จีนนำเข้าทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ชนชั้นกลางใช้เสริมความมั่งคั่ง

จีนนำเข้าทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ชนชั้นกลางใช้เสริมความมั่งคั่ง

"จีน" นำเข้าทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 ทำให้ คนชนชั้นกลางในประเทศเลือกซื้อ "ทองคำ" เพื่อเสริมความมั่งคั่ง และเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงในวิกฤติ ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ปัญหารุมเร้า ทั้งวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นที่ตกต่ำ และเงินหยวนอ่อนค่า

Keypoint:

  • จีนนำเข้าทองคำพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์  1,447 ตัน  มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 9 เท่าในปี 2566
  • ชนชั้นกลางของจีน ซื้อ "ทองคำ" เพราะต้องการแสวงหาความมั่นคงทางความมั่งคั่ง จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้นที่ตกต่ำ และเงินหยวนอ่อนค่า
  • คาดในปีนี้แนวโน้มการนำเข้าทองคำในจีนจะลดลง หลังรัฐบาลเข้ามาช่วยบรรเทาวิกฤติเศรษฐกิจ

ในปี 2566 ความต้องการซื้อ"ทองคำ" ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากนักลงทุนพยายามหาสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง และความวิตกกังวลในตลาดหุ้น

การนำเข้าทองคำเพื่อการใช้ที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงเครื่องประดับทองคำ เพิ่มขึ้นเป็น 1,447 ตันในปีที่แล้ว ทำลายสถิติสูงสุดเดิมที่ 1,427 ตันในปี 2561 ตามข้อมูลของกรมศุลกากร

ตัวเลขการนำเข้าของน้ำหนักดังกล่าวเพิ่มขึ้น 7 เท่าจากปี 2563 ซึ่งมีมูลค่าราวๆ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 9 เท่าจาก 3 ปีที่แล้ว

ส่วนยอดขายภายในประเทศในจีนสูงถึง 1,090 ตันในปี 2566 โดยการบริโภคเครื่องประดับทองเพิ่มขึ้น 7.97% เมื่อเทียบกับปี 2565 ส่วนการซื้อทองคำแท่ง และเหรียญกษาปณ์เพิ่มขึ้น 15.7% ตามข้อมูลของสมาคมทองคำของจีน 

เพราะการเข้าถึงสินทรัพย์ในต่างประเทศมีขอบเขตจำกัด ทำให้ชนชั้นกลางของจีนจึงพยายามรักษาความมั่งคั่งของตน ซึ่งมีหนทางลดน้อยลงท่ามกลางตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำ

“การเผชิญกับภาวะตกต่ำของอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น ความไม่มั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก และอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนของจีนที่ร่วงลง ทำให้การซื้อทองคำในปัจจุบันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับชาวจีนในการรักษาความมั่งคั่งของพวกเขา”

เผิง เปง ( Peng Peng) ประธานบริหารของ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลกวางตุ้ง

เผิง คาดการณ์ว่ากระแสการซื้อทองคำน่าจะลดลงในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นกำลังออกนโยบายที่เป็นแนวโน้มเชิงบวกให้กับตลาด ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนก็แสดงสัญญาณที่จะกลับมาดีขึ้น

ตลาดหุ้นจีนเผชิญกับการถูกเทขายอย่างยาวนานในปีที่ผ่านมา ทั้งต้องต่อสู้กับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ลดลง ส่งผลให้ดัชนีมาตรฐาน CSI 300 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีในสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังจากตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง เคยเข้าสู่ปีทองในปี 2564 นับตั้งแต่นั้นมามูลค่าหลักทรัพย์ของตลาดสูญเสียไปกว่า 6.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อ้างอิง scmp
พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์