เศรษฐกิจซบเซาหนัก ‘จีน’ลุยฟื้นทวิภาคีเอเปค 2023
สื่อญี่ปุ่นชี้ความท้าทายต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่จีนกำลังเผชิญอยู่นำไปสู่การจัดประชุมสุดยอดระดับผู้นำกับหลายประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เป็นเจ้าภาพเปิดมหาศาลาประชาคมจีนในกรุงปักกิ่ง ต้อนรับนายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส แห่งออสเตรเลีย ในโอกาสที่ผู้นำออสเตรเลียเดินทางเยือนจีนเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพื่อกระชับสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกันใหม่อีกครั้ง
ภายในสัปดาห์เดียวกันยังมีรายงานข่าวว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จะถือโอกาสระหว่างร่วมการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐ ในสัปดาห์หน้า เปิดการประชุมสุดยอดทวิภาคี (Bilateral summit) ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศด้วย
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา บรรดาสื่อญี่ปุ่นรายงานว่าผู้นำจีนจะเปิดการประชุมสุดยอดทวิภาคีกับ “ญี่ปุ่น” ด้วย โดยประธานาธิบดีสีจะพบกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น นอกรอบการประชุมเอเปค ที่สหรัฐ ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเท่ากับว่า ผู้นำจีนจะเปิดการประชุมสุดยอดทวิภาคีถึง 3 เวทีเป็นอย่างน้อย ในเดือนนี้
นิกเคอิ เอเชียรายงานว่าความท้าทายต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่จีนกำลังเผชิญอยู่ นำไปสู่การจัดประชุมสุดยอดระดับผู้นำกับหลายประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น
รายงาน ระบุว่า การประชุมสุดยอดระหว่างฟูมิโอะและสี จะเป็นการหารือทวิภาคีระหว่าง 2 ผู้นำเป็นครั้งแรกในรอบปี นับตั้งแต่การหารือทวิภาคนอกรอบการประชุมเอเปคครั้งก่อนที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน พ.ย. ปี2565
ในการเตรียมการครั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ส่ง ทาเคโอะ อากิบะ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ไปพบหารือกับ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เพื่อหารือกรอบการทำงานสำหรับเตรียมการประชุมระดับผู้นำ
“เราคาดหวังว่าญี่ปุ่นจะเคารพในแถลงการณ์ของตนที่ระบุถึงการแสวงหาความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และมั่นคงกับจีน พร้อมสร้างองค์ประกอบแวดล้อมและบรรยากาศที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคี เพื่อให้การแลกเปลี่ยนระดับสูงระหว่างทั้งสองประเทศพัฒนาและเติบโตขึ้น” หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา
‘อาหารทะเลฟูกุชิมะ’ประเด็นหลักของญี่ปุ่น
เป็นที่คาดว่าในการประชุมสุดยอดทวิภาคีครั้งนี้ คิชิดะจะเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการประชุมระดับผู้นำสองประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกัน โดยความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในระยะหลังมานี้ “ย่ำแย่ลง” จากกรณีที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่ทะเล 2 ระลอกในช่วงปลายเดือนส.ค. และในเดือน ต.ค. เป็นเหตุให้จีนประท้วงและประกาศห้ามการนำเข้าสินค้าทะเลจากญี่ปุ่นชั่วคราวตั้งแต่เดือน ส.ค.
การห้ามนำเข้าดังกล่าว ส่งผลกระทบทันทีทำให้การส่งออกอาหารทะเลไปจีนในเดือน ส.ค. ลดลงจาก 9,900 ล้านเยนเมื่อปีก่อน เหลือเพียง 2,200 ล้านเยน ขณะที่จีนถือเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่จากญี่ปุ่น โดยนำเข้าถึง 9.42 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ท่ามกลางร้านอาหารญี่ปุ่นในจีนที่มีมากถึง 789,000 แห่งทั่วประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ตึงเครียดมาตั้งแต่เดือน มี.ค. เมื่อจีนควบคุมตัวนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทยา แอสเตลลัส ฟาร์มา จากข้อกล่าวหาว่าเป็นสายลับจารกรรมข้อมูล และได้ประกาศจับกุมตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้บริหารรายนี้ เป็นคนที่ทำงานในจีนมานานถึง 20 ปี และเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในจีน
สำนักข่าวเกียวโด ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา จีนได้ควบคุมตัวชาวญี่ปุ่นจากข้อกล่าวหาเรื่องการจารกรรมไปแล้วอย่างน้อย 17 คน
นอกจาก 2 เรื่องนี้แล้ว ญี่ปุ่นและจีนยังมีกรณีพิพาทดั้งเดิมกันอยู่ในเรื่องหมู่เกาะเซนกากุ หรือชื่อในฝั่งจีนว่าหมู่เกาะเตียวอวี๋ หลังจากมีรายงานว่า เรือลาดตระเวณชายฝั่งของจีนหลายลำเข้าไปในพื้นที่พิพาทนี้ ซึ่งเป็นที่คาดว่าการพบกันระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายจะมีการย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกันขึ้นในน่านน้ำทะเลจีนตะวันออก
ขณะเดียวกัน ยังเป็นที่คาดกันว่า คิชิดะจะกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ อีกด้วย เช่น ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
จีนลุยกระชับสัมพันธ์เขตเศรษฐกิจใหญ่
นิกเคอิ เอเชียระบุว่า การประชุมสุดยอดทวิภาคียังมีขึ้นในขณะที่จีนกำลังเพิ่มการกระชับสัมพันธ์กับบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยมุ่งหวังที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มท่ามกลางภาวะขาลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจอื่นๆ โดยในงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อเร็วๆ นี้ จีนได้ส่งสารชัดเจนว่า จะพยายามเปิดตลาดจีนเพื่อรองรับสินค้าและบริการจากทั่วโลกให้มากขึ้น
จีนเดินหน้าเปิดการหารือทวิภาคีอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ตั้งแต่การพบกับผู้นำออสเตรเลีย ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งหลายสื่อระบุตรงกันว่าเป็นความพยายามที่จะฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับออสเตรเลียอีกครั้ง หลังจากที่มีความระหองระแหงกันมาทั้งจากเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง
ภายในจีนเองยังมีเสียงเรียกร้องให้มีการเจรจากระชับสัมพันธ์กับญี่ปุ่นให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในด้านการค้าและการลงทุน ส่วนในมุมของญี่ปุ่นนั้นยังมองว่าการหารือทวิภาคีระดับผู้นำประเทศเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศด้านความมั่นคงให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้นในพื้นที่พิพาททับซ้อน เช่น เซนกากุ/เตียวอวี๋
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังมีความกังวลด้วยว่าสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งเดียวที่ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรด้วยแบบมีพันธสัญญา อาจกลับลำลดการเข้ามาเกี่ยวข้องในอินโด-แปซิฟิกลง เนื่องจากพัวพันอยู่กับสงครามในยูเครนและสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส
ผู้นำญี่ปุ่นเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาจะยึดมั่นในจุดยืนประเด็นสำคัญๆ และกระตุ้นให้จีนแสดงบทบาทมากขึ้นในฐานะประเทศมหาอำนาจ ซึ่งในการพบปะกับประธานาธิบดีสีสัปดาห์หน้านี้ เป็นที่คาดว่านายกฯ คิชิดะจะย้ำถึง 2 เรื่องเฉพาะหน้าของญี่ปุ่นในเวลานี้ อย่างการนำเข้าอาหารทะเลและการปล่อยตัวพลเมืองญี่ปุ่นมาก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนจะพัฒนาไปสู่เรื่องต่อๆ ไป