ครบรอบ 20 ปี ก่อตั้ง 'เฟซบุ๊ก' กับ 4 เรื่องที่แพลตฟอร์มนี้เปลี่ยนโลก
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 หรือวันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นวันแรกที่ "มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" และเพื่อนก่อตั้งโซเชียลมีเดียที่ชื่อว่า "เฟซบุ๊ก" ขึ้นมาขณะกำลังเป็นนักศึกษาวัยเพียง 20 ปี ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ซักเคอร์เบิร์ก เป็นคนแรกที่มีบัญชีเฟซบุ๊กด้วยไอดีหมายเลข 4 (หมายเลข 1-3 เป็นบัญชีทดลองของเขาเอง) และปัจจุบันเพื่อนๆ ในฮาร์วาร์ดหลายคนก็ยังมีชื่อเป็น 1 ใน 10 บัญชีแรกของเฟซบุ๊กอยู่ แต่ผู้ร่วมก่อตั้งหลายคนไม่ได้อยู่กับเฟซบุ๊กอีกต่อไปแล้ว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ภายในบริษัท แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกโลกที่ทำให้ยุคสมัยของการสื่อสารไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
จากเว็บไซต์ในรั้วมหาวิทยาลัยที่รันบนเซิร์ฟเวอร์ตัวเดียวและใช้เงินทำเว็บเดือนละ 85 ดอลลาร์ ปัจจุบันเฟซบุ๊กได้กลายเป็นบริษัทโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก และมีมูลค่าตลาดทะลุหลัก 1 ล้านล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว
และแม้ว่าจะเพิ่งถูกเรียกเข้าชี้แจงในรัฐสภาสหรัฐกรณีที่โซเชียลมีเดียอาจเป็นอันตรายต่อเด็กๆ ถึงขั้นที่ผู้ปกครองกล่าวโจมตีขึ้นพาดหัวข่าวว่า เฟซบุ๊กมือเปื้อนเลือด แต่วันถัดมาตลาดกลับตบรางวัลให้เฟซบุ๊กด้วยราคาหุ้นที่พุ่งถึง 14% จากผลประกอบการที่ยอดเยี่ยมจนมีปันผลเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี จนทำให้ซักเคอร์เบิร์กรวยหุ้นเพิ่มขึ้น 700 ล้านดอลลาร์ และเป็นอีกหนึ่งครั้งที่สะท้อนว่าเฟซบุ๊กฝ่ามรสุมมาได้ทุกครั้ง
สำนักข่าวบีบีซีได้รายงานถึง 4 ความเปลี่ยนแปลงที่เฟซบุ๊กพลิกโลกไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดังนี้
1. เปลี่ยนเกมวงการโซเชียล
ก่อนที่เฟซบุ๊กจะเปิดตัวออกมาในปี 2547 วงการโซเชียลมีเดียเองมีเจ้าตลาดอยู่แล้วในขณะนั้น นำโดย "มายสเปซ" แต่ภายในเวลาแค่ 1 ปีหลังเฟซบุ๊กเปิดตัวก็สามารถเพิ่มบัญชีผู้ใช้งานได้ถึง 1 ล้านคน ก่อนจะสามารถเอาชนะมายสเปซไปได้ในเวลา 4 ปี จากการผุดนวัตกรรมต่างๆ ออกมา เช่น การใช้ "แท็ก" กับรูปภาพ ซึ่งสอดรับกับยุคของกล้องดิจิทัลที่ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมไปอย่างรวดเร็ว
ภายในปี 2555 หรือไม่ถึง 10 ปี เฟซบุ๊กก็มีสมาชิกแตะหลัก 1 พันล้านคนต่อเดือน ซึ่งแม้ว่ายอดผู้ใช้จะเริ่มลดลงเป็นครั้งแรกในปี 2564 แต่บริษัทก็ยังเติบโตต่อจน ณ สิ้นปี 2566 บริษัทก็มียอดผู้ใช้งานรายวันถึง 2.1 พันล้านคน
แม้ว่าเฟซบุ๊กในวันนี้จะไม่สามารถดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นได้เหมือนเมื่อครั้งอดีตและเป็นที่นิยมน้อยลงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิมที่สุดในโลก และได้เปิดศักราชใหม่ของกิจกรรมโซเชียลออนไลน์ บางคนอาจมองว่าเฟซบุ๊กและคู่แข่งเป็นเครื่องมือเสริมศักยภาพในการเชื่อมต่อ แต่บางคนก็มองอีกด้านว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสารเสพติดแห่งการทำลายล้าง
2. เฟซบุ๊กทำให้โลกรู้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลมีค่าและขายได้
เฟซบุ๊กทำให้เราได้ตระหนักว่าการกดปุ่มไลก์และดิสไลก์ของแต่ละคน เป็นข้อมูลที่มีราคาอย่างยิ่ง
ทุกวันนี้ "เมตา" (Meta) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กยังมีฐานะเป็นบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ร่วมกับ "กูเกิล" (Google) ในฐานะสองบริษัทที่ครองส่วนแบ่งโฆษณาออนไลน์ในโลกมากที่สุด เมตาเพิ่งประกาศรายได้ในไตรมาส 4/2566 ไปมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยรายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากโฆษณาแบบมุ่งเป้าหมาย ทำให้บริษัทมีกำไรราว 1.4 หมื่นล้านบาท
แต่การทำเงินจากข้อมูลนี้ก็แลกมาด้วยบาดแผลไม่น้อย เฟซบุ๊กเคยถูกฟ้องหลายครั้งในเรื่องการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไม่เหมาะสม เคสที่โด่งดังมากที่สุดก็คือกรณีเกี่ยวกับบริษัท เคมบริดจ์ อนาไลติกา เมื่อปี 2557 ที่ทำให้เฟซบุ๊กต้องจ่ายค่ายอมความครั้งใหญ่ถึง 725 ล้านดอลลาร์ เคสที่ถูกสหภาพยุโรป (อียู) ปรับอีก 265 ล้านยูโร ในปี 2565 และเคสในยุโรปอีก 1,200 ล้านยูโร เมื่อปีที่แล้ว
3. เฟซบุ๊กทำให้โซเชียลเป็นเรื่องการเมือง
การมีโฆษณาแบบเจาะจงเป้าหมายทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นแพลตฟอร์มใหญ่สำหรับการเลือกตั้งทั่วโลกไปด้วย เช่น ในช่วง 5 เดือนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2563 ทีมหาเสียงของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ซื้อโฆษณากับเฟซบุ๊กไปถึงกว่า 40 ล้านดอลลาร์มาแล้วจากข้อมูลโดยสตาติสตา
เฟซบุ๊กยังกลายเป็นพลังที่ช่วยเปลี่ยนแปลงการเมืองรากหญ้า โดยเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนกลุ่มต่างๆ มีพื้นที่สามารถรวมตัวกัน ทำแคมเปญรณรงค์ และสามารถวางแผนดำเนินงานในสเกลระดับโลกได้ โดยเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ถือเป็นครื่องมือทรงพลังที่มีบทบาทอย่างมากต่อการลุกฮือ "อาหรับสปริง" ในแง่ของการประสานและกระจายข่าวให้โลกภายนอกได้รับรู้
ทว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้าน การใช้เฟซบุ๊กในเชิงการเมืองมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลที่ตามมาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ในปี 2561 ที่เฟซบุ๊กล้มเหลวในการป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือกระจายข่าวลวง สร้างความเกลียดชัง และก่อความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา
4. เฟซบุ๊กทำให้เกิดยุคของการครอบงำโดยเมตา
ด้วยความสำเร็จครั้งใหญ่ของเฟซบุ๊ก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้สร้างเครือข่ายโซเชียลและอาณาจักรเทคโนโลยีที่ไม่มีใครเทียบได้ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้และอำนาจในมือ
บริษัทดาวรุ่งทั้งหลายตั้งแต่ วอทซ์แอป ไปจนถึงอิสตาแกรม และโอคุลุส ต่างถูกซื้อไปอยู่ใต้ร่มธงเฟซบุ๊กที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นเมตา ในปี 2561 ทำให้ปัจจุบันมีคนมากกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลกที่ใช้ผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 1 อย่างของเมตาในแต่ละวัน
หากซื้อไม่ได้ เมตาก็จะใช้กลยุทธ์ "ก๊อปปี้" เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดมา เช่น "สตอรีส์" ที่คล้ายกับของค่าย "สแนปแชท" หรือ "รีล" ที่งัดขึ้นมาแข่งกับ "ติ๊กต็อก" และ "เธรดส์" ที่ขึ้นมาสู้กับทวิตเตอร์หรือเอ็กซ์
ขณะที่ "กลยุทธ์" ยังกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ในปี 2565 เมตาถูกบังคับให้ขาย Giphy ซึ่งเป็นผู้สร้าง GIF ในราคาขาดทุนหลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักรปิดกั้นไม่ให้เมตาเป็นเจ้าของบริการนี้ เนื่องจากกลัวว่าจะมีการครอบงำตลาดมากเกินไป
ที่มา: BBC