แรงงานไทย เล่านาทีชีวิตในเงื้อมมือฮามาส เพื่อนร่วมทุกข์ในคุกใต้ดิน ไม่รอด

แรงงานไทย เล่านาทีชีวิตในเงื้อมมือฮามาส เพื่อนร่วมทุกข์ในคุกใต้ดิน ไม่รอด

ไฟแนนเชียล ไทม์ส เผยบทสัมภาษณ์ ประสบการณ์ตัวประกันในเงื้อมมือฮามาสของ นายวิเชียร เต็มทอง แรงงานไทยผู้รอดชีวิตจากสงครามอิสราเอล - ฮามาส แต่โชคร้ายที่เพื่อนร่วมทุกข์ในคุกใต้ดินอีก 3 คน ไม่รอด

Key Points:

  • คุกใต้ดินลึกประมาณ 20 เมตร มีอากาศหนาวในตอนกลางคืน มีน้ำหยดจากเพดาน และมีความชื้นตลอดเวลา เอาชีวิตรอดได้ด้วยอาหาร 1 มื้อต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนมปัง
  • เมื่ออาหารหมดแล้ว และหากผู้ควบคุมตัดสินใจแบ่งอาหาร มักจะให้แค่ทาลัลกา และวิเชียร แต่ไม่ให้ชาวยิวอีก 2 คน ซึ่งก็คือ ฮาอิม กับชามริซ
  • วิเชียรเคยเห็นชายคนหนึ่ง ลักษณะเหมือนเป็นผู้บัญชาการอาวุโส ไม่พกอาวุธ ไม่เหมือนผู้ควบคุมคนอื่นๆ ใส่เสื้อสะอาดสะอ้านและมีกลิ่นหอม นั่งอยู่แต่ในห้องคุกใต้ดินที่มีเครื่องปรับอากาศ
  • ครั้งหนึ่งผู้ควบคุมเข้ามาในห้องที่ทั้ง 4 คนอยู่ พร้อมกับสายไฟยาวๆ แล้วสั่งให้ฮาอิมกับชามริซออกไปกับเขา จากนั้นวิเชียรก็ได้ยินพวกเขากรีดร้อง พอกลับเข้ามาก็มีรอยแดงที่แขน

วิเชียร เต็มทอง แรงงานไทยวัย 37 ปี ถูกจับเป็นตัวประกันในอุโมงค์กาซาเป็นเวลา 7 สัปดาห์ พร้อมกับชายหนุ่มชาวอิสราเอล 3 คน 

วิเชียรได้รับการปล่อยตัวจากกลุ่มฮามาสในเดือนพ.ย.2566 และในที่สุดก็ได้เดินทางกลับบ้าน แม้ว่าชีวิตในคุกใต้ดินจะทรหดเพียงใด แต่สิ่งที่เลวร้ายสำหรับวิเชียรยิ่งกว่านั้นคือ การทราบข่าวว่าเพื่อนร่วมทุกข์ในคุกใต้ดินอีก 3 คน ได้แก่ โยตัม ฮาอิม, อาลอน ชามริซ และซาเมอร์ ทาลัลกาเสียชีวิตแล้ว

วิเชียร พยานหนึ่งเดียวในวาระสุดท้ายของชายอิสราเอล 3 คน เผยกับไฟแนนเชียล ไทม์ส ที่บ้านของเขาใน จ.บุรีรัมย์ ว่า “ผมคิดถึงพวกเขาตลอดเวลา” และว่าเขารู้สึกช็อกมากที่ได้ทราบข่าวว่าเพื่อนเสียชีวิตทั้งหมด “เรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย” 

 

วิเชียรได้เล่าเรื่องราวของตนที่ถูกจับกุมตัว และอาศัยอยู่ในคุกใต้ดินลึกประมาณ 20 เมตรว่า ในนั้นมีอากาศหนาวในตอนกลางคืน มีน้ำหยดจากเพดาน และมีความชื้นตลอดเวลา เอาชีวิตรอดได้ด้วยอาหาร 1 มื้อต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนมปัง บางวันเป็นถั่วกระป๋อง ทูน่า และเนื้อวัว และแต่ละคนได้น้ำดื่มเพียงครึ่งลิตรไว้ดื่มใน 2 วัน ส่วนตอนกลางคืนนอนพื้นมีผ้าห่มรอง และพยายามลืมความหิวโหยด้วยการนั่งเล่นไพ่

