มูดีส์หั่นแนวโน้มเครดิตเอเชียสู่ 'เชิงลบ' เผย 'จีน' ดึงเศรษฐกิจทั้งภูมิภาค
บริษัทจัดอันดับเครดิต 'มูดีส์' หั่นแนวโน้มเครดิตเอเชีย-แปซิฟิก ลงสู่มุมมองเชิงลบหลังถูกขนาบด้วยสัญญาณร้ายทั้ง จีน-สภาพคล่องตึงตัว-ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ "มูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส" ประกาศหั่นแนวโน้มเครดิตภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ลงสู่มุมมอง "เชิงลบ" จากมุมมองเสถียรภาพในปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยลบหลักๆ มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในจีน การระดมทุนที่คาดว่าจะตึงตัวขึ้น และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายตัวขึ้น
ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างข้อมูลจากมูดีส์ว่า เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ไม่เร็วพอตามที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดหวังไว้ตั้งแต่ต้นปี 2566 และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ที่ผ่านมาก็ขยายตัวได้เพียง 5.2% ซึ่งน้อยกว่าที่ผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์สคาดการณ์ไว้ที่ 5.3%
ก่อนหน้านี้มูดีส์ได้ออกรายงานเกี่ยวกับจีนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีที่แท้จริงของจีนจะขยายตัวได้ 4% ทั้งในปีนี้และปีหน้า จากเดิมที่เคยโตได้เฉลี่ย 6% ระหว่างปี 2557 - 2566 ซึ่งการเติบโตของจีนที่ชะลอตัวลงจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญถึงเศรษฐกิจทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแข็งแกร่งในห่วงโซ่ออุปทานโลก
ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่รายอื่นๆ เช่น โกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะขยายตัวได้ 4.6% จาก 5.2% ในปีที่แล้ว
นอกจากปัจจัยเรื่องจีนแล้ว มูดีส์ยังระบุว่า "สภาวะการระดมทุนที่ตึงตัว" จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่กดดันอันดับความน่าเชื่อถือของเอเชีย-แปซิฟิก
คริสเตียน เดอ กุซมาน รองประธานอาวุโสของมูดีส์กล่าวว่า เนื่องจากเป็นที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ลดดอกเบี้ยไปจนถึงช่วงกลางปีนี้ จึงทำให้คาดการณ์ได้ถึงสภาพคล่องทั่วโลกด้วย และมูดีส์ก็ยังไม่เห็นทิศทางนโยบายของธนาคารกลางในเอเชีย-แปซิฟิก ว่าจะแยกตัวออกมาจากภาวะสภาพคล่องทั่วโลกนี้ได้
รายงานของมูดีส์ยังระบุว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูงในปีนี้จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้" อีกด้วย แม้ว่ามีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะทยอยปรับตัวลดลงก็ตาม ซึ่งจะทำให้ประเทศที่มีอันดับเครดิตในระดับต่ำกว่ายังคงมีปัญหาในการระดมทุนระหว่างประเทศ
กุซมานระบุว่า "ความตึงเครียดทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐ"จะยังคงอยู่ต่อในปีนี้ โดยอ้างรายงานจากเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม 2561 ระบุว่าเนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของหลายประเทศในเอเชีย ขณะที่สหรัฐก็เป็นประเทศส่งออกที่สำคัญเช่นกัน เมื่อความตึงเครียดระหว่างสองประเทศนี้ขยายตัวขึ้น จึงทำให้การรักษาสมดุลเป็นไปได้ยากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม มูดีส์ยังระบุถึง "โอกาส" สำหรับหลายประเทศที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น เช่น อินเดีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งจะสามารถรองรับโอกาสที่บริษัทเอกชนกระจายซัพพลายเชนออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้
ทั้งนี้ยังมีโอกาสที่มูดีส์จะปรับแนวโน้มของภูมิภาคกลับมาสู่ระดับ "มีเสถียรภาพ" อีกครั้ง หากเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกถูกขับเคลื่อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในวงกว้าง บนแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการค้าในภูมิภาค ท่ามกลางสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลง