ชิม Tiradito-Ceviche ลุยครัว‘เปรู’เรียนรู้วัฒนธรรม
คนเราถ้าอยากรู้จักกันให้มากขึ้นต้องไปกินข้าวที่บ้าน แต่ถ้าได้ทำกับข้าวด้วยกันจะรู้จักกันลึกซึ้งมากเข้าไปอีก เพราะเมนูที่เลือก วัตถุดิบที่ใช้ รวมถึงกระบวนการปรุงช่วยให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
เหมือนอย่างที่สถานเอกอัครราชทูตเปรูประจำประเทศไทยโดยเอกอัครราชทูตเซซิเลีย กาลาเรตา จัดคอร์สเรียนทำอาหารเปรูให้กับสื่อมวลชนไทยเมื่อวันก่อนที่ The Food School Bangkok เล่นเอาสนุกสนานอิ่มอร่อยไปตามๆ กันกับเมนูปลาดิบสไตล์เปรู นำขบวนโดยเชฟอังเดร เซเวริโน กับสองเมนูที่ใช้ปลากะพงสดเป็นส่วนประกอบสำคัญ จานแรกชื่อว่า Tiradito ใช้ปลากะพงหั่นบางและกุ้งแม่น้ำย่าง ราดด้วยซอสพริกเหลืองโปะด้วยเครื่องยำ อีกจานชื่อ Ceviche with Mango ใช้ปลากะพงสดหั่นเต๋าและมะม่วงหั่นเต๋า หมักด้วยเครื่องเทศ คึ่นช่าย ขิง น้ำมะนาว หอมแดง และผักชี ราดด้วยซอสพริกเหลืองอีกเช่นกัน
แน่นอนว่าอาหารทั้งสองจานมีปลากะพงสดเป็นพระเอก ส่วนนางเอกคือส่วนผสมสดๆ ทั้งหลายขอเรียกง่ายๆ ว่าเครื่องยำ โดยเฉพาะน้ำมะนาวที่สูตรเดิมเชฟบอกว่าใช้น้ำส้มยูซุ แต่คนไทยอาจจะข้องใจนิดหน่อยตรงที่อาหารทั้งสองจานปรุงรสเค็มด้วยเกลือ ไม่มีน้ำปลาและปลาร้าอย่างที่หลายคนคุ้นเคย ทว่ายังได้ความสดหวานจากเนื้อปลาและหอมกลิ่นมะนาวชวนน้ำลายสอ นอกจากอร่อยแล้ว Tiradito ยังมีสีสันสดใสถึง 5 สี แดง เขียว เหลือง ดำ ขาว
สอบถามที่มาที่ไปของโครงการ ทูตกาลาเรตาเล่าว่า สถานทูตเปรูร่วมมือกับสถาบันสอนทำอาหารดุสิตธานีเพื่อประชาสัมพันธ์อาหารเปรู โชคดีมากที่มีเชฟชาวเปรูมาจากกรุงลิมาเป็นเชฟหลักที่ร้านอาหารโนมาดา (Nomada')
สถานทูตจึงเชิญมาสาธิตการทำอาหารในเมนูปลายอดนิยม และถ้าหากจะพูดถึงอัตลักษณ์ของอาหารเปรูแล้วล่ะก็ ทูตกล่าวว่า อาหารไทยกับเปรูเหมือนกันมาก
“อาหารไทยได้รับความนิยมมากไม่ว่าไปไหน ดิฉันยังจำได้ตอนไปดำรงตำแหน่งที่เยอรมนีมีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ห่างจากสถานทูตแค่ช่วงตึก เราไปทานกันบ่อยมาก อร่อยมากค่ะ ในกรณีเปรูปีนี้ ร้านอาหารเปรูในกรุงลิมาชื่อว่าร้านเซ็นทรัลได้รับยกย่องเป็นร้านอาหารดีที่สุดในโลก และยังมีอีก 4 ร้านติดกลุ่ม50 ร้านอาหารดีที่สุดในโลก ช่วงสิบปีที่ผ่านมาเรามีโอกาสแสดงให้โลกเห็นว่าอาหารเปรูอร่อยมากและหลากหลาย เหมือนกับในเมืองไทยที่เมื่อคุณไปเปรูคุณจะเจอแต่อาหารอร่อยไม่ว่าจะร้านเล็กๆ หรือระดับไฮเอนด์”
อย่างไรก็ตาม คนที่ไม่คุ้นเคยอาจแยกไม่ออกว่าอาหารอเมริกาใต้ชาติอื่นๆ กับอาหารเปรูต่างกันอย่างไร
“เรามีส่วนผสมบางอย่างที่เป็นพื้นฐานของอาหารเปรู เช่น พริก เรามีพริกเผ็ดพิเศษ ยี่หร่า กระเทียม หอม เหล่านี้คือส่วนผสมพิเศษที่พบได้ในอาหารเปรู ในเวลาเดียวกันก็มีความหลากหลายและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ การมาเที่ยวเปรูไม่ได้สัมผัสแค่อาหารแต่ยังให้ประสบการณ์การใช้ชีวิต” ทูตเล่าพร้อมอธิบายเสริม มีงานวิจัยรองรับว่า อาหารจากพื้นที่ความสูงแตกต่างกัน มีคุณประโยชน์แตกต่างกัน "นี่ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารแต่เป็นความจริงที่ว่า อาหารสัมพันธ์กับผู้คน" ทูตย้ำซึ่งโดยนัยนี้อาหารยังสะท้อนถึงชุมชนผู้ผลิต
"เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวได้สัมผัสทั้งอาหาร งานฝีมือ วัฒนธรรมชุมชน ไปที่ไหนมีแต่ความตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่คนในท้องถิ่นได้สร้างสรรค์ ทำให้คนอยากมาท่องเที่ยวไทย เราก็กำลังพัฒนาการท่องเที่ยวของเราให้นำเสนอประสบการณ์แบบองค์รวมที่แสดงถึงความรุ่มรวยด้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิตของเปรู"
ต้องยอมรับว่านี่เป็นครั้งแรกของ World Pulse กับอาหารเปรู รายละเอียดของอาหารอาจตกหล่นไปบ้างเพราะนี่ไม่ใช่คอลัมน์สอนทำอาหาร แต่สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนจากการลงครัวคือการเน้นความสดของส่วนผสม อันสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเปรู พูดมาถึงตรงนี้ความรู้สึกอยากไปเยี่ยมไปเยือนเพื่อให้เห็นเปรูด้วยตาตนเองย่อมเกิดขึ้นตามมา เพียงแค่นี้ก็ถือได้ว่า Tiradito และ Ceviche ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว