เรือนับร้อยลำเลี่ยงทะเลแดงเจอปัญหาซ้ำ 'แอฟริกา' รองรับไม่ไหว

เรือนับร้อยลำเลี่ยงทะเลแดงเจอปัญหาซ้ำ 'แอฟริกา' รองรับไม่ไหว

เรือที่เลี่ยงเส้นทางทะเลแดงไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปแทน เจอปัญหาซ้ำ ท่าเรือในแอฟริการองรับไม่ทัน เจอทั้งปัญหากฏระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน จนถึงการเติมน้ำมัน

Key Points

  • ปัญหากบฎฮูตีทำให้มีเรือเปลี่ยนเส้นทางแล้วหลายร้อยลำ
  • ท่าเรือหลายแห่งในแอฟริกาใต้มีปัญหาการสัญจรติดขัดและระบบราชการที่ทำให้ล่าช้า
  • การพักเติมน้ำมัน กลายเป็นหนึ่งในปัญหาหลักของเส้นทางใหม่
  • 'เมอส์ก' มองทางเลือกในมอริเชียส หรือนามิเบียแทน

 

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า บรรดาเรือสินค้าจำนวนมากที่ระงับการเดินเรือในทะเลแดงชั่วคราวเพื่อเลี่ยงปัญหาการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน กำลังเจอปัญหาใหม่ซ้ำเติมจากการเดินเรืออ้อมผ่านแหลมกู๊ดโฮป ในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากท่าเรือในแอฟริกาใต้ไม่เคยมีเรือสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาในปริมาณมากมาก่อน จึงไม่มีศักยภาพรองรับได้มากและเร็วพอ

 

 

ปัญหาที่เรือหลายลำกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือ ข้อจำกัดเรื่องการเติมน้ำมันและรีสต็อก เนื่องจากท่าเรือหลายแห่งในแอฟริกาเต็มไปด้วยระบบราชการที่ไม่เอื้ออำนวยมากพอ และมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ย่ำแย่ จนทำให้การสัญจรของเรือเดินทะเลติดขัด และกลายเป็นปัญหาซ้ำเติมจากเดิมที่การเปลี่ยนเส้นทางมาอ้อมแอฟริกา ก็ทำให้เรือเหล่านี้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่าปกติ 10-14 วันอยู่แล้ว และยังมีต้นทุนเรื่องเชื้อเพลิง ค่าระวางเรือ และอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย  

รายงานระบุว่า ท่าเรือขนาดใหญ่หลายแห่งในแอฟริกาใต้ เช่น ท่าเรือเดอร์บัน (Durban) หนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกาในแง่ของการจัดการปริมาณตู้สินค้า รวมถึง ท่าเรือเคปทาวน์ (Cape Town) และ ท่าเรือนิคัวรา (Ngqura) ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในท่าเรือที่มีผลประกอบการแย่ที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของธนาคารโลกเมื่อปี 2565

เรือนับร้อยลำเลี่ยงทะเลแดงเจอปัญหาซ้ำ \'แอฟริกา\' รองรับไม่ไหว

"ถึงแม้ว่าเดอร์บันจะเป็นอย่างไรก็ตาม มันก็เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในแอฟริกาแล้ว ดังนั้นเรือสินค้าที่เปลี่ยนเส้นทางจากทะเลแดงมาทวีปแอฟริกาจึงมีตัวเลือกที่จำกัดมากในแง่ของท่าเทียบเรือน้ำลึก" อเลสซิโอ เลนซิโอนี ที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเปิดเผยกับรอยเตอร์ส    

เลนซิโอกล่าวด้วยว่า หากจะหาท่าเรือน้ำลึกที่อื่นๆ ในทวีปแอฟริกาตามแนวเส้นทางของแหลมกู๊ดโฮป ก็จะมีในบางประเทศ เช่น ท่าเรือมอมบาซา (Mombasa) ในประเทศเคนยา และ ท่าเรือดาร์เอสซาลาม (Dar es Salaam) ในประเทศแทนซาเนีย แต่ก็ไม่ทันสมัยเท่าและคาดว่าจะไม่สามารถรับมือปริมาณของเรือสินค้าที่เปลี่ยนเส้นทางจำนวนมากในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ได้ 

ทางด้าน เมอส์ก (MAERSK) ซึ่งเป็นบริษัทชิปปิ้งรายใหญ่ของโลกจากเดนมาร์ก เปิดเผยว่า เรือที่เปลี่ยนเส้นทางไปแหลมกู๊ดโฮปจะพยายามเติมน้ำมันให้ได้เต็มที่จากต้นทางหรือปลายทางให้ได้มากที่สุด แต่ในกรณีที่ต้องแวะเติมน้ำมันระหว่างทางก็อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป โดยอาจแวะที่วัลวิสเบย์ ในประเทศนามิเบีย หรือที่พอร์ทลูลิส ในประเทศมอริเชียส เป็นทางเลือกหลักๆ  

 

แหลมกู๊ดโฮป - แหลมแห่งพายุ

บริษัทชิปปิ้งหลายรายเปิดเผยด้วยว่า อีกปัญหาหนึ่งของการใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮปก็คือ "สภาพอากาศที่แปรปรวนหนักในทะเลหลวง" ทำให้เส้นทางนี้ได้ฉายาว่า "แหลมแห่งพายุ" เช่น เส้นทางช่วงที่ผ่านช่องแคบโมซัมบิกจะเผชิญกับพายุไซโคลนบ่อยครั้ง ทำให้เรือต้องใช้น้ำมันมากกว่าปกติ และจำเป็นต้องมีการเติมน้ำมันระหว่างทาง

เรือนับร้อยลำเลี่ยงทะเลแดงเจอปัญหาซ้ำ \'แอฟริกา\' รองรับไม่ไหว

ด้านโฆษกของบริษัททีเอฟจี มารีน ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัทพลังงานทราฟิกูราในสิงคโปร์ กล่าวว่า บริษัทเล็งเห็นถึงปัญหานี้และได้ส่งเรือเติมน้ำมันกลางทะเลที่ใหญ่ขึ้นและเดินทางได้นานขึ้นไปยังพื้นที่ในละแวกดังกล่าวแล้ว    

ขณะที่ "กฎระเบียบทางราชการ" ยังเป็นอีกหนึ่งความกังวลหลัก โดยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ทางการแอฟริกาใต้ได้จับกุมเรือเติมน้ำมัน 5 ลำที่อ่าวอัลโกอา เนื่องจากสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับทางด้านศุลกากร โดยหลังจากที่แอฟริกาใต้เริ่มอนุญาตให้มีการใช้เรือเติมน้ำมันนอกชายฝั่งได้ตั้งแต่ปี 2016 ทำให้มีบริการดังกล่าวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว 

การเปลี่ยนเส้นทางจากทะเลแดงมากู๊ดโฮปทำให้คาดว่าแอฟริกาใต้จะต้องเพิ่มการนำเข้าน้ำมันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน ธ.ค.นี้ด้วย โดยบรรดานักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มเป็น 230 กิโลตันในเดือนนี้