10 เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2024 จาก ‘คำทำนาย’ ของ ‘สื่อใหญ่’ ระดับโลก
ประเทศกำลังพัฒนาเนื้อหอม-สหรัฐสิ้นอำนาจ-จีนเผชิญเงินฝืดยาว! เปิด “10 คำทำนาย” จาก “ทอม สแตนเดจ” แห่ง “The Economist” การเมืองโลกตึงเครียด ขั้วอำนาจเพิ่มขึ้น ขณะที่ “น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ” มีค่าน้อยกว่า “ลิเทียม-ทองแดง-นิกเกิล” พลิกโฉมภูมิรัฐศาสตร์ทางการค้าแห่งใหม่!
Key Points:
- ปี 2566 ที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงบนเวทีโลกมากมาย ทั้งกรณีสงคราม เศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการมาถึงของพลังงานสะอาด และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
- ปี 2567 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นหลายประเทศ รวมถึง “สหรัฐ” ที่ต้องมาลุ้นกันต่อว่า “ทรัมป์” จะสามารถเข้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้งได้หรือไม่
- หลังจากนี้ประเทศกำลังพัฒนา หรือ “Global South” จะก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น และกลายเป็นขุมพลังที่ทั่วโลกต่างหมายปอง จากการขึ้นสู่ตำแหน่ง “มหาอำนาจสีเขียว” หมดยุคน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ สู่การแย่งชิงทรัพยากรพลังงานสะอาดแทนที่
การเมืองและเศรษฐกิจโลกในปี 2566 เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และรวดเร็วแทบทุกมิติ ตั้งแต่สถานการณ์ในตะวันออกกลางกรณี “อิสราเอล-ฮามาส” การถือกำเนิดขึ้นของแผนที่ทรัพยากรพลังงานทั่วโลกครั้งใหม่ จากน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติสู่การมาถึงของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ได้กลายเป็น “Game Changer” ของหลายประเทศ ความก้าวหน้าและวิวัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ที่รุดหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ดูจะลุกลาม-ยืดเยื้อไปอีกตลอดปี 2567 โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน” ที่เคยเบียด “สหรัฐ” จ่อขึ้นแท่น “เบอร์ 1 โลก” รายต่อไป ทว่า ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว และดูเหมือนว่า จะมี “มหาอำนาจใหม่” จากประเทศกำลังพัฒนารอชิงบัลลังก์อยู่ด้วย
- ปีแห่งการเลือกตั้งทั่วโลก
ปี 2567 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น “ไต้หวัน” “อินโดนีเซีย” “รัสเซีย” “เกาหลีใต้” “อินเดีย” “เม็กซิโก” “สหภาพยุโรป” “สหรัฐ” ฯลฯ สำนักข่าว “ดิ อีโคโนมิสต์” (The Economist) ระบุว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นทั้งหมดราว 70 ครั้ง ด้วยจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 4,200 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีประชากรเกินกว่า “ครึ่งหนึ่ง” ของโลกมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในแต่ละประเทศอาจไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยทั้งหมด โดย “ทอม สแตนเอจ” (Tom Stanage) รองบรรณาธิการสำนักข่าว “ดิ อีโคโนมิสต์” ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้เกิดเสรีภาพหรือความยุติธรรมมากขึ้น เช่นเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ก็ไม่อาจสะท้อนได้ว่า จะทำให้แต่ละประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเช่นกัน
- ชี้ชะตา “โดนัลด์ ทรัมป์” ด้วยคนกลุ่มหนึ่ง แต่ผลลัพธ์อาจสะเทือนทั้งแผ่นดิน
หลังจากที่ศาลสูงสุดรัฐโคโลราโด (Colorado) และศาลสูงสุดรัฐเมน (Maine) มีคำพิพากษาตัดสิทธิอดีตประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” (Donald Trump) จากการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐขั้นต้น ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เขายังมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ คำตอบก็คือ “โดนัลด์ ทรัมป์” สามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ตามปกติ เว้นแต่สองรัฐที่มีคำตัดสินไปแล้ว ได้แก่ รัฐโคโลราโด และรัฐเมน
