นายกฯเศรษฐา คว้าโอกาสทอง ลงบทความสื่อใหญ่ญี่ปุ่น ดึงดูดลงทุน "แลนด์บริดจ์"
ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เข้าร่วมประชุมสุดยอด ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ได้ลงบทความผ่านสื่อใหญ่ญี่ปุ่น อย่างนิกเคอิเอเชีย ถือเป็นโอกาสทองในการดึงดูดนักลงทุนร่วมลงทุน "โครงการแลนด์บริดจ์" ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างแข็งขัน
ในโอกาสที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เข้าร่วมประชุมสุดยอด ณ กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ล่าสุด สำนักข่าวนิกเคอิได้เผยแพร่บทความจากนายกฯไทย เกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ โดยบทความมีเนื้อหาดังนี้
การเยือนกรุงโตเกียวในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเป็นครั้งแรก รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ของอาเซียนกับญี่ปุ่นที่ยั่งยืนมานาน และถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการนำเสนอโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ
“แลนด์บริดจ์” โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทยนั้น เป็นความพยายามสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตในระยะยาวของภูมิภาค และสอดคล้องกับการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกของรัฐบาลไทย
โครงการนี้จะครอบคลุมการสร้างท่าเรือน้ำลึกใน จ.ระนอง ทางชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย และ จ.ชุมพร ทางอ่าวไทย โดยท่าเรือ 2 แห่งที่อยู่ห่างกัน 90 กิโลเมตร จะดำเนินการภายใต้แนวคิด “หนึ่งท่าเรือ สองฝั่ง” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยการสร้างทางด่วน และทางรถไฟคู่ เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือระหว่างกันและระหว่างเครือข่ายระดับชาติของประเทศ
ท่าเรือแต่ละแห่งจะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้คอนเทนเนอร์มาตรฐานได้มากถึง 20 ล้านตู้ต่อปี และแผนดังกล่าวยังรวมถึงการติดตั้งเครือข่ายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ซึ่งคาดว่ามีต้นทุนรวมโดยประมาณ1 ล้านล้านบาท
โครงการแลนด์บริดจ์แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการยกระดับการเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองภูมิภาครวมด้วย
โครงการนี้ยังสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้คนระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตกที่เพิ่มขึ้นได้ โดยจะเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีศักยภาพ นอกเหนือจากช่องแคบมะละกา
เมื่อโครงการเสร็จสิ้น คาดว่า แลนด์บริดจ์สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกได้เฉลี่ย 4 วัน ทั้งยังลดต้นทุนการขนส่งลง 15% ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ต้องการจัดส่งสินค้าจากเมืองเจนไน ประเทศอินเดีย ไปยังโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น อาจประหยัดเวลาขนส่งได้ถึง 5 วัน และลดต้นทุนได้ 4%
คนที่คุ้นเคยกับการพัฒนาโลจิสติกส์ของไทย อาจเห็นได้ว่า แลนด์บริดจ์เป็นการปรับปรุงข้อเสนอขุดคลองผ่านคอคอดกระ
ในอดีตหลายสิบปี ให้ทันสมัยมากขึ้น แม้ข้อเสนอขุดคลองได้รับอนุมัติครั้งแรกในปี 2532 แต่การพิจารณาหลายประการ ทำให้โครงการนี้ไม่เกิดขึ้นจริงจนกระทั่งทุกวันนี้ แต่ขณะนี้ช่วงเวลาดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ประจวบเหมาะกับแนวโน้มการเติบโตของอนุทวีปอินเดียและแอฟริกาเป็นอย่างดี
ส่วนประเด็นและข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คาดว่าจะได้รับการพิจารณา หารือ และแก้ไขผ่านกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรอบคอบ
โครงการแลนด์บริดจ์จะดำเนินการผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยมีการลงทุนจากต่างประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินโครงการให้สำเร็จ ซึ่งได้รับการตอบรับเชิงบวกจากพันธมิตรที่มีศักยภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นแล้ว เนื่องจากประโยชน์ของโครงการเพื่อการดำเนินงานโลจิสติกส์และบริษัทขนส่งทางทะเลเริ่มปรากฎชัดเจนขึ้น
ด้านกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ที่เตรียมเสนอ จะครอบคลุมจัดการให้บริการ สิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิทธิในที่ดินภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่วางแผนไว้ที่ท่าเรือใหม่ และยังครอบคลุมถึงหลักเกณฑ์การลงทุนจากต่างประเทศ และแรงจูงใจด้านกฏระเบียบเกี่ยวกับการเดินทาง การพำนัก และใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ดีขึ้น และจะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบโครงการโดยรวม เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานทั้งสองชายฝั่งเกิดการบูรณาการร่วมกัน
แผนดังกล่าจะเริ่มการก่อสร้างระยะแรกในเดือน ก.ย.2568 และดำเนินไปจนถึงเดือนต.ค.2573 โดยผู้รับเหมาอาจสามารถประมูลโครงการได้ระหว่างเดือนเม.ย. ถึงเดือน มิ.ย. 2568
ทั้งนี้ แลนด์บริดจ์คาดว่าจะสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยได้ 1.3 ล้านล้านบาท และหนุนอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพื่อขึ้น 1.5% ต่อปี จากโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้นและสร้างงานมากถึง 280,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังนำมาซึ่งโอกาสการพัฒนาใหม่ ๆ ให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ของประเทศไทยด้วย
ผลกระทบจากแลนบริดจ์ที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของประเทศไทย ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โครงการจึงได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น ความเหลื่อมล้ำและหนี้ครัวเรือน
โครงการนี้ยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็ได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพของอาเซียนในฐานะศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และหลังจากประสบกับการแพร่ระบาดโควิดในเอเชีย การเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน กลายเป็นเป้าหมายใหม่ ดังนั้น แลนด์บริดจ์สามารถรับประกันได้ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง
แลนด์บริดจ์จะช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเส้นทางการเดินเรือที่มีอยู่ และเสนอทางเลือกที่รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น สำหรับการขนส่งและการค้า ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ยิ่งไปกว่านั้น ในระยะยาว รัฐบาลอาจทำให้โครงการนี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในความพยายามการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างครอบคลุม และตระหนักถึงผลกระทบเชิงบวกที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งภูมิภาค
นายกฯเศรษฐาทิ้งท้ายในบทความว่า
“แลนด์บริดจ์” เป็นองค์ประกอบสำคัญของความพยายามยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเป็นวงกว้าง ยกระดับการเชื่อมโยงทางรถไฟ และการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศและระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การจัดหาเงินทุนจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้โครงการสำเร็จ นักลงทุนต่างชาติจึงควรพิจารณาโครงการนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนครั้งใหม่ที่น่าตื่นเต้นนี้