จับตาแบงก์ชาติจีนลดดอกเบี้ยจันทร์นี้ หลังทิศทาง 'เงินฝืด' เริ่มชัด

จับตาแบงก์ชาติจีนลดดอกเบี้ยจันทร์นี้ หลังทิศทาง 'เงินฝืด' เริ่มชัด

นักเศรษฐศาสตร์คาดแบงก์ชาติจีนอาจประกาศลดดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า หวังกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ พร้อมจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนการประชุมสภาฯ ในเดือน มี.ค. นี้

Key Points

  • นักเศรษฐศาสตร์คาดจีนจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ MLF 0.1% วันจันทร์ที่จะถึงนี้ 
  • คาดแบงก์ชาติอาจกระตุ้นผ่านการเพิ่มสภาพคล่องในระบบอีก 6 แสนล้านบาทด้วย
  • ดัชนีเงินเฟ้อจีนปรับตัวลดลง 3 เดือนต่อต่อกัน สร้างความกังวลเรื่องภาวะ 'เงินฝืด'


บลูมเบิร์กรายงานอ้างผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ 15 ราย ซึ่งประมาณการว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ลงอีก 0.1% มาอยู่ที่ระดับ 2.4% ในวันจันทร์ที่ 15 ม.ค. นี้ เพื่อต่อสู้กับแรงกดดันเงินฝืด และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีน 

หากแบงก์ชาติจีนดำเนินการดังกล่าวจริง จะถือเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 ซึ่งในครั้งนั้นเป็นการลดดอกเบี้ยแบบเหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย โดยลดลง 0.15%

นอกจากนี้ ผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ยังคาดการณ์ด้วยว่า ธนาคารกลางจีนจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าโครงการ MLF อีก 1.21 แสนล้านหยวน (ราว 6.08 แสนล้านบาท) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบและให้เพียงพอต่อความต้องการสินเชื่อ

เว่ย เฉิน โฮ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารยูโอบี กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนยังไม่กลับไปสู่ระดับเสถียรภาพ จึงยังจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนทางนโยบายเพิ่มขึ้น 

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นดังกล่าวยังอาจเป็นเพียงแค่ "ยกแรก" ของเดือน ม.ค. เท่านั้น เพราะบรรดาผู้นำจีนจะต้องเตรียมการอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้าเพื่อเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีในเดือน มี.ค. นี้ และมีการประกาศเป้าหมายการเติบโตของปี 2567 ออกมา  

จับตาแบงก์ชาติจีนลดดอกเบี้ยจันทร์นี้ หลังทิศทาง \'เงินฝืด\' เริ่มชัด

ทั้งนี้ บรรดานักลงทุนกำลังเดิมพันกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนยังต้องดิ้นรนเพื่อขจัดความท้าทายต่อการเติบโตที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ความเชื่อมั่นที่อ่อนแอไปจนถึงการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าสู่ปีที่ 4 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจีดีพีของจีนในปี 2567 นี้จะขยายตัวได้เพียง 4.6% หรือน้อยลงกว่าในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดของโควิด-19

มิแชล ลัม นักเศรษศาสตร์ด้านจีนของธนาคารโซซิเอเต เจเนราล มองว่า การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ช่วยในแง่การกระตุ้นดีมานด์อย่างชัดเจนมากนัก แต่จะช่วยบรรเทาแรงกดดันหนี้สินจากดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า  

ก่อนหน้านี้ไม่นาน โจว หลัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน ได้ส่งสัญญาณระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนในสัปดาห์นี้ว่า แบงก์ชาติอาจพิจารณาลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงมา เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของแบงก์ในการปล่อยกู้และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น 

ทว่านักเศรษฐศาสตร์บางรายตีความสัญญาณดังกล่าวว่า อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อได้ และจำเป็นต้องใช้ยาแรงขึ้นอย่างการลดดอกเบี้ยมาช่วยอีกทาง 

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของจีนลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 และบรรดาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกันในเดือนที่แล้ว ทำให้หลายฝ่ายมองว่าธนาคารยังสามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาได้โดยไม่กระทบต่อกำไรบริษัท


หวั่นภาวะ 'เงินฝืด' หลังเงินเฟ้อลดลง 3 เดือนติด 

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งถือเป็นการลดลงเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่อเนื่องนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 

"จีนจำเป็นต้องดำเนินการเชิงรุกมากกว่านี้เพื่อทำลายวงจรเงินฝืด ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ตกลงสู่วงจรเชิงลบได้"  "แรงกดดันภาวะเงินฝืดยังคงสูงในจีน เราเห็นบริษัทต่างๆ กำลังลดราคาสินค้า ส่วนแรงงานก็ยอมลดค่าจ้างที่เรียกไปเช่นกัน" เรย์มอนด์ เหยิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของธนาคารเอเอ็นแซด กล่าว 
 

ที่มา: Bloomberg