ถอดบทเรียนญี่ปุ่น ‘ฟรีวีซ่าไต้หวัน’ กลยุทธ์ท่องเที่ยวไทยยังไม่สาย
การให้ ‘ฟรีวีซ่าไต้หวัน’ ของประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นกลยุทธ์ที่สร้างอิมแพคเป็นอย่างมาก หนุนให้ปัจจุบันญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวไต้หวันมากกว่า 2 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่ไทยมีนักท่องเที่ยวไต้หวันน้อยกว่า 6 เท่า แต่ถึงกระนั้น ฟรีวีซ่าไต้หวันของไทยยังคงไม่สายที่จะเริ่ม
ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น “ฟรีวีซ่า” ให้กับชาวไต้หวันเข้าไทย ตามข้อสังเกตของผู้เขียน ทั้งรัฐบาลไทยและภาคเอกชนต่างประเมินตลาดการท่องเที่ยวขาออกของไต้หวันต่ำเกินไปมาเป็นระยะเวลานาน ในทางกลับกัน ญี่ปุ่นได้มองเห็นศักยภาพการท่องเที่ยวขาออกของไต้หวันมาตั้งแต่เนิ่นๆ และประสบความสำเร็จอย่างมากในการจับตลาดกลุ่มนี้
โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2548 ญี่ปุ่นได้ยกเว้นวีซ่าให้กับผู้ที่มีทะเบียนบ้านในไต้หวัน และนอกจากปี 2551 และ 2554 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินและแผ่นดินไหวใหญ่ในญี่ปุ่นแล้ว ในปีอื่นๆก็ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ได้ทำสถิติสูงสุดโดยมีนักท่องเที่ยวไต้หวันเข้าญี่ปุ่นสูงถึง 4.91 ล้านคน หรือคิดเป็น 4.6 เท่าของช่วงก่อนฟรีวีซ่าในปี 2547
หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้กลับมาเปิดเต็มรูปแบบในปี 2566 ตลาดท่องเที่ยวขาออกจากไต้หวันสู่ญี่ปุ่นก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีกำลังซื้อที่น่าทึ่งเป็นอย่างมาก ในไตรมาสที่สองของปี 2566 ค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงถึง 173.9 พันล้านเยน (ประมาณ 37.5 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน) ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็น 14.4% ของค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวทั้งหมด อันดับที่ 2 คือสหรัฐ และอันดับที่ 3 คือจีน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมมูลค่า 151.5 พันล้านเยน (ประมาณ 32.5 พันล้านดอลลาร์ไต้หวัน) หรือคิดเป็น 12.6% ของค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวทั้งหมด
ข้อมูลสถิติด้านการท่องเที่ยวก่อนการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า ในปี 2562 ชาวไต้หวันเดินทางเข้าญี่ปุ่น 4.91 ล้านคน และเดินทางเข้าไทย 790,000 คน ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้าญี่ปุ่น 9.59 ล้านคน และเดินทางเข้าไทย 10.99 ล้านคน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรโดยรวมแล้ว จะพบว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากไต้หวันไปญี่ปุ่นนั้นสูงมากจริงๆ
ในปีนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง ก.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวจากไต้หวันไปญี่ปุ่นมีมากกว่า 2.21 ล้านคน ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของชาวไต้หวัน และเป็นประเทศแรกที่เลือกเดินทางไปต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวจากไต้หวันมายังประเทศไทยมีจำนวนเพียง 358,000 คนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าญี่ปุ่นถึง 6 เท่า
ทำไมประเทศไทยในฐานะเมืองแห่งการท่องเที่ยวจึงไม่สามารถแซงญี่ปุ่นได้? นอกจากการยกเว้นวีซ่าแล้ว ญี่ปุ่นทำอะไรอีกบ้างจึงสามารถมัดใจนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันไว้ได้อยู่หมัด?
