แบล็กพิงก์เข้าวังบักกิงแฮม ถอดบทเรียนซอฟต์พาวเวอร์
การที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 ชื่นชมวัฒนธรรมเคป็อป และเชิญ BLACKPINK ร่วมงานเลี้ยงพระราชทานเท่ากับรับรองความโดดเด่นของวัฒนธรรมเกาหลีใต้มากยิ่งขึ้น แต่ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้มีแค่เรื่องบันเทิง การมีค่านิยมสอดคล้องกับมาตรฐานสากลสามารถเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นกัน
วานนี้ (22 พ.ย.) มีข่าวฮือฮาควรค่าแก่การถอดบทเรียนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ นั่นคือข่าววงแบล็กพิงก์ (Blackpink) ได้รับเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงพระราชทานที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลาทรงจัดขึ้น ณ พระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน เมื่อช่วงคำวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ในโอกาสที่ประธานาธิบดียุนซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ พร้อมด้วยนางคิมยอนฮี ภริยา เดินทางเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ แบล็กพิงก์เป็นส่วนหนึ่งของแขกผู้มีเกียรติราว 170 คน ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงระดับ State Banquet นี้ ทั้งยังได้รับพระราชดำรัสชื่นชมจากกษัตริย์อังกฤษ
สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 มีพระราชดำรัสในงานเลี้ยงรับรองถึงอิทธิพลของซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีใต้ที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมอังกฤษไม่ว่าจะเป็นวงบีทีเอส (BTS) ซีรีส์เรื่องสควิดเกม (Squid Games) ภาพยนตร์ของบงจุนโฮผู้กำกับเรื่อง Parasite ชนชั้นปรสิต ทั้งยังตรัสยกย่องแบล็กพิงก์ที่มีส่วนช่วยรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นที่ทราบกันดีว่ากษัตริย์ชาล์สทรงสนใจสิ่งแวดล้อมมานาน พระราชดำรัสระบุถึงชื่อเจนนี่ จีซู ลิซ่า และโรเซ่ ตรงๆ เล่นเอาเจ้าตัวปลาบปลื้ม
วัฒนธรรมเคป็อปนั้นถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ชื่อก้องระดับโลก อย่างไรก็ตาม พลังทางวัฒนธรรมไม่ได้มีแค่ศิลปินเกาหลีใต้ ราชวงศ์อังกฤษก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์แห่งสหราชอาณาจักรด้วยเหมือนกัน การที่กษัตริย์ชาลส์ตรัสชื่นชมวัฒนธรรมเคป็อปเท่ากับรับรองความโดดเด่นของวัฒนธรรมเกาหลีใต้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เรื่องนี้เทียบเคียงได้กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นใกล้บ้านเราเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าชายวิลเลียมแห่งอังกฤษเสด็จเยือนสิงคโปร์ครั้งแรกในรอบหลายปี เพื่อร่วมงานพระราชทานรางวัลเอิร์ธช็อตที่พระองค์ก่อตั้งขึ้น มอบให้กับผู้สร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม
ปีนี้เป็นปีแรกที่มาจัดงานในทวีปเอเชีย สำนักพระราชวังเคนซิงตันแถลงว่า สิงคโปร์ได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดงานเพราะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งเอเชีย อย่างนี้คือซอฟต์พาวเวอร์ของสิงคโปร์ใช่หรือไม่ ยิ่งได้จัดงานพระราชทานรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่เจ้าชายคนดังเสด็จมาเองยิ่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ กรณีของเกาหลีใต้งานบันเทิงทั้งหลายเป็นสื่อนำพาอำนาจทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ออกไปสู่โลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้มีแค่เรื่องของความบันเทิง การมีค่านิยมที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น การดูแลสิ่งแวดล้อม ยึดมั่นประชาธิปไตย เป็นสังคมแห่งความเท่าเทียม ทำธุรกิจสะดวก เป็นสังคมเกย์เฟรนด์ลี ฯลฯ เหล่านี้สามารถสร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นกัน และประเทศไทยน่าจะพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ในมิติแบบนี้บ้าง ควบคู่กับการเสริมสร้างมิติวัฒนธรรม