แบรนด์แฟชั่นจีน ‘ชีอิน’ ฝ่ามรสุม ย่องเงียบเข้าตลาดหุ้นสหรัฐรายล่าสุด
หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนและนำไปสู่การออก IPO ได้ตามกำหนดในปี 2567 แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นจีน ‘ชีอิน’ อาจกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดจากฝั่งจีน
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับจีนจะกระทบกระทั่งกันมานานหลายปี จนส่งผลให้การค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายสะดุดตามไปด้วย ทว่าล่าสุด “ชีอิน” (Shein) บริษัทฟาสต์แฟชั่นที่มาแรงที่สุดในขณะนี้ อาจจะก้าวขึ้นเป็นบริษัทสัญชาติจีนรายใหม่ที่ฝ่ามรสุมเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐได้สำเร็จ
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า ชีอินซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นออนไลน์รายใหญ่ที่สุดของจีน ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เอสอีซี) ของสหรัฐ เพื่อเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ในปี 2567
แหล่งข่าวเผยว่า บริษัทได้ว่าจ้างกลุ่มธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารโกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และมอร์แกน สแตนลีย์ เพื่อเป็นแกนนำหลักในการดำเนินการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ในครั้งนี้
แม้จะมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ชีอินเป็นบริษัทสัญชาติจีนที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นในเมืองหนานจิง ทางตะวันออกของจีน เมื่อเดือน ต.ค. 2551 ในชื่อเดิมว่าซีคโค (ZZKKO) ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่กำลังเกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์ในสหรัฐ และใช้เวลาไม่ถึง 20 ปี ก็คาดว่าจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทแฟชั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้า “เอชแอนด์เอ็ม” (H&M) จากสวีเดน และอินดิเท็กซ์จากสเปนซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ “ซารา” (ZARA) ไปได้
หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนและนำไปสู่การออกไอพีโอได้ตามกำหนดในปีหน้า ชีอินอาจกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดจากฝั่งจีน หลังจากมีการประเมินมูลค่าบริษัทเบื้องต้นว่าอยู่ที่ประมาณ 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท) แม้บริษัทจะยังไม่ได้เปิดเผยเป้าหมายไอพีโอ แต่บลูมเบิร์กเคยรายงานก่อนหน้านี้ว่าบริษัทมีเป้าหมายระดมทุนถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์
ขณะที่สถิติบริษัทจีนมูลค่าสูงที่สุดในปัจจุบัน คือ ตีตี โกลบอล (Didi Global) บริการเรียกรถโดยสารซึ่่งระดมทุนไปได้ 6.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.38 ล้านล้านบาท) ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อปี 2564
อย่างไรก็ดี การยื่นไฟลิ่งเพื่อขอเปิดไอพีโอในครั้งนี้มีขึ้นในจังหวะที่ตลาดไอพีโอยังซบเซา โดยบริษัทขนาดใหญ่ 4 รายที่เปิดไอพีโอไปก่อนหน้านี้ช่วง 2- 3 เดือนที่ผ่านมา ล้วนไม่สามารถกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนได้มากพอ
รอยเตอร์สระบุว่า “เบอร์เคนสต็อก” ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรองเท้าชื่อดังจากเยอรมนี, “อินสตาคาร์ต” แอปพลิเคชันดิลิเวอรีของชำชื่อดัง และ “อาร์ม โฮลดิงส์” ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกแบบชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่จากอังกฤษ ล้วนเจอราคาหุ้นตกอย่างรวดเร็วหลังเปิดไอพีโอได้เพียงไม่กี่วัน และราคาในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถแซงราคาไอพีโอได้
“นี่ไม่ใช่ช่วงที่ดีที่สุดที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น แต่ถ้าชีอินต้องการเงินทุน ตลาดก็พร้อมเสมอ ความรู้สึกของนักลงทุนเองก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้วเมื่อเทียบกับช่วงหลายสัปดาห์ก่อน และเมื่อนักลงทุนได้เห็นงบตัวเลข ผมเชื่อว่าจะมีการตอบรับที่ดี” เจสัน เบโนวิทซ์ ผู้จัดการพอร์ตอาวุโสของของบริษัทลงทุน ซีไอ รูสเวลท์ กล่าวและทิ้งท้ายว่า คำถามเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ ชีอินจะสามารถยืนระยะในตลาดไปได้นานแค่ไหน