- ญี่ปุ่นมีแผนอำนวยความสะดวกไต้หวัน
จากข้อสังเกตของผู้เขียน สาเหตุหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถมัดใจนักท่องเที่ยวจากไต้หวันไว้ได้ คือ การที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับตลาดไต้หวัน องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการวางแผนการเดินทาง เป็นภาษาจีนดั้งเดิมหรือภาษาจีนตัวเต็มสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันโดยเฉพาะ เว็บไซต์ของรถไฟ JR-EAST แผนที่รถไฟใต้ดินของโตเกียวเมโทร ล้วนมีอินเทอร์เฟซภาษาจีนดั้งเดิม ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับชาวไต้หวันที่เดินทางไปญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความใส่ใจอีกด้วย
ตั้งแต่ภาครัฐไปจนถึงเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าทาคาชิมายะ, มิตสึโคชิ, อิเซตัน, วาโค ก็มีการทำสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาจีนดั้งเดิม นอกจากนี้ สื่อภาษาจีนดั้งเดิมที่บริหารโดยคนญี่ปุ่นอย่าง Let's go Japan และนิตยสารท่องเที่ยวออนไลน์ MATCHA ก็ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันและฮ่องกงโดยเฉพาะด้วย
- ไทยต้องเร่งปรับภาพลักษณ์ แก้ข่าวลือบนโซเชียล
เมื่อนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น จุดหมายปลายทางที่เลือกไปจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองใหญ่อีกต่อไป จากการท่องเที่ยวธรรมดาในช่วงวันหยุดก็เปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวยินดีที่จะใช้เวลามากขึ้นเพื่อซึมซับวัฒนธรม จำนวนวันที่อยู่ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1-2 สัปดาห์ และเมื่อเวลาผ่านไป ไต้หวันก็ได้ขยายเส้นทางบินหลายเส้นทางนอกเหนือจากโตเกียว
เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันที่เดินทางมาประเทศไทย มักจะพักอยู่ที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา และอาจจะมีหัวหิน ภูเก็ต เกาะสมุย บ้าง แต่ก็จะหยุดอยู่ที่เหล่านี้เท่านั้นภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของชาวไต้หวันส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่สถานบันเทิงยามค่ำคืน ซึ่งเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแล้ว ประเทศไทยก็เปรียบเหมือนสถานที่แห่งความสนุกสนานมากกว่า
นอกจากนี้ เมื่อค้นหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยบนอินเทอร์เน็ตก็จะมีแต่ข้อมูลเชิงลบ เช่น มิจฉาชีพ ทัวร์ราคาถูก แท็กซี่โกงราคา บวกกับเหตุการณ์แก๊งอาชญากรรมออนไลน์ในอาเซียนในช่วงไม่นานมานี้ที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก และสื่อที่เผยแพร่ข้อมูลเกินจริง จนข่าวลือผิดๆได้แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง หรือแม้กระทั่งบทความน่าขนลุกบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับโชว์มนุษย์ประหลาดในไทย
แต่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงหรือ? ผู้เขียนเชื่อว่าการยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทยและการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศไทยถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
- หนุนนทท.ไต้หวันใกล้ชิดไทยมากขึ้น
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ผู้เขียนรวบรวมมาแล้ว โอกาสทางธุรกิจจากการท่องเที่ยวขาออกของไต้หวันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ สิ่งที่น่าตื่นเต้นคือรัฐบาลไทยชุดใหม่ได้ทำการยกเว้นวีซ่าให้กับไต้หวันในเดือนพ.ย.ปีนี้ (2566) ซึ่งถือว่ายังไม่สายเกินไป
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ญี่ปุ่นได้ยกเว้นวีซ่าให้กับไต้หวันตั้งแต่ปี 2548 นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันได้สร้างโอกาสทางธุรกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ให้กับญี่ปุ่น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้กินเวลายาวนานเกือบ 20 ปี
แต่ในปัจจุบัน ช่องทางสื่อและโซเชียลมีเดียหลักของไต้หวัน เช่น Facebook, Instagram, Line มีความคล้ายคลึงกับของไทย หากภาครัฐและเอกชนของไทยสามารถทำตามญี่ปุ่น มีการจัดการเฉพาะสำหรับตลาดผู้ใช้ภาษาจีน เช่น ไม่เน้นเพียงภาษาจีนประยุกต์สำหรับตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ให้ความสำคัญกับภาษาจีนดั้งเดิมสำหรับตลาดไต้หวันและฮ่องกงด้วย ด้วย Content Marketing นี้จะทำให้นักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน “ใกล้ชิด” กับประเทศไทยได้ง่ายขึ้น และค่อยๆ ขยับขยายไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างแน่นอน