คอนเสิร์ต 4,600 ล้านดอลลาร์ ของ 'เทย์เลอร์ สวิฟต์' l กันต์ เอี่ยมอินทรา

คอนเสิร์ต 4,600 ล้านดอลลาร์  ของ 'เทย์เลอร์ สวิฟต์' l กันต์ เอี่ยมอินทรา

ปรากฏการณ์ทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปิน "เทย์เลอร์ สวิฟต์" ที่กำลังจะทำรายได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นตัวอย่างการจัดคอนเสิร์ตที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเมืองหรือประเทศที่จัดงาน และคนในเมืองก็จะได้ประโยชน์ร่วมด้วย

อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์หนังไทย เมื่อ หนังผีไทยอย่าง “สัปเหร่อ” กำลังทำรายได้เฉียด 700 ล้านเพียง 25 วันหลังจากเข้าฉาย

ขณะที่ “ธี่หยด” อีกหนึ่งหนังผีไทยที่กำลังจะทำรายได้ถึง 300 ล้าน เพียง 5 วันหลังวันฉาย ซึ่งกระแสความนิยมนี้น่าจะกระตุ้นให้ผู้สร้างและนักลงทุนเห็นโอกาสในการทำกำไรจากธุรกิจหนังไทย และคนไทยเราก็น่าจะมีโอกาสดูหนังไทยดีๆ มากขึ้นในอนาคต

รายได้จากอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างหนัง ละคร เพลง สามารถเรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และเป็นตัวดึงดูดรายได้จากต่างประเทศได้อย่างดีหากเกิดเป็นกระแสนิยมโดยเฉพาะในเวทีนานาชาติ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลถึงพยามปลุกปั้นเข็นให้ Soft Power ของไทยนั้นไปไกลและมีที่ยืนในเวทีโลก

 

และตัวอย่างถึงดอกผลหรือแม้กระทั่งบันไดขั้นตอนแห่งความสำเร็จนั้นก็ไม่ได้ไกลเลย เกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการดันอุตสาหกรรมบันเทิงเพื่อเป็นอีกหนึ่งกลจักรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเหตุผลหลักที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จก็คือ นโยบายและการสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอจากภาครัฐอย่างยาวนาน (20 ปีขึ้นไป) การร่วมมือกันของเอกชน และกระแสการตอบรับจากสังคมเกาหลีเอง

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงก็คือ ปรากฏการณ์ทัวร์คอนเสิร์ตของศิลปินสหรัฐ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ตอนนี้กำลังจะทำรายได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์โดยจะถือเป็นการทัวร์คอนเสิร์ตที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเท่าที่โลกเคยมีการบันทึกมา และมีแนวโน้มจะสูงถึง 2,200 ล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อยเมื่อทัวร์จบในปลายปีหน้า

แล้วคอนเสิร์ตนี้มันเกี่ยวกับชีวิตเราอย่างไร? หากมองผิวเผินก็คงค่อนข้างไกล แต่ถ้าวิเคราะห์อย่างละเอียดจะพบว่าการเลือกจัดคอนเสิร์ตของนักร้องยอดนิยมระดับโลกในเมืองใดนั้น เมืองนั้นก็จะพลอยได้รับอานิสงส์ของความดังไปด้วย มีการประมาณการตัวเลขเม็ดเงินที่อาจสูงถึง 4,600 ล้านดอลลาร์ ที่คอนเสิร์ตของเทย์เลอร์นั้น ส่งผลขับเคลื่อนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจสหรัฐ

ร้านอาหาร โรงแรม เที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น ก็คือต้นน้ำในการหมุนเวียนเม็ดเงินให้เกิดสภาพคล่องในเมืองหรือประเทศนั้นๆ เป็นการดึงดูดแฟนเพลงนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเมืองหรือประเทศนั้น แบบเดียวกับที่คนจากประเทศรอบๆ ไทยบินเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาดูคอนเสิร์ต Blackpink หรือแบบเดียวกับที่คนไทยจำจะต้องบินไปสิงคโปร์เพื่อจะรอดูคอนเสิร์ตของเทย์เลอร์ ฉันใดฉันนั้น

อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของนิวซีแลนด์ที่เทย์เลอร์ไม่ได้เลือกไปจัดคอนเสิร์ตในรอบนี้ แต่เลือกที่จัดที่ออสเตรเลียแทน สายการบินนิวซีแลนด์ก็จำต้องเพิ่มรอบเที่ยวบินอีกถึง 14 เพื่อรองรับกับจำนวนแฟนเพลงที่ตั้งใจจะบินไปดูคอนเสิร์ตถึงออสเตรเลีย

และตัวเลขเม็ดเงิน 4,600 ล้านดอลลาร์ที่เกิดขึ้นจากคอนเสิร์ตนี้ที่จะเข้ามาช่วยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจสหรัฐ นั้นไม่ใช่เพียงเฉพาะค่าตั๋ว แต่รวมถึงค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งค่าอาหาร เครื่องบิน โรงแรม ตลอดจนของที่ระลึก และค่าเสื้อผ้า ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนสหรัฐใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300 ดอลลาร์ หรือประมาณ 47,000 บาทต่อหัว ซึ่งก็น่าจะพอๆ กับคนไทยที่จะบินไปชมคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์

และนี่คือเหตุผลว่าทำไม จึงมีเสียงเรียกร้องให้นักร้องดัง เลือกไทยเป็นหนึ่งในที่จัดคอนเสิร์ต แน่นอนว่าเสียงเรียกร้องนั้นมาจากความต้องการส่วนบุคคล แต่ถ้ามองให้ลึกและละเอียดแล้วจะพบว่า ประเทศและคนในเมืองจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ดังกรณีศึกษา