เตรียมฟังบีบีซี! ครบรอบ 100 ปี นาฬิกาบิ๊กเบนลั่นระฆังปีใหม่

เตรียมฟังบีบีซี! ครบรอบ 100 ปี  นาฬิกาบิ๊กเบนลั่นระฆังปีใหม่

ผู้คนตั้งตารอ หอนาฬิกาบิ๊กเบนในกรุงลอนดอน ครบรอบ 100 ปี ลั่นระฆังปีใหม่กระจายเสียงไปทั่วโลกในวันนี้ (31 ธ.ค.)

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน วันนี้จะครอบรอบ 100 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.1923 ที่นายเอ จี ดรายแลนด์ วิศวกรของสถานีวิทยุบีบีซี ไต่หลังคาหอนาฬิกาตรงข้ามรัฐสภาอังกฤษขึ้นไปบันทึกเสียงตีระฆังบอกเวลาออกอากาศสดจนกลายเป็นธรรมเนียมประจำปี

เสียงบอกเวลาอันแม่นยำของนาฬิกาแห่งชาติเรือนนี้ บ่งบอกเวลาพิเศษมานานแล้ว โดยปกติประชาชนจะได้ยินเสียงนาฬิกาบิ๊กเบนวันละสองครั้งเวลา 18.00 น. และเที่ยงคืน และสามครั้งในวันอาทิตย์ทางสถานีวิทยุบีบีซี และเริ่มต้นรายการข่าว News at Ten ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี แม้แต่ช่วงปรับปรุงห้าปีก็มีการตีบอกเวลาบ้างในโอกาสสำคัญ บิ๊กเบนเพิ่งกลับมาเดินตามปกติในเดือน พ.ย.ปีก่อน หลังจากทดสอบเดินเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

ที่ผ่านมานอกจากปีใหม่แล้ว บิ๊กเบนยังตีบอกสัญญาณวันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และวัน Remembrance Sunday ที่อังกฤษรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในสงคราม, การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปในปี 2564 และรัฐพิธีบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2565

ในคืนวันที่ 31 ธ.ค. ขณะที่ชาวลอนดอนกำลังส่งท้ายปีเก่า แอนดรูว์ สเตรนจ์เวย์ ช่างนาฬิกาต้องขึ้นไปบนยอดหอคอยเอลิซาเบธ ความสูง 96 เมตร อันเป็นที่ตั้งของนาฬิกาบิ๊กเบน และระฆัง 5 ใบ โดยใบใหญ่สุดชื่อว่าบิ๊กเบน หอนาฬิกาตั้งชื่อตามนี้

แม่นยำระดับเสี้ยววินาที

ช่างวัย 37 ปีรายนี้ขึ้นไปกับทีมงานอีกสองคน จะทำหน้าที่ตรวจสอบจนนาทีสุดท้ายเพื่อให้มั่นใจได้ว่า นาฬิกา “แม่นยำระดับเสี้ยววินาที” และแม้โอกาสผิดพลาดในคืนสำคัญจะมีเพียงน้อยนิด แต่นาฬิกาเรือนนี้ก็เคยเกิดหายนะในทศวรรษ 1970 เมื่อมันหยุดเดินลงดื้อๆ เนื่องจากโลหะทำงานหนัก

“ผมคิดว่าโอกาสเกิดความผิดพลาดร้ายแรงมีน้อย ความกังวลหลักของเราในคืนปีใหม่คือ มันจะหยุดเดินมั้ย มันจะเดินตรงเวลามั้ย” ช่างนาฬิกากล่าว

หอนาฬิกาที่เรียกกันมาแต่ดั้งแต่เดิมแห่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1859 จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น หอคอยเอลิซาเบธในปี 2012 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพัชราภิเษกควีนเอลิซาเบธ

หลายปีก่อนปรับปรุง เจ้าหน้าที่จับเวลาของรัฐสภาจะเทียบเวลาของบิ๊กเบนกับการบอกเวลาทางโทรศัพท์ แต่ตอนนี้เทียบเวลาโดยจีพีเอสผ่านทางห้องปฏิบัติการฟิสิกส์แห่งชาติของอังกฤษ แต่วิธีการตั้งเวลายังเป็นแบบเดิม ใช้การเพิ่มหรือดึงเหรียญเพนนีเก่าออกจากตุ้มน้ำหนักที่ติดอยู่กับสปริงขดขนาดยักษ์สองตัวเพื่อเพิ่มหรือลดวินาที

“เป็นงานที่สุดยอดมาก” สเตรนจ์เวย์กล่าวและว่า แม้แต่ตอนเขาอยู่นอกลอนดอนหรืออยู่ในเมืองก็จะมองหาบิ๊กเบนตลอด “โอเค มันยังเดิน” เจ้าตัวรำพึง

สำหรับภารกิจคืนนี้สเตรนจ์เวย์ตื่นเต้นมากที่จะได้ “อยู่ข้างๆ ระฆัง ในช่วงเวลาที่ทุกคนมองมาที่นาฬิกาเพื่อเริ่มต้นปีใหม่”