วิเชียรจำได้ว่าฮาอิม ชายผมแดงตาฟ้าวัย 28 ปี เป็นคนที่เงียบที่สุดในกลุ่ม ไม่ค่อยพูด และเลือกใช้คำอย่างระมัดระวัง บางครั้งก็ร้องไห้ มือกลองอย่างฮาอิม บางทีก็ตีหมอนเป็นจังหวะหรือตีตักตัวเองเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตนเอง 

ขณะที่ชามริซ นักศึกษาวิศวกรคอมพิวเตอร์วัย 26 ปี ก็จะร่วมเล่น และร้องเพลงกับฮาอิม บางครั้งผู้ควบคุมก็ขอให้ทั้งสองคนเล่นดนตรี และร้องเพลง

ฮาอิมกับชามริซถูกจับตัวมาจากคิบบุตซ์ คฟาร์ อาซา ห่างเกือบ 2 กิโลเมตร จากรั้วกาซา ซึ่งวิเชียรก็ถูกจับมาจากที่นั่นเช่นกัน วิเชียรเผยว่า ตนถึงอิสราเอลเพียง 10 วัน ทำงานเก็บอโวคาโด ก่อนที่ฮามาสจะเริ่มโจมตี

ส่วนซาเมอร์ ชาวเบดูอินวัย 22 ปี มาจากหมู่บ้านฮูรา แต่ถูกจับกุมที่นีรอัม คิบบุตซ์ สถานที่ที่เขาประกอบอาชีพเลี้ยงไก่ ซึ่งใกล้ชายแดนกาซาเช่นกัน

ทาลัลกาพูดภาษาอารบิก และพูดคุยกับผู้ควบคุมมากที่สุด วิเชียรจำได้ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยชูนิ้วให้ทาลัลกาดูว่าเล็บยาวมากเพียงใด จากนั้นทาลัลกาขอให้ผู้ควบคุมเอาที่ตัดเล็บมาให้

ในคุกใต้ดินที่มีน้ำน้อยมาก ชายทั้งสี่ทำความสะอาดจานด้วยกระดาษทิชชู่ ไม่มีโอกาสได้อาบน้ำเลย วิเชียรได้แต่เกาหนังศีรษะจนเลือดออก ขณะที่ทาลัลกาเป็นเพียงคนเดียวที่ได้อาบน้ำ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะเขาเป็นชาวมุสลิม และเขาจะก้มหัวติดพื้นอยู่ข้างๆ ผู้ควบคุมเพื่อสวดมนต์

 

เมื่ออาหารหมดแล้ว และหากผู้ควบคุมตัดสินใจแบ่งอาหาร มักจะให้แค่ทาลัลกา และวิเชียร แต่ไม่ให้ชาวยิวอีก 2 คน ซึ่งก็คือ ฮาอิมกับชามริซ

นอกจากนี้ ในคุกผู้ควบคุมได้เอาสายเคเบิลออกทั้งหมด วิเชียรเชื่อว่าพวกเขาป้องกันไม่ให้ตัวประกันฆ่าตัวตาย

บางครั้งผู้ควบคุมที่ผลัดเปลี่ยนเวรก็ดูเป็นคนปกติทั่วไป บางทีก็เหมือนทหาร บางคนก็บอกชื่อตัวเองด้วย “บางคนใจดี บางคนก็เข้มงวด” วิเชียร กล่าว

วิเชียรเคยเห็นชายคนหนึ่ง ลักษณะเหมือนเป็นผู้บัญชาการอาวุโส ไม่พกอาวุธ ไม่เหมือนผู้ควบคุมคนอื่นๆ ใส่เสื้อสะอาดสะอ้าน และมีกลิ่นหอม นั่งอยู่แต่ในห้องในคุกใต้ดินที่มีเครื่องปรับอากาศ ผู้ควบคุมทำความเคารพและชายคนนั้นมักได้รับประทานอาหารก่อน ทั้งยังมีโทรศัพท์ และโทรทัศน์ที่เผยภาพสงครามด้วย