ตลอดปี 2567 ตลาดหุ้นสหรัฐสามารถระดมทุนในการออกไอพีโอได้ราว 2.364 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 8.2 แสนล้านบาท) ซึ่งมากกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขทั้งปีที่แล้วที่ 2.13 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 7.4 แสนล้านบาท) แต่ก็ยังตามหลังหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่การออกหุ้นไอพีโอในสหรัฐทำสถิติสูงสุดทั้งในแง่จำนวนบริษัท 1,035 ราย และในแง่ของมูลค่าการระดมทุนที่สูงถึงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.5 ล้านล้านบาท)
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐเคยเป็นจุดหมายในการระดมทุนของบริษัทสัญชาติจีนที่ต้องการมาจดทะเบียนครั้งแรก หรือจดทะเบียนควบสองตลาด (Dual listing) ก่อนที่ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงของรัฐบาล 2 ประเทศจะกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไปด้วย โดยเฉพาะการเปลี่ยนกฎเกณฑ์เรื่องการตรวจสอบบัญชี จนมีข่าวว่าอาจทำให้บริษัทจีนหลายรายเสี่ยงต่อการถูกถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐก่อนหน้านี้
ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีบริษัทสัญชาติจีนออกไอพีโอในสหรัฐเพียงแค่ 6 รายเท่านั้น ก่อนที่ตัวเลขจะขยับขึ้นเป็น 7 ราย ณ สิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นโค้งสุดท้ายก่อนที่ทางการจีนจะปรับกฎเกณฑ์เรื่องความมั่นคงทำให้ไปตลาดหุ้นต่างประเทศได้ยากขึ้น แต่ทั้ง 7 รายก็มีสัดส่วนการออกไอพีโอรวมกันเพียง 82.3 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 2,900 ล้านบาท) เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่กรณีของชีอินจะถูกจับตามองจากทุกฝ่ายในวันนี้
เปิดประวัติฟาสต์แฟชั่นจีนใหญ่ที่สุดในโลก
“ชีอิน” คือบริษัทที่ทำธุรกิจฟาสต์แฟชั่น หรือกระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่เน้นความรวดเร็วเป็นหลักและใช้ต้นทุนต่ำทั้งวัตถุดิบและค่าแรงในการผลิต เพื่อให้สามารถผลิตเสื้อผ้าราคาถูกและสามารถเข้าถึงได้ง่าย ก่อตั้งขึ้นโดยมหาเศรษฐี คริส ซู่ ในปี 2554 ในชื่อว่า ZZKKO ก่อนจะรีแบรนด์ชื่อเป็นชีอินไซด์ และชีอินในปัจจุบัน
บริษัทสัญชาติจีนรายนี้ย้ายรกรากไปตั้งสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ เมื่อปี 2565 เพื่อให้สะดวกต่อการกรุยทางสู่การเข้าตลาดหุ้นในต่างประเทศ โดยชีอินเป็นบริษัทที่ได้รับความสนใจในแวดวงธุรกิจต่างประเทศเป็นอย่างสูง ทั้งในฐานะบริษัทแฟชั่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนแซงรายใหญ่อย่าง เอชแอนด์เอ็ม และซารา และในฐานะบริษัทจีนที่ถูกรัฐบาลสหรัฐเพ่งเล็งในหลายข้อกล่าวหา
ก่อนหน้านี้ ชีอินเผชิญกับการตรวจสอบเกี่ยวกับ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ย่ำแย่ในโรงงานที่บริษัทร่วมลงทุน รวมทั้งประเด็นการผลิตเสื้อผ้าคุณภาพต่ำในปริมาณมากเกินไป การละเมิดลิขสิทธิ์แบรนด์ดัง และการใช้ฝ้ายจากเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งมีการกล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ โดยวุฒิสมาชิกของสหรัฐได้ส่งจดหมายถึง คริส ซู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของชีอิน เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้
ทว่ากระแสการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งความนิยมที่บรรดานักชอปทั่วโลกมีต่อชีอิน โดยในปี 2565 ชีอินได้เปิดศูนย์กระจายสินค้าในสหรัฐ แคนาดา และยุโรป เพื่อเร่งระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าในภูมิภาคเหล่านี้ นอกจากนี้ ชีอินได้เริ่มขยายการผลิตในบราซิล ตุรกี และอินเดียด้วย
วอลสตรีทเจอร์นัลเคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ ชีอินมีรายได้ถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (เกือบ 8.4 แสนล้านบาท) หรือสูงกว่าเอชแอนด์เอ็มซึ่งอยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5.73 แสนล้านบาท) โดยนับเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งทำรายได้ทั้งปีอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์
“สินค้าแฟชั่นราคาถูก” คือกลยุทธ์สำคัญที่สุดในการรุกตลาดของบริษัทฟาสต์แฟชั่นจีนรายนี้ ซึ่งยังมาพร้อมความสามารถในการเพิ่มรายการสินค้าใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เฉลี่ยมากกว่า 2,800 รายการต่อสัปดาห์ ชีอินยังสามารถเจาะตลาดในสหรัฐได้มากขึ้นหลังจากร่วมเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ ฟอร์เอฟเวอร์ 21 และทำให้ชีอินมีส่วนแบ่งการตลาดฟาสต์แฟชั่นในสหรัฐพุ่งเป็น 50% แซงเอชแอนด์เอ็มที่ 16% และซาราที่ 13%
ปัจจุบัน ชีอินมีพนักงานเกือบ 10,000 คนทั่วโลก และมีการจำหน่ายสินค้าในมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก