เจาะลึก 'เอเวอร์แกรนด์' ถูกสั่งเลิกกิจการ จะเกิดอะไรขึ้นต่อกับอสังหาฯ จีน
ในที่สุด ศาลสูงของฮ่องกงก็มีคำสั่งให้เลิกกิจการ ต่อบริษัท "ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป" ในวันนี้ แต่คำสั่งครั้งนี้หมายความว่าอย่างไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อทั้งเอเวอร์แกรนด์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีน
หลังจากที่เลื่อนคำตัดสินมาแล้วหลายครั้ง ในที่สุด ศาลสูงของฮ่องกงก็มีคำพิพากษาให้เลิกกิจการ (Liquidation) ต่อบริษัท "ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป" ในวันนี้ (29 ม.ค.67) ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเบอร์ 1 ในจีน
แต่คำสั่งเลิกกิจการครั้งนี้หมายความว่าอย่างไร และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อทั้งเอเวอร์แกรนด์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีน สามารถหาคำตอบได้จาก 9 ประเด็นที่ต้องรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับการล้มของเอเวอร์แกรนด์ ดังนี้
1. เอเวอร์แกรนด์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ถูกก่อตั้งขึ้นโดยฮุย กา ยัน ในปี 1996 บริษัทมีโมเดลการเติบโตแบบ "กู้เพื่อโต" หรือเน้นการลุยออกตราสารหนี้ทั้งใน และต่างประเทศเพื่อขยายการเติบโตของบริษัท จนในที่สุดเอเวอร์แกรนด์ก็กลายเป็นบริษัทที่มียอดขายสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในจีน และพ่วงด้วยการเป็นอสังหาฯ ที่มีหนี้สกุลดอลลาร์สูงที่สุดในประเทศอีกด้วย
บริษัทเริ่มประสบปัญหาหนี้ในปี 2020 หลังจากที่รัฐบาลปรับนโยบายเริ่มควบคุมการก่อหนี้ที่มากเกินไปในภาคอสังหาฯ สุดท้ายเอเวอร์แกรนด์ก็เข้าสู่การผิดนัดชำระหนี้ในเดือนธ.ค.2021 ทำให้บริษัทต้องเริ่มการเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อฟื้นฟูกิจการนับจากนั้นมา และยังนำไปสู่โดมิโนการพังทลายของภาคอสังหาฯ จีนตามมาด้วย
แม้คนทั่วไปจะรับรู้ว่าเอเวอร์แกรนด์กำลังอยู่ระหว่างพยายามฟื้นฟูกิจการ แต่ในบรรดานักลงทุนหรือเจ้าหนี้ก็มีรายหนึ่งที่ยื่นฟ้องต่อศาลฮ่องกง ในเดือนมิ.ย.2022 ขอให้ศาลสั่งเลิกกิจการ (Liquidation) เพื่อขายทอดทรัพย์สินนำเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้ด้วย ศาลฮ่องกงได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาในคดีนี้มาแล้วหลายครั้งเพื่อต่อลมหายใจให้เอเวอร์แกรนด์มีเวลายื่นแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ความพยายามกลับสะดุดลงในเดือนก.ย. ปีที่แล้วเมื่อ ฮุย กา ยัน ผู้ก่อตั้งถูกตำรวจจีนควบคุมตัวฐานต้องสงสัยก่ออาชญากรรม จนศาลสูงฮ่องกงมีคำตัดสินให้บริษัทเลิกกิจการ ในวันที่ 29 ม.ค.67
2. จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
ตามกระบวนการของการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ ศาลจะแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี (liquidator) เพื่อทำหน้าที่จัดการขายทรัพย์สินของบริษัทเพื่อนำมาใช้หนี้
แต่ปัญหาในระยะยาวกับเคสของเอเวอร์แกรนด์ก็คือ จะแบ่งทรัพย์สินมาใช้หนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ในเมื่อมีสัดส่วนของหนี้สินถึง 2.39 ล้านล้านหยวน (ราว 12 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่ 1.74 ล้านล้านหยวน (ราว 8.75 ล้านล้านบาท) และส่วนใหญ่อยู่ในตลาดจีน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามูลค่าสินทรัพย์ในตลาดอสังหาฯ จีนนั้นดิ่งลงอย่างฮวบฮาบ
3. คำสั่งเลิกกิจการ มีความหมายต่อเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้อย่างไร
ยังต้องติดตามดูต่อไปว่า คำสั่งของศาลสูงฮ่องกงให้เลิกกิจการจะได้รับการยอมรับใน "จีน" มากน้อยแค่ไหน เพราะโปรเจกต์ส่วนใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์ตั้งอยู่ในจีน และดำเนินการโดยบริษัทลูกในจีน ซึ่งอาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ชำระบัญชีต่างแดนที่จะเข้ามายึด และขายทอดทรัพย์สินในจีน นอกจากนี้ ยังเป็นความท้าทายในเรื่องโครงการก่อสร้างที่กำลังดำเนินอยู่ การส่งมอบบ้าน และกิจกรรมต่างๆ ในจีน ในขณะที่กระบวนการเลิกกิจการกำลังดำเนินอยู่
ส่วนการขายหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ก็ดูจะเป็นความหวังที่เลือนรางแม้แต่ก่อนที่จะมีคำสั่งเลิกกิจการด้วยซ้ำ เนื่องจากข้อมูลของบลูมเบิร์กพบว่า หุ้นกู้สกุลดอลลาร์ส่วนใหญ่มีมูลค่าการซื้อขายลดลงเหลือเพียง 1.5 เซนต์ต่อดอลลาร์ เท่านั้น ในขณะที่บริษัทของเอเวอร์แกรนด์ 2 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดฮ่องกง ก็มีมาร์เก็ตแคปร่วงลงหนักถึง 80% นับตั้งแต่มีการยื่นฟ้องต่อศาล
แม้ว่าศาลสูงฮ่องกงจะยังเปิดช่องทางให้เอเวอร์แกรนด์สามารถยื่นแผนฟื้นฟูต่อได้ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่เจ้าหนี้ซึ่งโกรธแค้นอยู่จะยอมเจรจาหรือรับแผนฟื้นฟูหลังจากนี้ โดยเฟอร์กัส ซอริน หุ้นส่วนของบริษัทกฎหมายเคิร์กแลนด์ แอนด์ เอลลิส ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ตัวแทนเจ้าหนี้กลุ่มหนึ่งกล่าวว่า เอเวอร์แกรนด์ล้มเหลวในการเข้ามาคุยกับเจ้าหนี้ และก็เป็นเพราะบริษัทที่ทำตัวเองจนมาถึงจุดที่ต้องเลิกกิจการ
4. ตลาดมีปฏิกิริยาต่อรื่องนี้อย่างไร
ราคาหุ้นร่วงลงหนักถึง 21% เหลือเพียง 16 เซนต์ฮ่องกง ในระหว่างการซื้อขายวันนี้ (29 ม.ค.67) จนตลาดต้องมีคำสั่งระงับการซื้อขายหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ และทำให้มาร์เก็ตแคปของบริษัทเหลือเพียง 2.15 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง จากที่เคยพีกสุดถึง 4.14 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในปี 2017
บลูมเบิร์กระบุว่าปฏิกิริยาในภาพรวมค่อนข้างเงียบ ไม่ได้เกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาด บ่งชี้ว่านักลงทุนคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าศาลจะมีคำสั่งเลิกกิจการออกมา แต่ถึงอย่างนั้นหุ้นบริษัทอสังหาฯ จีนก็ปรับตัวลงถึง 1.4% ในการซื้อขายวันนี้
5. คำสั่งเลิกกิจการจะทำให้เกิด 'โดมิโน' ในตลาดหรือไม่
หากเทียบกับเมื่อครั้งที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) การเบี้ยวหนี้ของเอเวอร์แกรนด์เคยทำให้เกิดโดมิโนมาแล้ว เมื่อวิกฤตการณ์ความเชื่อมั่นจากเจ้าตลาดทำให้บริษัทอสังหาฯ รายอื่นๆ ผิดนัดชำระหนี้ไปตามๆ กันด้วย และปัจจุบันก็มีบริษัทอสังหาฯ จำนวนมากที่ถูกเจ้าหนี้ฟ้องขอให้มีคำสั่งเลิกกิจการ ซึ่งรวมถึงบริษัทขนาดกลางอย่าง โลแกน กรุ๊ป และไคซา กรุ๊ป โฮลดิงส์ ดังนั้นจึงยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่จริงแล้วก่อนมีคำตัดสินของเอเวอร์แกรนด์ ศาลสูงฮ่องกงก็มีคำตัดสินให้เลิกกิจการต่อบริษัทอสังหาฯ จีนไปแล้วอย่างน้อย 3 ราย นับตั้งแต่วิกฤตการณ์เริ่มขึ้นในปี 2021 เพียงแต่ไม่มีรายใดเลยที่ใหญ่เทียบเคียงกับเอเวอร์แกรนด์ได้ ทั้งในแง่สินทรัพย์ ความซับซ้อนของคดี และจำนวนผู้ถือหุ้น
