‘ไทย’ ได้อะไร สหรัฐ - จีน คุยสถานการณ์ตึงเครียดโลก - ตะวันออกกลาง ที่กรุงเทพฯ

‘ไทย’ ได้อะไร สหรัฐ - จีน คุยสถานการณ์ตึงเครียดโลก - ตะวันออกกลาง  ที่กรุงเทพฯ

บนสนามช่วงชิงความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ วันนี้สปอร์ตไลท์ส่องมายังประเทศไทย เป็นสถานที่ที่บุคคลระดับสูงจากสหรัฐและจีน พบปะพูดคุยสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง ให้คลี่คลายกันที่นี่

Key Points : 

  • โลกจับตาผลลัพธ์การพูดคุยของผู้แทนสหรัฐ-จีน ซึ่งถูกมองว่าไม่ใช่วิสัยปกติ แต่เป็นความตั้งใจมาพบกันระหว่างการเยือนประเทศไทย
  • มหาอำนาจทั้งสองกำลังแย่งชิงการแผ่อิทธิพลมายังไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐ ขณะที่จีนได้ขยายอำนาจทางการทูตและเศรษฐกิจไปทั่วโลก รวมถึงไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้
  • สปอร์ตไลท์โลกจับมายังไทย ตอกย้ำถึงบทบาทระหว่างประเทศ และยังสะท้อนความสัมพันธ์ที่ดีต่อสหรัฐและจีน
  • ซิลลิแวนกับหวังอี้ ใช้ไทย เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศ และภูมิภาคที่น่ากังวลร่วมกัน โดยเฉพาะระบบการขนส่งสินค้าโลกกำลังได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดในทะเลแดง ที่ทำให้การค้าโลกผันผวน

 

ประเทศไทยรับคณะใหญ่ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสองประเทศมหาอำนาจ และกรุงเทพฯ กำลังเป็นห้องรับแขก สำหรับบุคคลที่มีความใกล้ชิดผู้นำสหรัฐและจีน มาพบปะหารือเรื่องความมั่นคง ในสถานการณ์ภูมิภาคที่ทวีความร้อนแรง หวังบรรเทาความตึงเครียดให้คลี่คลายกันที่นี่ 

แถลงการณ์สหรัฐและจีนระบุว่า “เจค ซัลลิแวน” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงสหรัฐ หนึ่งในผู้ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และมีความใกล้ชิดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเดียวกับ “หวัง อี้” สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีต่างประเทศจีน โดยทั้งสองจะพบปะหารือกัน ซึ่งเป็นการแยกออกจากการทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทย

เรดาร์จับ "ไทย" กลางภูมิรัฐศาสตร์

แน่นอนว่า โลกจับตาผลลัพธ์การพูดคุยของผู้แทนสหรัฐ-จีน ซึ่งถูกมองว่าไม่ใช่วิสัยปกติ แต่เป็นความตั้งใจมาพบกันระหว่างการเยือนประเทศไทย

แล้วเหนือสิ่งอื่นใด ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการพบปะกันของบุคคลระดับสูงครั้งนี้ ซึ่งอดีตนักการทูตที่ได้รับการยอมรับในวงการระหว่างประเทศ มองว่า จะช่วยผลักดันบทบาทไทยให้โดดเด่นขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของวอชิงตันและปักกิ่ง

แม้อีกมุมหนึ่งจะเห็นว่า มหาอำนาจทั้งสองกำลังแย่งชิงการแผ่อิทธิพลมายังไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐ ขณะที่จีนได้ขยายอำนาจทางการทูตและเศรษฐกิจไปทั่วโลก รวมถึงไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้

วัดเครดิตทางการทูต

ขณะเดียวกัน การเยือนไทยของบุคคลระดับสูงจากประเทศต่างๆ ปกติไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ยิ่งครั้งนี้เป็นสหรัฐและจีน ต้องอาศัย "ความสัมพันธ์ระดับดีเยี่ยม  และความไว้เนื้อเชื่อใจสูงต่อกัน"

การเดินทางมากรุงเทพฯ ของซัลลิแวนกับหวัง อี้ ในช่วงเวลาที่เลื่อมซ้อนกัน ทำให้สปอร์ตไลท์โลกจับมายังไทย ตอกย้ำถึงบทบาทระหว่างประเทศ และยังสะท้อนให้เห็นการเมืองไทยมีพัฒนาการ และสัมพันธ์ที่ดีต่อสหรัฐและจีน ท่ามกลางความท้าทายไทย ในการรักษาสมดุลกับมหาอำนาจโลก

นอกเหนือจากประเด็นที่ตื่นเต้นไปกับการพบปะดังกล่าว มีความจริงที่สุดซ้อนอยู่คือ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตไทย ที่กรุงปักกิ่ง และสถานเอกอัครราชทูตไทย ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ต้องทำงานกันหนัก มือประสานสิบทิศ และวางแผนอย่างมีขั้นตอน ให้การเยือนทั้งสองเกิดขึ้นที่ประเทศไทย และได้พบปะกับผู้นำไทยได้สำเร็จ 

“เป็นที่รู้กันดี หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กำหนดยุทธศาสตร์ เดินเกมเปิดหน้าอย่างชัดเจน หวังผลักดันประเทศตนเอง เป็นแกนหลัก และโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์” อดีตนักการทูตบอก   

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังทำงานหนักมาก เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการต่างประเทศที่จับต้องได้ เช่น ข้อตกลงฟรีวีซ่าจีน ต้องเจรจาอย่างมีชั้นเชิงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทย แลกกับสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ที่จะได้รับตามมา ซึ่งฟรีวีซ่าถาวรไทย-จีน เป็นผลเริ่มทางการ 1 มี.ค.นี้  

สางปัญหา กระทบขนส่งโลก

"หวัง เหวินปิน" โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ยืนยันในการแถลงข่าวที่ปักกิ่งว่า “หวัง อี้วางแผนจะพบกับซัลลิแวน” และจะทำให้จุดยืนจีนที่มีต่อสหรัฐชัดเจนขึ้น ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ประเด็นไต้หวัน โดยเฉพาะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาค ที่น่าห่วงกังวลร่วมกัน

ระบบการขนส่งสินค้าโลกกำลังได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐ-จีนมีความ​กังวลอย่างยิ่ง จากความตึงเครียดในทะเลแดง ที่ทำให้การค้าโลกผันผวน และต้องมีการบังคับให้บริษัทขนส่งสินค้าจำนวนมาก หลีกเลี่ยงคลองสุเอซ

“จีนอยู่ระหว่างการติดต่อสื่อสารกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และพยายามเชิงบวก เพื่อลดความรุนแรงจากความขัดแย้งที่มีขึ้น ระหว่างกลุ่มกบฏฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งได้สุ่มโจมตีเรือขนส่งระหว่างประเทศด้วยขีปนาวุธ” เหวินปิน กล่าวเมื่อวันพุธ (24 ม.ค.)

มีรายงานเชิงลึกว่า วอชิงตันพยายามให้ปักกิ่งใช้ความสัมพันธ์และอิทธิพลของประเทศตนเองเพื่อพูดคุยกับอิหร่าน ให้จัดการกับการโจมตีของกบฏฮูตีในทะเลแดง

ที่สำคัญ การพบปะกันระหว่างหวังอี้กับซัลลิแวน เกิดขึ้นไม่กี่วัน หลังจากนักการทูตอาวุโสของจีนท่านหนึ่ง ได้เดินทางไปยังเกาหลีเหนือ โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานด้วยว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน จะเยือนกรุงเปียงยาง เพื่อพบปะกับผู้นำคิม จิง อึน ในเร็วๆนี้

มหาอำนาจถก ศก. - ภูมิรัฐศาสตร์

“เอเดรียน วัตสัน” โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า เป็นการประชุมตามแผนของพวกเขา หวังสานต่อความมุ่งมั่นทั้งสองฝ่าย ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พบกันเมื่อเดือน พ.ย.2566 เพื่อรักษา “การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ และจัดการความสัมพันธ์อย่างมีความรับผิดชอบ”

หากแต่การประชุมสุดยอดครั้งนั้นถูกมองว่า เป็นความพยายามที่จะแก้ไขความสัมพันธ์ หลังมีพูดจากระทบกระทั้งในประเด็นเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์หลายต่อหลายครั้ง

หากดูกำหนดการเยือนไทยของซิลลิแวน จะสิ้นสุดในวันเสาร์ (27 ม.ค.) หลังเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และประชุมทวิภาคีกับปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ

ไทยคุยสหรัฐ แก้วิกฤติเมียนมา

แถลงการณ์ไทยระบุว่า การพบปะหารือระหว่างไทย-สหรัฐ ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นต่อความเป็นพันธมิตร ตามสนธิสัญญาที่มีมาอย่างยาวนาน บนคุณค่าร่วมกันของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์

นอกจากนี้ การเจรจายังครอบคลุมถึง “แนวทางในการเสริมสร้างความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคในสาขาต่างๆ ที่หลากหลาย” อีกทั้งยังได้แสดงความเห็นต่อวิกฤติระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศ เช่น เมียนมา ยูเครน และตะวันออกลาง

ส่วนการเยือนไทยของหวัง อี้ จะลงนามข้อตกลงคนไทยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศ ที่มีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 28 ม.ค.  ต่อจากนั้นในวันจันทร์ (29 ม.ค.) จะพบกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา

นี่เป็นภาพรวมที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงถึงบทบาทการทูตไทยว่า มีความก้าวหน้า และโดดเด่นชัดเจนขึ้นหรือไม่ 

ที่มา : AP , Reuters