‘คนรุ่นใหม่จีน’ สิ้นหวังกับเศรษฐกิจ แห่ลงทุน ‘ทองคำ’ สู้ภาวะไม่แน่นอน
เศรษฐกิจเปลี่ยน เทรนด์เปลี่ยน! "คนรุ่นใหม่จีน" สิ้นหวังกับเศรษฐกิจในประเทศ แห่ลงทุน "ทองคำ" หวังต่อสู้กับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดอสังหาฯทรุด ตลาดหุ้นขาลง และเงินหยวนอ่อนค่า
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ซื้อทองคำในจีนซึ่งเดิมเป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่ ปัจจุบันกลับกลายเป็นกลุ่มอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากภาวะขาลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นและค่าเงินหยวนที่อ่อนแอ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ ทำให้คนรุ่นใหม่จีนเหลือทางเลือกน้อยลงในการเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจอันซบเซา
เทรนด์ดังกล่าวตอกย้ำถึงความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งไม่ได้ฟื้นตัวจากช่วงวิกฤติโควิด-19 เร็วอย่างที่ผู้บริโภคและคนหางานคาดหวังไว้
- หญิงสาวจีนคนหนึ่งกำลังเลือกซื้อเครื่องประดับทองคำ (เครดิตภาพ: Reuters) -
“ตลาดการจ้างงานไม่ค่อยดีเลย” ลินดา หลิว วัย 26 ปี ซึ่งทำงานกับบริษัทยาแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งกล่าว พร้อมแสดงความกังวลเรื่องความมั่นคงในตำแหน่งงาน “การซื้อทองคำทำให้ฉันรู้สึกสบายใจขึ้น ฉันอยากซื้อทองรูปพรรณมากกว่าเครื่องเพชรสำหรับงานแต่งงานตัวเอง”
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ซื้อทองคำแท่ง (Physical Gold) รายใหญ่ที่สุดในโลก และบรรดานักวิเคราะห์มองว่า ในปีนี้ จีนเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญมากขึ้นในการหนุนราคาทองสปอตโลกพุ่งแรง จนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันจันทร์ (4 ธ.ค.) ที่ผ่านมา
- เครื่องประดับทองคำหลากหลายแบบที่วางในตู้โชว์สินค้าของร้านทองแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ (เครดิตภาพ: Reuters) -
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ความต้องการของจีนสำหรับทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยนั้นจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทรุดลงอีกในช่วงหลายปีข้างหน้า และกระแสเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกได้ถ่วงค่าเงินหยวน ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง
“รายได้ผู้บริโภคไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก อสังหาริมทรัพย์ไม่ฟื้น ตลาดหุ้นก็ผลงานไม่ดีเท่าที่ควร” ฌักส์ รอยเซน กรรมการผู้จัดการบริษัทดิจิทัล ลักชูรี กรุ๊ปในนครเซี่ยงไฮ้ระบุ “ทองคำจึงเป็นสินทรัพย์โดดเด่นท่ามกลางภาวะแวดล้อมเช่นนี้”
ทั้งนี้ ข้อมูลยอดค้าปลีกล่าสุดของจีนระบุว่า เครื่องประดับทองคำและเงิน เป็นหนึ่งในสินค้าผู้บริโภคที่ผลงานดีที่สุดของจีนในปีนี้ โดยมูลค่าปรับเพิ่มขึ้นแล้ว 12% ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคมเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นรองเพียงสินค้าประเภทเสื้อผ้าเท่านั้น
อ้างอิง: Reuters