หลังคำตัดสินถูกเผยแพร่ก็มีหลากหลายความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว บ้างก็ว่าอดีตประธานาธิบดีโดนกลั่นแกล้งจากผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต เนื่องจากฐานเสียงในรัฐโคโลไรโดและรัฐเมนได้ชื่อว่า เป็น “ฐานที่มั่น” ของฝั่งเดโมแครต สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ คือศาลสูงสุดสหรัฐจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ หลังจากที่พรรครีพับลิกันได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลโคโลราโดไปแล้ว และยังไม่มีความชัดเจนจากศาลสูงสุดว่า จะมีการพิจารณาคดีของทรัมป์ต่อไปอย่างไร
ด้าน “ทอม สแตนเอจ” เชื่อว่า มีโอกาส “1 ใน 3” ที่ทรัมป์จะได้ตำแหน่งประธานาธิบดีกลับคืนมา หากเขามีโอกาสได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง คำตัดสินเหล่านี้อยู่ในกำมือของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ผลลัพธ์อาจสะเทือนไปทั่วโลก ตั้งแต่นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ-สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการสนับสนุนทางการทหารสำหรับกรณี “ยูเครน” เป็นต้น
- “ยุโรป” ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าบนเวทีโลก
“ยุโรป” จะมีบทบาทมากขึ้นในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้สนับสนุนทางการทหารและเศรษฐกิจแก่ “ยูเครน” ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการทัดทานอำนาจของ “สหรัฐ” ที่มีความเป็นไปได้ว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกวาระ ซึ่งไม่แน่ว่า หาก “ทรัมป์” เข้ารับตำแหน่ง เขาอาจมีแผนการถอนกำลังสนับสนุน “ยูเครน” เพื่อพลิกฟื้นอำนาจของตนเองก็เป็นได้
- ความวุ่นวายในตะวันออกกลางจะดำรงอยู่ต่อไป
กรณี “อิสราเอล-ฮามาส” รวมทั้งการตอบโต้ของอิสราเอลในพื้นที่ “ฉนวนกาซา” อย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น “สแตนเอจ” มองว่า ปรากฏการณ์นี้จะเกี่ยวโยงไปถึง “สหรัฐ” และ “รัสเซีย” เป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งสองมหาอำนาจว่า จะสามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่ซับซ้อนและมีภัยคุกคามมากขึ้นได้หรือไม่ ทั้งนี้ “สแตนเอจ” ยังเชื่อด้วยว่า เส้นทางบนถนนสายการเมืองของ “วลาดิเมียร์ ปูติน” (Vladimir Putin) หลังจากนี้จะแขวนอยู่บนกำมือของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันมากกว่าชาวรัสเซียเสียอีก ความหมายก็คือ อนาคตทางการเมืองของ “ปูติน” อยู่ที่ว่า ประธานาธิบดีของสหรัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นใคร ระหว่างฝั่ง “รีพับลิกัน” หรือ “เดโมแครต”
- หมดเวลา “โลกขั้วเดียว” ถึงคราวคู่ขัดแย้งเพิ่ม
จากเดิมที่ “สหรัฐ” พุ่งเป้าขยายอิทธิพลมายังทวีปเอเชีย โดยมี “จีน” เป็นคู่แข่งตัวฉกาจที่กำลังอยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ถึงขีดสุด แต่แล้วทั้งหมดก็ถูกสกัดโดยภัยสงครามระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ด้าน “รัสเซีย” เองก็เกิดความหวาดวิตก-เกรงจะสูญเสียอิทธิพล ความไม่มั่นคงในพื้นที่รอยต่อเขตทะเลทรายกำลังก่อตัวขึ้น โลกกำลังเข้าสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ที่ไม่ได้มี “สหรัฐ” เป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวอีกแล้ว
สงครามเย็นครั้งที่สองดำเนินต่อไป “Global South” เนื้อหอมเป็นที่หมายปอง
ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวลง ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวันตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ด้าน “สหรัฐ” ยังคงจำกัดการลงทุน-เข้าถึงเทคโนโลยีของจีน ด้วยสถานการณ์ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ทำให้วาทกรรม “The New Cold War” หรือ “สงครามเย็นครั้งที่ 2” เริ่มฉายชัดมากขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่ทั้ง “สหรัฐ” และ “จีน” กำลังเร่งมือจึงเป็นการหันหน้าเข้าหาประเทศ “Global South” หรือประเทศ “โลกใต้” จากเดิมที่ประเทศเหล่านี้ถูกมองว่า เป็นประเทศกำลังพัฒนา ล้าสมัยกว่าเจ้าเทคโนโลยีอย่างมหาอำนาจโลก ขณะนี้ประเทศโลกใต้ได้กลายเป็นผู้มีอิทธิพล และเป็นที่ต้องการตัวจากการกุมอำนาจผ่านทรัพยากรทางธรรมชาติที่จะกลายเป็นขุมพลังงานใหม่ของโลกใบนี้
-นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย หนึ่งในประเทศ “Global South” มาแรง-
- กำเนิด “มหาอำนาจสีเขียว”
การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานก่อให้เกิด “มหาอำนาจสีเขียว” โดยมี “ลิเทียม” “ทองแดง” และ “นิกเกิล” เป็นตัวแปรสำคัญในการร่างแผนที่พลังงานผืนใหม่ ขณะที่ขุมทรัพย์เดิมอย่าง “ก๊าซธรรมชาติ” และ “น้ำมัน” จะกลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญลดหลั่นลงมา หลังจากนี้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรเพื่อพลังงานสะอาดใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น
“สแตนเอจ” เชื่อว่า การถือกำเนิดขึ้นของ “มหาอำนาจสีเขียว” จะพลิกโฉมภูมิรัฐศาสตร์ทางการค้า สร้างข้อต่อรองระหว่างผู้แพ้-ผู้ชนะอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ขณะเดียวกัน “Greenlash” หรือ “Greenwashing” จะทวีคูณเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ทำให้ผู้มีอำนาจหรือบรรดาธุรกิจรายใหญ่ทำการ “ฟอกเขียว” มากขึ้น
- เศรษฐกิจไม่แน่นอน ดอกเบี้ยจะยังสูงต่อไป
แม้จะประคองตัวจนจบปี 2566 มาได้ แต่ก็ผ่านมาอย่างทุลักทุเลสำหรับเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่แถบตะวันตก ซึ่งในปี 2567 ทั่วโลกจะยังคงเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดเหล่านี้ต่อไป ภาวะดอกเบี้ยสูงจะ “สูงขึ้น” และ “นานขึ้น” ผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องเจ็บปวดจากภาวะถดถอยกันอีกยาวๆ ด้าน “จีน” ที่เจอกับปัญหาเศรษฐกิจหนักหน่วงในปีที่ผ่านมา ปีนี้อาจตกอยู่ในสถานการณ์ “เงินฝืด” หลังดัชนีผู้บริโภคหดตัวต่อเนื่อง “สแตนเอจ” แนะนำจับตาความเคลื่อนไหวของบรรดาธนาคาร-สถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด
- “เอไอ” เติบโต ข้อถกเถียง ความเสี่ยง ความกังวลเพิ่มขึ้น
ธุรกิจหลายแขนงนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” มาใช้อย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลก็กำลังหาแนวทางในการควบคุมการใช้งานต่อไป พร้อมๆ กับนักพัฒนาก็ปรับปรุงให้ “เอไอ” มีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่ามกลางข้อถกเถียงและข้อกังวลถึงความเสี่ยงและผลกระทบต่อการใช้งานที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ แต่หากไม่สามารถหาทางควบคุมกำกับดูแลที่เหมาะสมก็อาจนำไปสู่ผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน
- โลกอาจ “รวมเป็นหนึ่งเดียว” ได้?
“ทอม สแตนเอจ” ทิ้งท้ายถึงประเด็น “Uniting the world” หรือการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของทั่วโลกว่า บางครั้งเราอาจละทิ้งอุดมการณ์จากเหตุการณ์ที่ทำให้ “โลกรวมเป็นหนึ่ง” ได้ อาทิ การแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีส การแข่งขันคริกเก็ตชิงแชมป์โลก หรือการร่วมกันเอาใจช่วยเหล่านักบินอวกาศที่ต้องขึ้นไปทำภารกิจบนดวงจันทร์ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่รองบรรณาธิการ “ดิ อีโคโนมิสต์” คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นจากความเป็นไปได้ของสถานการณ์ที่มีอยู่เท่านั้น โลกในปี 2567 จะเป็นเช่นไร และ “ไทย” จะอยู่ตรงไหนบนเวทีโลกเราคงต้องติดตามกันต่อไป
ทั้งนี้ “ทอม สแตนเอจ” ดำรงตำแหน่งรองบรรณาธิการสำนักข่าว “ดิ อีโคโนมิสต์” และเป็นบรรณาธิการของโปรเจกต์ “The World Ahead 2024” โดยเขายังรับหน้าที่เป็นสปีกเกอร์หลากหลายเวทีในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์โลกด้วย
อ้างอิง: Bangkokbiznews, BBC Thai, PPTV, Thai PBS, The Economist, THE STANDARD, The World Ahead 2024