร้องเต้นตามเส้นทางอาชีพของเธอแล้ว ยังสามารถขยายไอเดียออกมาหลากหลายรูปแบบจนสร้างเม็ดเงิน-ผลกำไรได้มหาศาล อาทิ การบันทึกการแสดงสดแล้วนำมาฉายผ่านโรงภาพยนตร์ทั่วโลก
“The Eras Tour” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า “เทย์เลอร์ สวิฟต์” สามารถต่อยอดความสามารถของเธอสู่เม็ดเงินได้อีกหลายช่องทาง โดยเฉพาะการตัดสินใจประกาศ “เวิลด์ทัวร์” หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 จบลง โดยก่อนหน้านั้น “เทย์เลอร์” ก็ไม่ได้ทิ้งงานเพลงแต่อย่างใด เธอยังคง “เลี้ยงกระแส” ด้วยการปล่อยเพลงระหว่างการแพร่ระบาดผ่านระบบสตรีมมิ่ง ทำให้หลังการระบาดใหญ่จบลง ประจวบเหมาะกับที่ทั่วโลกห่างหายจากการแสดงสดไปนาน “The Eras Tour” จึงได้รับการตอบรับอย่างถล่มทลาย
กระแสตอบรับเวิลด์ทัวร์ครั้งนี้นำไปสู่ข้อถกเถียงว่าด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย แม้กระทั่ง “เจอโรม พาวเวล” (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “เฟด” (Fed) ยังออกมาให้ความเห็นถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งตั๋วคอนเสิร์ต “The Eras Tour” ที่ขายหมดเกลี้ยง รวมถึง “Renaissance World Tour” ของ “บียอนเซ่” และรายได้ถล่มทลายของภาพยนตร์ “บาร์บี้” (Barbie) ว่า เป็นประเด็นที่ต้องทำการศึกษากันต่อไป ในขณะที่ “เฟด” หารือถึงการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังน่าเป็นห่วง แต่ก็พบว่า ผู้บริโภคยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินจำนวนไม่น้อยเพื่อซื้อความสุขผ่านเสียงเพลงและภาพยนตร์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แม้อีกด้านหนึ่งตัวเลขด้านการบริโภคภายในประเทศจะยังไม่สู้ดีนัก
ด้าน “เบรต เฮ้าส์” (Brett House) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก “Columbia Business School” ให้ความเห็นว่า ปรากฏการณ์ที่ผู้คนมีกำลังจ่ายราคาตั๋วที่สูงเช่นนี้ได้เป็นสาระสำคัญที่ต้องติดตามและร่วมกันวิเคราะห์ต่อไป เขามองว่า ทั้งหมดนี้มีจุดร่วมของ 3 สิ่งประกอบกัน ได้แก่ คนที่มีเงินออม คนที่มีความปรารถนาที่จะจ่าย และกระแสที่ “เทย์เลอร์” หล่อเลี้ยงมาตลอดการแพร่ระบาดใหญ่อย่างการปล่อยอัลบั้มเต็มให้แฟนๆ ได้ฟังกัน เขาเรียกสิ่งนี้ว่า “The soundtrack of the pandemic” หรือเพลงประกอบโรคระบาด
- เทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็น “นักการตลาด”
ไม่เพียงมีไอเดียด้านการทำเงิน-ต่อยอดอาชีพ แต่ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ยังสร้างความผูกพันอันเหนียวแน่นกับแฟนๆ ทั่วโลกด้วยการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับแฟนเพลงที่เติบโตมาพร้อมกัน แม้เป็นการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ “เทย์เลอร์” กลับใช้ช่องทางดังกล่าวอย่างชาญฉลาด โดยนักวิเคราะห์มองว่า นักร้องหญิงวัย 33 ปีคนนี้สร้าง “Bonding” ระหว่างตนเองและแฟนคลับได้ง่ายกว่ายุคของป็อปสตาร์ในยุคก่อนอย่าง “มาดอนน่า” (Madonna) หรือ “ไมเคิล แจ็คสัน” (Michael Jackson)
นอกจากการปล่อยเพลงอย่างสม่ำเสมอและทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อพบปะแฟนๆ ทั่วโลก “เทย์เลอร์” ยังมีสินค้าอื่นๆ ให้แฟนๆ ได้สะสมกัน นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ระบบนิเวศเหล่านี้สร้างกำไรให้กับนักร้องสาวเป็นอย่างมาก ตั้งแต่แผ่นเสียง เครื่องประดับอย่างกำไลลูกปัด ตั๋วเครื่องบิน ยอดสตรีมเพลงชุดก่อนๆ และยอดสตรีมจากอัลบั้มที่ “เทย์เลอร์” ตัดสินใจอัดเสียงขึ้นใหม่จะสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้เธอเพิ่มขึ้นอีก
การตัดสินใจอัดเพลงทั้ง 6 ชุดที่เจอกับปัญหาด้านลิขสิทธิ์ไม่เพียงทำเงินให้ “เทย์เลอร์” แต่ยังเป็นการพลิกโฉม-สร้างคุณูปการให้กับวงการเพลงด้วยการดันเพลงเก่าที่มีอายุเกินทศวรรษขึ้นสู่ “บิลบอร์ด ชาร์ต” อีกครั้ง และในวันนี้การเปิดตัวอัลบั้ม “1989 (Taylor’s Version)” ซึ่งเป็นอัลบั้มที่เคยทำยอดขายสูงสุดให้กับเธอมาแล้วจะยิ่งสร้างปรากฏการณ์-เปิดบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับวงการดนตรีอย่างปมปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลงและรายได้ที่ยุติธรรมต่อศิลปินและคนทำงานเพลง
ในขณะที่โลกยังคุกรุ่นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น การบริโภคภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ยังทรงๆ ทรุดๆ แต่การมาถึงของ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” กลับสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เพียงชั่วพริบตา นี่คือสิ่งที่นักร้องวัย 33 ปีกำลังสร้างขึ้น