6. คำสั่งศาลครั้งนี้จะส่งผลต่อตลาดอสังหาฯ จีน อย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นข่าวลบใดๆ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อบ้านในจีนที่เจ็บช้ำมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว หลังเกิดวิกฤติขึ้นชาวจีนก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะซื้อบ้านใหม่บริษัทพัฒนาอสังหาฯ เอกชน จากความกังวลว่าซื้อบ้านแต่อาจไม่ได้บ้าน ส่วนราคาขายบ้าน และมูลค่าตลาดก็ยังร่วงลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อช่วยบริษัทอสังหาฯ ในด้านการเงิน และทำให้ประชาชนซื้อบ้านง่ายขึ้นแล้วก็ตาม
คริสตี ฮุง นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ มองว่าคำสั่งเลิกกิจการครั้งนี้เป็นเหมือนการปฏิเสธความพยายามทางนโยบายที่ผ่านๆ มาของจีน
7. จะเกิดอะไรขึ้นกับประธานบริษัท ฮุย กา ยัน
อีกหนึ่งเรื่องที่ยังเป็นปริศนาอยู่สำหรับกรณีของเอเวอร์แกรนด์ก็คือ ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของ ฮุย กา ยัน (Hui Ka Yan) หลังจากที่ถูกตำรวจจีนควบคุมตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ขณะที่ศาลสูงฮ่องกงระบุว่าคำสั่งเลิกกิจการในวันนี้ยังช่วยไขปมได้อีกหนึ่งปมว่า ผู้ก่อตั้งเอเวอร์แกรนด์เหลือสินทรัพย์ในมืออยู่เท่าไร หลังจากที่เคยมั่งคั่งถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2017
8. ทำไมรัฐบาลจีนถึงไม่อุ้ม
ทางการจีนเริ่มเปลี่ยนแผนหันมาควบคุมภาคอสังหาฯ อย่างเข้มงวด ตามทิศทางนโยบาย "3 Red Lines" ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อปี 2020 ที่มีหัวใจสำคัญว่า "บ้านมีไว้เพื่ออยู่ ไม่ได้มีไว้ให้เก็งกำไร" ซึ่งแนวทางนี้ก็ยังคงดำเนินอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายความเข้มงวดลงในบางจุดแล้วก็ตาม
สีต้องการให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมาจากพื้นฐานที่ยั่งยืน เช่น ภาคการผลิตและการบริการ ไม่ใช่การอัดฉีดเหล็ก และคอนกรีตอย่างไม่สิ้นสุดเข้าไปในภาคอสังหาฯ และรัฐบาลก็ยังแทบไม่สนใจเรื่องการช่วยนักลงทุนต่างชาติที่เสียหายจากหุ้นกู้ผลตอบแทนสูงในจีนด้วย
9. เอเวอร์แกรนด์มีท่าทีต่อคำสั่งศาลล่าสุด อย่างไร
ฌอน ซิว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเอเวอร์แกรนด์ ระบุว่า บริษัทจะสื่อสารอย่างแข็งขันกับผู้ชำระบัญชี และประสานงานในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่เป็นไปได้แล้ว และขออภัยเกี่ยวกับคำสั่งเพิกถอนกิจการดังกล่าว แต่ซีอีโอของเอเวอร์แกรนด์ไม่ได้ระบุว่าจะยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้หรือไม่
ซิวกล่าวด้วยว่า "คำสั่งเลิกกิจการเป็นบริษัทเอเวอร์แกรนด์ที่จดทะเบียนในฮ่องกง ในขณะที่การจัดการและการดำเนินงานของบริษัทอื่นๆ ในเครือยังคงไม่เปลี่ยนแปลง" บริษัทจะพยายามสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพของการดำเนินงานในจีน รวมถึงผลักดันการส่งมอบบ้านต่อไป
ที่มา: Bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์