ส่งออก 'เม็กซิโก' แซง 'จีน' เป็นครั้งแรก คว้าแชมป์ตลาดนำเข้าเบอร์ 1 ของสหรัฐ

ส่งออก 'เม็กซิโก' แซง 'จีน' เป็นครั้งแรก คว้าแชมป์ตลาดนำเข้าเบอร์ 1 ของสหรัฐ

"จีน" กำลังจะเสียตำแหน่งแชมป์ตลาดนำเข้าเบอร์ 1 ของสหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2549 ให้กับ "เม็กซิโก" หลังสงครามการค้า 2 ชาติเปลี่ยนโฉมหน้าซัพพลายเชนใหม่

Key Points

  • 'เม็กซิโก' จ่อแซงจีนขึ้นเป็นผู้นำเข้าเบอร์ 1 ของตลาดสหรัฐ
  • การนำเข้าจาก 'จีน' ช่วง 11 เดือนแรก ลดลงเหลือ 13.9% ต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี 
  • การขำเข้าจากกลุ่มประเทศ 'อาเซียน' ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบปี 2565 แต่ยังอยู่ในระดับสูง
  • จีนปรับแผนหันไปตั้งโรงงานในเม็กซิโกเพื่อส่งออกไปสหรัฐมากขึ้น


เว็บไซต์นิกเกอิเอเชียรายงานว่า "จีน" กำลังจะเสียตำแหน่งแชมป์ตลาดนำเข้าเบอร์ 1 ของสหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2549 ให้กับ "เม็กซิโก" หลังจากที่ข้อพิพาททางการค้าอย่างยาวนานระหว่างสหรัฐกับจีนกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศนี้

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐในสัปดาห์นี้พบว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย. 2566 สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงมากถึงกว่า 20% ทำให้สัดส่วนของจีนลดลงเหลือเพียง 13.9% ของการนำเข้ารายประเทศทั้งหมดของสหรัฐ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 ขณะที่การนำเข้าจากจีนเคยพุ่งสูงสุดทุบสถิติกว่า 21% มาแล้วในช่วงปี 2560   

นอกจากการนำเข้าจากจีนจะลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปีแล้ว สถานการณ์การส่งออกของสหรัฐไปยังจีน ก็ยังคงเบาบางลงเช่นเดียวกัน 

ในทางตรงกันข้าม "เม็กซิโก" กลับขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แทนที่จีนด้วยสัดส่วนการนำเข้า 15% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี ส่งผลให้เม็กซิโกกำลังจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐมากที่สุดในปี 2566 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และยังเป็นสถิติสูงสุดของประเทศเพื่อนบ้านรายนี้อีกด้วย 

ขณะที่การนำเข้าจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ก็เพิ่มขึ้นสูงสุดทุบสถิติใหม่เช่นเดียวกัน 

ส่งออก \'เม็กซิโก\' แซง \'จีน\' เป็นครั้งแรก คว้าแชมป์ตลาดนำเข้าเบอร์ 1 ของสหรัฐ


ทว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึง "ไทย" กลับลดลงเมื่อเทียบปีก่อนหน้า แต่ก็ยังถือเป็นการลดลงที่เล็กน้อยหลังจากที่กลุ่มอาเซียนส่งออกไปสหรัฐสูงสุดทุบสถิติในปี 2565 หรือมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากช่วงสิบปีก่อน 

ทางด้านการนำเข้าจากญี่ปุ่นปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5% แม้ว่าในปีที่แล้วค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินเยนเยอะก็ตาม โดยการนำเข้าจากญี่ปุ่นลดลงมากกว่าครึ่งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เนื่องจากญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐแทน

 

  • ทำไมจีนถึงเสียแชมป์

ในปีที่ผ่านมา สหรัฐเพิ่มการกระจายซัพพลายเออร์ให้หลากหลายมากขึ้น เช่น สินค้าอิเล็กโทรนิกส์กลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาโรงงานผลิตในจีนเป็นหลักมาโดยตลอด 

จึงไม่น่าแปลกใจที่การนำเข้า "สมาร์ตโฟน" จากจีนจะลดลงถึงราว 10% ตรงข้ามกับการนำเข้าจาก "อินเดีย" ที่เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ท่ามกลางการย้านฐานการผลิตสินค้ากลุ่มนี้ไปที่อินเดียกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มซัพพลายเออร์ที่ผลิตสินค้าให้บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์

ในขณะที่การนำเข้าคอมพิวเตอร์แลปท็อปจากจีนยังลดลงถึงราว 30% สวนทางกับการนำเข้าจาก "เวียดนาม" ที่เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า 

ทิศทางนี้เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ "Friendshoring" หรือการย้ายฐานห่วงโซ่ซัพพลายเชนไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตรหรือหุ้นส่วนกับสหรัฐ ซึ่งถูกผลักดันในยุคของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยที่สหรัฐยังคงดำเนินการตั้งกำแพงภาษีกับจีนมูลค่า 3.7 แสนล้านดอลลาร์ (เกือบ 13 ล้านล้านบาท) ที่มีมาตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อไป

ส่งออก \'เม็กซิโก\' แซง \'จีน\' เป็นครั้งแรก คว้าแชมป์ตลาดนำเข้าเบอร์ 1 ของสหรัฐ

ในอดีตสหรัฐเคยเลือกที่จะเปลี่ยนจากศัตรูเป็นมิตรด้วยการร่วมมือด้านการค้ากับปักกิ่ง หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 โดยส่วนหนึ่งเพื่อต้องการเจาะตลาดผู้บริโภคมหาศาลนับพันล้านคนในจีน แต่รัฐบาลในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเป็นกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนและผลกระทบของสินค้าราคาถูกจากจีนภาคการผลิตของอเมริกา จึงได้เปลี่ยนไปสู่จุดยืนใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้น และดำเนินมาตรการตั้งกำแพงภาษีจนนำไปสู่สงครามการค้าย่อมๆ ในขณะนั้น 