ในการสื่อสารเรื่องเวลา ผู้ควบคุมจะชี้ไปที่สัญลักษณ์พระอาทิตย์และพระจันทร์บนกำแพงของคุกใต้ดิน

อย่างไรก็ตาม วิเชียรไม่ได้ใช้ภาษาเดียวกับตัวประกันคนอื่นๆ หรือผู้ควบคุมคนใดเลย เพราะเขาไม่สื่อสารภาษาอังกฤษ ฮิบรู หรืออารบิก แต่วิเชียรสื่อสารด้วยภาษามือ และการแสดงออกทางสีหน้า ตอนนั้นเขารู้สึกแบ่งแยก เหมือนได้แต่คุยกับเท้าตัวเอง

แต่ฮาอิม พยายามพูดคุยกับวิเชียร และสนับสนุนวิเชียรอย่างมาก บางครั้งก็พยายามเรียนภาษาไทยบางประโยค เช่น “ไม่มีน้ำ” และ “ฉันจะไปห้องน้ำ” และฮาอิมเป็นคนเดียวที่กอดวิเชียร และแตะไหล่เมื่อวิเชียรรู้สึกไม่ดีหรือหายใจไม่สะดวก แม้ฮาอิมก็มีสภาพไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรก เขาร้องไห้หนักมาก และเอาแต่เรียกหาแม่

ครั้งหนึ่งผู้ควบคุมเข้ามาในห้องที่ทั้ง 4 คนอยู่ พร้อมกับสายไฟยาวๆ แล้วสั่งให้ฮาอิมกับชามริซออกไปกับเขา จากนั้นวิเชียรก็ได้ยินพวกเขากรีดร้อง พอกลับเข้ามาก็มีรอยแดงที่แขน เล็บชามริซก็บาดเจ็บอย่างหนัก เหมือนจะหลุดออกมา

วิเชียรยังจำเสียงการโจมตีที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และหลังจากนั้น 5 สัปดาห์ กลุ่มตัวประกันก็ย้ายไปที่คุกอื่น ซึ่งที่ใหม่ห่างไกลจากการโจมตี

วันหนึ่งในเดือนพ.ย. ผู้ควบคุมแห่กันเข้ามาในคุกแล้วตะโกน “ไทยแลนด์ ไทยแลนด์ กลับบ้าน!” ในคุกใต้ดินที่มืด วิเชียรมองเห็นได้เพียงเล็กน้อย นาทีนั้นเขาจึงสวมกอดเพื่อนตัวประกัน และมองหน้าพวกเขาผ่านแสงไฟฉาย จากนั้นผู้ควบคุมก็รีบพาเขาออกจากอุโมงค์

เมื่อวิเชียรกลับบ้านในประเทศไทยได้กว่า 2 สัปดาห์ เขาได้รับข้อความระบุว่า เพื่อนตัวประกันเสียชีวิตแล้ว

จากการสืบสวนของกองกำลังป้องกันตนเองของอิสราเอล (ไอดีเอฟ) เผยว่า ทหารยิงชามริซ และทาลัลกาที่อุโมงค์ ในช่วงที่เกิดการปะทะกันอย่างหนักเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2566 ในพื้นที่ชูจาอิยะห์ หนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในกาซา

ส่วนฮาอิมที่ซ่อนตัวจากการถูกยิงใกล้ๆ อาคารแห่งหนึ่งตะโกนขอความช่วยเหลือเป็นภาษาฮิบรู ผู้บังคับกองพันบอกให้เขาออกมา และสั่งกองทหารห้ามยิง แต่มีทหาร 2 คนไม่ได้ยินเสียงคำสั่งที่อยู่เหนือรถถัง จึงยิงฮาอิมเสียชีวิต

หลังจากกลับไทย วิเชียรยังได้ไปวัด และขอให้พระสวดมนต์ถึงเพื่อนรวมทุกข์ในคุกใต้ดิน 3 คน “โยตัม อาลอน และซาเมอร์”

เมื่อได้รับการปล่อยตัว วิเชียรยังคงรู้สึกเจ็บปวด “ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกอย่างไร แต่รู้สึกแย่มากๆ เมื่อนึกถึงความโชคดีของตนเอง”

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์