ทำความรู้จัก โรค SLE หลังพรากชีวิต 'โจวไห่เหม่ย' นักแสดงสาวชาวฮ่องกง วัย 57 ปี

ทำความรู้จัก โรค SLE หลังพรากชีวิต 'โจวไห่เหม่ย' นักแสดงสาวชาวฮ่องกง วัย 57 ปี

โรค SLE หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง พรากชีวิตนักแสดงสาวชาวฮ่องกง "โจวไห่เหม่ย" วัย 57 ปี ย้ำเป็นโรคเรื้อรัง ป้องกัน-รักษายากลำบาก แนะหมั่นสังเกตอาการ หากพบความผิดปกติควรรีบพบแพทย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สตูดิโอของ "โจวไห่เหม่ย" โพสต์บน Weibo ยืนยันว่า โจวไห่เหม่ยเสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา ในวัย 57 ปี เนื่องจากการรักษาไม่ได้ผล

ตัวแทนทีมงานสตูดิโอของเธอยังบอกว่า "ขอให้เราพบกันใหม่ในชาติหน้า หวังว่าคุณจะมีความสุขอยู่ในอีกโลกหนึ่ง" อีกด้วย

โดยก่อนหน้านี้ ยังมีกระแสข่าวลือว่า โจวไห่เหม่ย เสียชีวิตลงแล้ว สร้างความตกใจแก่แฟนคลับอย่างมาก จนคนใกล้ชิดได้ออกมาปฎิเสธกระแสข่าวดังกล่าว แต่ยอมรับว่ามีอาการโคม่า เพราะหมดสติในบ้านพัก และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

"โจว ไห่เม่ย" หรือ แคที โจว (Kathy Chow) เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2509 ในครอบครัวฐานะดี เป็นนักแสดงหญิงชื่อดังชาวฮ่องกง ที่อดีตเคยมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมากในระดับเอเชีย โดยในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึง ต้นทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2532-2536) เธอได้รับการยกย่องให้ติด ท็อปเท็น นักแสดงหญิงที่โด่งดังทางสายงานละครมากที่สุดในฮ่องกง ติดต่อกันถึง 3 ปี 

ยังเคยได้รับการโหวตให้เป็นหญิงสาวในฝันของชายหนุ่มในไต้หวันอีกด้วย ช่วงกลางยุคทศวรรษ 90s จากการเปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นแนวเซ็กซี่ ทำให้เธอมีฉายาให้ว่า "ชารอน สโตนแห่งเอเชีย" ขึ้นมา และกลายเป็นฉายาที่ใช้เรียกแทนตัวเธอตลอดมา

ทั้งนี้มีรายงานว่า "โจวไห่เหม่ย" ได้ป่วยหนักด้วย โรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus)  หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายอวัยวะต่างๆ โดยเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย

โรค "SLE" หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่คุ้นหูว่า โรคพุ่มพวง จากอดีตที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ป่วยเป็นโรคนี้ และเสียชีวิต ทำให้หลายคนจำชื่อโรคพุ่มพวงมาจนถึงปัจจุบัน อีกคนคือ"คุณหญิงแมงมุม" ม.ร.ว.ศรีคำรุ้ง ยุคล ป่วยเป็นโรคดังกล่าว ทำให้หลายคนต่างให้กำลังใจจำนวนมาก ยังไม่พอ ยังมีอดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ "โรดริโก ดูเตอร์เต" ที่ป่วยด้วยโรคนี้ ทำให้อาการเจ็บป่วยรุนแรงตลอดเวลาอีกด้วย 

โดยล่าสุดโรค SLE โรคร้ายได้พรากชีวิตนักแสดงสาวชาวฮ่องกง "โจวไห่เม่ย" วัย 57 ปี ทำแฟนคลับต่างเสียใจอย่างมาก
 

รศ.พญ.วันรัชดา คัชมาตย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus ) คือ ภาวะที่เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ

โดยปกติเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค แต่ในคนไข้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิในเม็ดเลือดขาวกลับไปทำลายเซลล์ร่างกายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ที่มันไปทำลาย ดังนั้น อาการที่เกิดขึ้นก็เกิดจากเม็ดเลือดขาวไปโจมตีอวัยวะต่างๆ เหล่านั้น 

อาการที่ควรพบแพทย์ 

  • มีอาการทางผิวหนัง เช่น  มีผมร่วง มีแผลในปาก จะอยู่ที่เพดานซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ   
  • แพ้แสง เวลาถูกแสงแดดจะมีปฏิกิริยามากกว่าปกติ  
  • มีผื่นรูปผีเสื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณโหนกแก้มและจมูก 
  • มีอาการปวดข้อ บวมแดง ร้อน 
  • นอกจากนี้ ยังมีอาการที่อวัยวะภายในอื่นๆ  เช่น หัวใจ ปอด ไตและระบบประสาท

การวินิจฉัย 

  • การวินิจฉัยโรคแพ้ภูมิตัวเอง ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้จากประวัติของผู้ป่วย   การตรวจร่างกายพบรอยโรคร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด  ปัสสาวะ การตรวจเอกซเรย์หัวใจและปอด

การรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง  

  • สำหรับการรักษามีวิธีรักษาด้วยยา จะมียาลดการอักเสบของข้อ ลดการเจ็บปวด นอกจากนี้ อาจจะมียาช่วยในการปรับการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำงานเหมือนปกติมากยิ่งขึ้น  ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากดภูมิ 
  • ส่วนการรักษาอื่นในผู้ที่มีอาการข้อปวดบวม ข้อติดขัด อาจจะมีการแช่ในน้ำอุ่น  ขยับมือและขยับข้อในน้ำอุ่น ซึ่งทำให้ข้อนั้นลดความฝืด ลดความปวดได้ดีขึ้น
     

ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง  

  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์รักษา  ไม่หยุด  ไม่เพิ่มหรือลดขนาดยาเอง  
  • การถูกแสงแดดจะกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังเพิ่มมากขึ้น  การพักผ่อนไม่เพียงพอ 
  • การติดเชื้อในระบบต่างๆ รวมทั้งการตั้งครรภ์ สามารถทำให้โรคกำเริบได้  
  • ควรตั้งครรภ์ในภาวะโรคสงบ เพราะหากตั้งครรภ์ในระยะโรคกำเริบ อาจมีผลต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้  
  • ควรวางแผนครอบครัวกับแพทย์ผู้รักษาก่อนจะตั้งครรภ์
     

ความเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้ภูมิตัวเอง

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเพชรเวช ระบุถึงความเสี่ยงในการเกิดโรค SLE ไว้ดังนี้  

  • เกิดจากการใช้ยา และสารเคมีต่างๆ หรือยาประเภทควบคุมความดันเลือด ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น 
  • เกิดจากฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในบางครั้งจะส่งผลด้วย เช่น ช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงที่เติบโตในแต่ละวัยเป็นต้น 
  • การถ่ายทอดพันธุกรรม โรคหรืออาการบางชนิดที่เกิดในวงเครือญาติอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้
  • ปฏิกิริยาต่อแสงแดด สำหรับคนที่มีผิวหนังไวต่อแสงแดดจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากอาการแพ้ดังกล่าวได้


SLE ป้องกันได้หรือไม่ 

โรคนี้เป็นโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างชัดเจน ทำให้การป้องกันไม่สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคได้อยู่ ถือเป็นการป้องกันที่เราพอจะทำได้เพื่อให้ห่างไกลโรคนี้ 

ด้วยการป้องกันและรักษาอย่างยากลำบาก การดูแลตนเองของผู้ป่วยจึงเป็นสิ่งสำคัญ การมีวินัยตลอดการรักษาจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาประสบความสำเร็จได้


SLE ไม่ใช่โรคติดต่อ 

สำนักงานผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ (DIO) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า เนื่องจาก SLE เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ถือเป็นโรคติดต่อ ดังนั้น ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วย จึงไม่มีความเสี่ยงในการติดโรคนี้