ทว่าเมื่อเปลี่ยนขั้วมาสู่รัฐบาลไบเดนของพรรคเดโมแครต สหรัฐก็ยังคงเดินหน้ากำแพงภาษีต่อและกำลังพิจารณาจะขยายเพิ่มขึ้นด้วย โดยขยายไปถึงกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุปกรณ์และแผงโซลาร์เซลล์ ไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งคาดว่าอาจจะมีขึ้นภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้

อย่างไรก็ตาม การย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนก็มีราคาที่ต้องจ่าย ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบเรื่อง "เงินเฟ้อ" ที่มาจากปัญหาด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ลดลง ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายมองว่าการเปลี่ยนมาผลิตสินค้าในประเทศเองจากก่อนหน้านี้ที่เคยซื้อของราคาถูกจากจีน ทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น

 

  • ส่งออกจาก 'เม็กซิโก' ในคราบของ 'จีน'?

บรรดาซัพพลายเออร์ของจีนเองก็มีการปรับตัวรับทิศทางการทำธุรกิจสหรัฐที่เปลี่ยนไปเช่นกัน โดยผู้ผลิตจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไปลงทุนใน "เม็กซิโก" เพื่อใช้ประโยชน์จากการที่เม็กซิโกเป็นพันธมิตรและเพื่อนบ้านของสหรับ และมีข้อตกลงการค้าแถบอเมริกาเหนือฉบับใหม่ (USMCA) ร่วมกันระหว่างสหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา 

ไฮเซนส์ (Hisense) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ในจีน เข้าไปลงทุนมูลค่า 260 ล้านดอลลาร์ (ราว 9.1 พันล้านบาท) ตั้งโรงงานผลิตในเม็กซิโกเมื่อปี 2566 เพื่อป้อนการส่งออกในตลาดอเมริกาเหนือโดยเฉพาะ ในขณะที่บริษัทรถยนต์อย่าง เจเอซี มอเตอร์ส (JAC Motors) และ เอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) ก็เข้าไปเปิดโรงงานผลิตในเม็กซิโกเช่นกัน  
 
ขณะที่บลูมเบิร์กเคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า การลงทุนของจีนในเม็กซิโกขยายตัวขึ้นถึงเกือบ 50% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.75 หมื่นล้านบาท) ในปี 2565 และทำให้เม็กซิโกนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นตลอดช่วง 5 ปีมานี้

โรงงานของจีนในเม็กซิโกผลิตสินค้าแทบจะทุกอย่างออกไปขายในสหรัฐหรืออเมริกาเหนือเป็นหลัก เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา บริษัททีดีไอ แมนูแฟกเจอริง เม็กซิโก ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจ้อเจียง หยินหลุน แมชีนเนอรี เพิ่งเปิดโรงงานใหม่ขนาด 1.52 แสนตารางฟุตในนิคมอุตสาหกรรมฮวาฟู่ซาน ซึ่งนักลงทุนทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรมนี้ล้วนมาจากจีน

ขณะที่สมาคมนิคมอุตสาหกรรมเอกชนในเม็กซิโกเปิดเผยผลสำรวจเมื่อต้นปีที่แล้วว่า ภายใน 2 ปีข้างหน้า คาดว่า 1 ใน 5 ของธุรกิจใหม่ที่เข้ามาตั้งในเม็กซิโกจะเป็นธุรกิจสัญชาติจีน

"การนำเข้าของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นจากประเทศต่างๆ เช่น เม็กซิโก และเวียดนาม บางส่วนเป็นเพียง "การขนถ่ายสินค้า" มากกว่าจะเป็นการผลิตใหม่ในท้องถิ่นที่สหรัฐคาดหวังเอาไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์ Friendshoring" นีลส์ แกรห์ม จากสภาแอตแลนติกซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองของอเมริกา กล่าว

 

  • 'จีน' ลดการพึ่งพาตลาดส่งออกสหรัฐเช่นกัน

นิกเกอิเอชียระบุว่า ไม่ได้มีแต่ฝั่งสหรัฐเท่านั้นที่ลดการพึ่งพาจีน เพราะฝั่งรัฐบาลปักกิ่งเองก็กำลังเร่งปรับตัวเพื่อลดการพุ่งพาตลาดส่งออกไปยังสหรัฐเช่นกัน 
  ส่งออก \'เม็กซิโก\' แซง \'จีน\' เป็นครั้งแรก คว้าแชมป์ตลาดนำเข้าเบอร์ 1 ของสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ทางการจีนยังเดินหน้าเพิ่มบทบาทของ "เงินหยวน" ในการชำระเงินระหว่างประเทศให้มากขึ้น โดยมีการเปลี่ยนมาใช้เงินหยวนแทนที่ดอลลาร์เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการในการทำธุรกรรมกับ รัสเซีย ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้มากขึ้น 

จีนยังขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตรเหล่านี้ ทำให้การส่งออกของจีนไปรัสเซียในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัวขึ้นมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบปีก่อนหน้า และคาดว่าจะทำมูลค่าสูงสุดทุบสถิติใหม่ในปี 2566 

ขณะที่ข้อมูลของศุลกากรจีนระบุว่า การส่งออกรถยนต์ของจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์สันดาปซึ่งมียอดขายในประเทศต่ำ ทำให้จีนส่งออกรถยนต์กลุ่มนี้ในราคาถูกไปยังตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกามากขึ้นแทน 

 

ที่มา: Nikkei Asia