อีซีบีส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย หลังปัญหาเงินเฟ้อเริ่มบรรเทา
'คริสติน ลาการ์ด' ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันอังคาร (30 ม.ค.) ว่า ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบีเห็นพ้องต้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะเป็นการลดดอกเบี้ย
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อีซีบี ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาตรฐานไว้ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 จากที่ก่อนหน้านี้อีซีบีปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุ
การคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังคงอยู่ที่ระดับ 4.00% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.75% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.50%
ก่อนหน้านี้ อีซีบี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกันรวม 4.5% หลังจากที่ได้เริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนที่พุ่งสูงเกิน 10% ในปีที่แล้ว ลดลงจนใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายระยะกลาง 2% ของอีซีบีในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนธ.ค.สู่ระดับ 2.9% ต่อปี
อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์ในวงกว้าง โดยสาเหตุหลักมาจากผลของการเปรียบเทียบกับปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลต่าง ๆ ในยุโรปให้การสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนต่าง ๆ หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครนจนส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรากำลังอยู่ในช่วงภาวะเงินเฟ้อคลายตัว แต่เราจำเป็นต้องเห็นความคืบหน้าเพิ่มเติมก่อนเพื่อให้แน่ใจ” ลาการ์ด กล่าว
ด้านสำนักงานสถิติยูโรสแตท เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา “ไม่มีการเติบโต” หรือขยายตัวได้ 0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ซึ่งพลาดเป้าจากที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะเติบโตได้ 0.5%
อย่างไรก็ดี การไม่เติบโตกลับถือเป็นข่าวดีสำหรับยูโรโซนที่เผชิญเศรษฐกิจติดลบไป 0.1% เมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เนื่องจากหากเศรษฐกิจติดลบสองไตรมาสติดต่อกันจะเข้าข่ายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย
“ยูโรโซนสามารถรอดพ้นจากภาวะถดถอยในเชิงเทคนิคมาได้อย่างหวุดหวิด” เบิร์ท โคลิจิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารไอเอ็นจี กล่าวกับซีเอ็นบีซี และระบุว่านับตั้งแต่พ้นช่วงการเติบโตหลังโควิด-19 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของยูโรโซนก็อ่อนแอและชะงักงันมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศสมาชิกยูโรโซนที่ใช้ค่าเงินยูโรและนโยบายทางการเงินร่วมกันนั้น กลุ่มประเทศที่เติบโตดีที่สุดได้แก่ โปรตุเกส ที่เติบโต 0.8% เมื่อเทียบไตรมาสที่แล้ว สเปนเติบโต 0.6% และเบลเยี่ยมกับลัตเวียเติบโต 0.4%
ขณะที่ไอร์แลนด์ติดลบ 0.7% และ “เยอรมนี” ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มยูโรโซนติดลบ 0.3% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ในโพลของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้
สำหรับจีดีพีทั้งปี 2566 ของเยอรมนีหดตัว 0.3% เนื่องจากเผชิญภาวะเงินเฟ้อต่อเนื่อง ราคาน้ำมันสูง และอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอ
ขณะที่ไอเอฟโอ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีคาดการณ์ว่า จีดีพีของเยอรมนีในไตรมาสแรกของปี 2567 จะหดตัว 0.2% ซึ่งจะทำให้เยอรมนีเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา เกษตรกรชาวเยอรมันเปิดฉากประท้วงทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการตัดเงินอุดหนุนของรัฐบาล โดยใช้รถแทรกเตอร์ปิดกั้นถนนสายต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนี ในขณะที่พยายามแก้ปัญหาด้านงบประมาณและควบคุมกลุ่มขวาจัดที่มีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประท้วงครั้งนี้กดดันให้รัฐบาลที่ไม่ได้รับความนิยมของนายกฯโชลซ์ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบควบคู่ไปกับการยึดมั่นต่อกฎระเบียบทางการคลัง หลังข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี ได้ทำลายแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลเยอรมนี