เดิมพันเลือกตั้งไต้หวัน | อาร์ม ตั้งนิรันดร
การเลือกตั้งไต้หวัน 13 ม.ค.นี้ เป็นการเลือกตั้งสามเส้าระหว่างผู้สมัครประธานาธิบดีจากสามพรรคการเมือง ได้แก่ พรรค DPP (พรรครัฐบาลที่ครองอำนาจมา 8 ปี) พรรค KMT (พรรคฝ่ายค้านหลัก) และพรรค TPP (พรรคทางเลือกใหม่)
ผลโพลล์ล่าสุด 10 วันก่อนเลือกตั้ง คะแนนพรรครัฐบาลเดิม DPP ยังเป็นฝ่ายนำ แต่ทิ้งหากจากอันดับสองอย่างพรรค KMT ราวร้อยละ 4 เท่านั้น ส่วนพรรค TPP นั้น คะแนนทิ้งห่างไกลออกไป
หลายคนมองว่าการเลือกตั้งทำนายยากมาก เพราะตัวตัดสินจะอยู่ที่คนที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งมีราวร้อยละ 10 รวมทั้งคนที่เคยคิดจะเลือกพรรค TPP ซึ่งนาทีสุดท้ายอาจเทคะแนนไปที่พรรค DPP หรือ KMT แทน
ไม่มีใครแน่ใจว่าผู้สนับสนุนพรรค TPP หากถูกบังคับให้เลือกระหว่างพรรค DPP กับพรรค KMT แล้ว จะเลือกพรรคไหน เพราะฐานเสียงของพรรคที่สามอย่าง TPP มีทั้งคนรุ่นใหม่ที่ผิดหวังจากการบริหารงานของ DPP แต่ก็ไม่ชอบพรรคอนุรักษนิยมแบบ KMT
ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มฐานเสียงที่ไม่พอใจท่าทีที่ร้อนแรงและแข็งกร้าวต่อจีนแผ่นดินใหญ่ของพรรค DPP ซึ่งอาจพาเกาะไต้หวันไปสู่สงคราม
ตอนนี้ในจิตวิทยามวลชนของไต้หวัน มีสองกระแสที่ขัดแย้งกัน กระแสหนึ่งคือความเบื่อรัฐบาล 8 ปี และต้องการเปลี่ยนขั้วการเมือง ซึ่งก็คงต้องโหวตให้โอกาสพรรค KMT แต่อีกกระแสก็คือกระแสชาตินิยมไต้หวัน ซึ่งต้องการโหวตแสดงอัตลักษณ์ตัวตนไต้หวัน ไม่ต้องการสยบยอมจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งต้องเลือกพรรครัฐบาลเดิมคือพรรค DPP ต่อไป
ผมสนใจมากกว่าว่า หากพรรค DPP หรือพรรค KMT ชนะ ผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของภูมิภาคและของโลกจะแตกต่างกันอย่างไร
หากพรรค DPP ชนะ ความตึงเครียดขัดแย้งระหว่างเกาะไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ อุณหภูมิก็คงร้อนมากขึ้น เพราะผู้สมัครประธานาธิบดีคนใหม่ของพรรค DPP นับเป็นผู้สมัครคนแรกที่เคยประกาศชัดเจนว่ามีจุดยืนสนับสนุนเอกราชของเกาะไต้หวัน
แน่นอนว่าในระยะสั้น คงไม่ได้ร้อนถึงจุดที่จะเกิดสงครามได้ทันที แต่ก็จะผลักกระแสในสังคมไต้หวันไปในทิศทางที่แยกตัวออกจากจีน ย้ำความเชื่อของคนบางกลุ่มในจีนว่าเวลาอาจไม่ได้อยู่ข้างจีนอีกต่อไปแล้ว และควรรีบเร่งปฏิทินการรวมชาติ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้กำลังทหาร
ความตึงเครียดและขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยาวนานต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่สงคราม ตัวอย่างเช่น เครื่องบินจีนที่บินขู่โดยล้ำน่านฟ้าไต้หวัน หากเกิดอุบัติเหตุถูกยิงตกก็อาจผลักความตึงเครียดขัดแย้งและภาวะสงครามให้มาถึงได้อย่างง่ายดาย
ไม่นับรวมว่ารัฐบาลไต้หวันก็จะต้องการแรงสนับสนุนจากสหรัฐในเรื่องของอาวุธและการป้องกันตัวเอง หากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐหลังการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.มีท่าทีที่แรงต่อจีนยิ่งขึ้น เมื่อผสมโรงกับปัจจัยภายในไต้หวันที่ร้อนแรงต่อจีน ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ย่อมสูงขึ้น
ดังนั้น หากพรรครัฐบาล DPP ชนะ เทรนด์การแยกเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ และโลกตะวันตกออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียกกันว่ากระแส Decoupling ก็จะยิ่งเร่งตัวขึ้นยิ่งกว่าเดิม
เพราะทุกฝ่ายมองว่าโอกาสเกิดสงครามมในอนาคตมีสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงออกจากกัน เตรียมตัวถึงวันที่ฝั่งตะวันตกอาจจำเป็นต้องคว่ำบาตรหรือหยุดค้าขายกับจีนเพราะสงครามไต้หวัน
การเคลื่อนย้ายทุนและเทคโนโลยีจากไต้หวันและโลกตะวันตกที่แต่เดิมอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่มายังอาเซียนก็จะเร่งเร็วขึ้นอีก กลายเป็นปรากฏการณ์เร่งเครื่องการเปลี่ยนภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
แต่หากพรรค KMT เป็นฝ่ายพลิกเกมกลับมาคว้าชัยชนะได้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันก็จะราบรื่นขึ้น แต่สถานการณ์ก็อาจไม่ง่ายดังในยุครัฐบาลหม่า อิงจิ่ว ในอดีต ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งเป็นยุคฮันนีมูน เพราะบริบทการเมืองโลกและการเมืองจีนได้เปลี่ยนไปมากแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนที่ตึงเครียด ซึ่งย่อมกดดันให้ไต้หวันถูกใช้เป็นไพ่ในเกมมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นการกระชับอำนาจของสี จิ้นผิง และกระแสชาตินิยมในจีน ไม่ว่าจะเป็นกระแสคนรุ่นใหม่ในไต้หวัน ซึ่งมีอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันสูงกว่าในอดีตมาก ล้วนทำให้ยากที่สองฝั่งคาบสมุทรจะกลับมารักกันราบรื่นดังเดิม
แต่อย่างน้อยในระยะสั้น ชัยชนะของพรรค KMT ก็พอจะผ่อนกระแสความร้อนแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามลง ขณะเดียวกัน พรรค KMT เองคงมีนโยบายที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจกับจีน ซึ่งก็จะชะลอปรากฏการณ์ Decoupling ไม่ให้เร่งตัวขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
อีกไม่กี่วันเท่านั้นครับ เราก็จะทราบฉันทามติของคนไต้หวัน แต่คิดว่าไม่ว่าลมกระแสการเมืองจะพัดไปทางใด ครั้งนี้จะเป็นฉันทามติที่ไม่เด็ดขาด แต่จะชนะชนิดคะแนนทิ้งกันแบบสูสีใกล้เคียงยิ่งครับ